วันอาทิตย์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

โจเซฟ พริสต์ลีย์ : Joseph Priestly

โจเซฟ พริสต์ลีย์ : Joseph Priestly

เกิด วันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 1738 เมืองลีดส์ (Leeds) รัฐยอร์คไชร์ (Yorkshire) ประเทศอังกฤษ (England)

เสียชีวิต วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1804 ที่มลรัฐเพนน์ซิลวาเนีย (Pennsylvania) ประเทศสหรัฐอเมริกา (United State of America)

ผลงาน
- ค้นพบก๊าซออกซิเจน (Oxygen)
- ค้นพบก๊าซไนตริกออกไซด์ (Nitric oxide)
- ค้นพบก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (Nitrogen dioxide)
- ค้นพบก๊าซไนตรัส (Nitrous air)
- ค้นพบก๊าซไฮโดรเจนคลอไรด์ (Hydrogen chloride)
- ค้นพบก๊าซแอมโมเนีย (Ammonia)
- ค้นพบก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Sulfur dioxide)
- ค้นพบก๊าซซิลิคอนไฮโดรฟลูออริก (Silicon hydrofluoric)
- ค้นพบก๊าซไนโตรเจน (Nitrogen air)
- ค้นพบก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon monoxide)

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นช่วงที่วิชาเคมีมีความเจริญมากที่สุดก็ว่าได้ มีนักเคมีที่มีชื่อเสียงหลายท่าน เช่น เฮนรี่ คาเวนดิช (Henry Cavendish) อังตวน ลอเรนต์ ลาวัวซิเยร์ (Anton Laurent Lavoisier) และคาร์ล วิลเฮล์ม เชล์เลอย์ รวมถึง โจเซฟ พริสต์ลีย์ ผู้ซึ่งทำให้วิชาเคมีมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้นด้วยการค้นพบก๊าซชนิดต่าง ๆ มากมาย เช่นออกซิเจน ไฮโดรเจน ไนโตรเจน และแอมโมเนีย เป็นต้น

วิชาเคมีถือได้ว่ามีความสำคัญไม่แพ้วิทยาศาสตร์แขนงอื่น ๆ อีกทั้งการค้นพบทางเคมีไม่ว่าจะเป็นการค้นพบก๊าซ สารเคมี หรือแร่ธาตุ ต่างก็เอื้อประโยชน์ต่อวิทยาศาสตร์แขนงอื่น ๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นฟิสิกส์ ชีววิทยา สิ่งประดิษฐ์อุตสาหกรรมหรือแม้แต่ทางการแพทย์ ต่างก็ได้นำการ้นพบทางเคมีมาใช้ประโยชน์โดยส่วนใหญ่ เช่น แพทย์ได้นำก๊าซไนตรัสหรือก๊าซหัวเราะ มาใช้ทำให้ผู้ป่วยหมดสติระหว่างการผ่าตัด นำก๊าซไฮโดรเจนมาใช้ทำระเบิดอีกทั้งการพบก๊าซคอร์บอนไดออกไซด์ซึ่งต่อมาพบว่าเป็นก๊าซที่พืชใช้สังเคราะห์แสง และคายออกซิเจนออกมาสำหรับมนุษย์หายใจ แม้ว่าการค้นพบของพริสต์ลีย์ในช่วงแรกจะเป็นเพียง
การค้นพบชนิดต่าง ๆ ของก๊าซ แต่ยังไม่ทราบสมบัติและประโยชน์ของก๊าซชนิดนั้น ๆ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการนำทางให้ค้นพบประโยชน์ในเวลาต่อมา

พริสต์ลีย์เกิดเมื่อวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 1738 ที่เมืองลีดส์ รัฐยอร์คไชร์ ประเทศอังกฤษบิดาของเขาเป็นช่างตัดผ้าที่มีฝีมือมากคนหนึ่ง แม้ว่าฐานะของครอบครัวพริสต์ลีย์จะไม่ร่ำรวยมากนัก แต่บิดาของเขาต้องการให้เขาได้รับการศึกษาสูง ๆ หลังจากจบการศึกษาขั้นต้นแล้วพริสต์ลีย์ได้เข้าศึกษาต่อในวิทยาลัยยูนิเวอร์ซิตี้ ในมหาวิทยาลัยลอนดอน (London University) ในวิชาอักษรศาสตร์ และปรัชญา ซึ่งเป็นวิชาที่เขาให้ความสนใจมาตั้งแต่เด็ก พริสต์ลีย์ต้องเรียนภาษากรีก ละติน และฮิบรู และเขาได้อ่านหนังสือที่เป็นภาษากรีก ละติน และฮิบรู จำนวนมากรวมถึงหนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ซึ่งส่วนใหญ่เขียนเป็นภาษาละติน และภาษากรีก ทำให้เขาเกิดความสนใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา หลังจากจบการศึกษาแล้วพริสต์ลีย์ได้เข้าทำงานเป็นอาจารย์สอนภาษาศาสตร์และวรรณคดีให้กับสถาบันวอร์ริงตัน (Warrington Academy)

พริสต์ลีย์มีความสนใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์แต่เขามีความรู้ด้านนี้ไม่มากนัก จึงต้องศึกษาจากหนังสือ และผลงานทางวิทยาศาสตร์ของนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงทั้งในอดีต และในขณะนั้น แต่โชคดีที่เขาสามารถอ่านภาษาละติน และกรีกได้เป็นอย่างดี ครั้งหนึ่งเขามีโอกาสได้พบกับเบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin) นักวิทยาศาสตร์และนักการเมืองคนสำคัญของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเดินทางมาอังกฤษ เพื่อศึกษาและดูงานด้านไฟฟ้า การสนทนาระหว่างพริสต์ลย์และแฟรงคลินทำให้พริสต์ลีย์มีความสนใจในเรื่องไฟฟ้ามากขึ้น และเริ่มต้นศึกษาค้นคว้าและทดลองเกี่ยวกับไฟฟ้า

ต่อมาในปี ค.ศ. 1776 พริสต์ลีย์ได้ตีพิมพ์ผลงานออกมาเล่มหนึ่งชื่อว่า History of Electricity หรือประวัติศาสตร์ไฟฟ้า เมื่อผลงานชิ้นนี้เผยแพร่ออกไป ทำให้พริสต์ลีย์ได้รับการยกย่องและมีชื่อเสียงมากขึ้น และจากผลงานชิ้นนี้เขาได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของราชสมาคมแห่งกรุงลอนดอน (Royal Society of London)

แม้ว่าเขาจะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากขึ้นพริสต์ลีย์ก็ยังทำงานในสถาบันวอร์ริงตันอีกหลายปีต่อมาเข้าได้ลาออกและบวช เป็นนักบวชสอนศาสนาที่โบสถ์แห่งหนึ่งที่เมืองมิลล์ ฮลล์ (Mill Hill Chapel) ที่เมืองลีดส์ รัฐยอร์คไชร์ บ้านเกิดของเขานั่นเอง และในระหว่างที่เขาได้ทำการทดลองทางเคมี และค้นพบก๊าซหลายชนิด ก๊าซชนิดแรกที่เขาค้นพบก็คือ ฟิกซ์แอร์ (Fix air) หรือที่รู้จักกันดีในปัจจุบันว่า คาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon dioxide) การที่พริสต์ลีย์ค้นพบก๊าซชนิดนี้ เนื่องจากบริเวณใกล้ ๆ กับที่พักของเขามีโรงงานเบียร์ตั้งอยู่ ซึ่งภายในโรงงานมีพังหมักเบียร์จำนวนมากพริสต์ลีย์สังเกตพบว่ามีก๊าซบางชนิดระเหยออกมาจาก
ถังเบียร์ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่โจเซฟ แบลค (Joseph Black) ค้นพบ หลังจากนั้นเขาได้นำฟิกซ์แอร์มาทดสอบสมบัติ และพบว่าไม่ติดไฟ หลังจากค้นพบก๊าซ ชนิดแรกทำให้พริสต์ลีย์ หันมาสนใจเกี่ยวกับวิชาเคมีมากขึ้น และทำการทดลองหาก๊าซชนิดอื่นต่อไป

ต่อมาได้พบก๊าซเพิ่มอีกถึง 4 ชนิด ได้แก่ ไนโตรเจน ไนตรัสออกไซด์ (Nitrous oxide) ต่อมานักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษเซอร์ฮัมฟรี เดวี่ (Sir Humphry Davy) ได้ค้นพบสมบัติเพิ่มเติมว่าถ้าสูดดมเขาไปในปริมาณหนึ่งจะทำให้หัวเราจึงเปลี่ยนชื่อก๊าซไนตรัส เป็นก๊าซหัวเราะต่อมาเดวี่พบสมบัติเพิ่มเติมว่าถ้าสูดดมเข้าไปในปริมาณที่มากขึ้นไปอีก จะทำให้หมดสติได้ ก๊าซชนิดนี้ได้นำไปใช้ในวงการแพทย์ คือ ให้ผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดหมดสิตเพื่อไม่ต้องทรมานระหว่างการผ่าตัด แต่การใช้ก็ต้องระมัดระวังอย่างมากเพราะถ้าสูดดมมากเกินไปอาจจะทำให้เสียชีวิตได้และก๊าซอีกชนิดหนีงที่พริสต์ลีย์พบก็คือ ไฮโดรเจนคลอไรด์ (Hydrogen chlride)

ในปี ค.ศ. 1773 พริสต์ลีย์ได้รับเชิญจากวิลเลี่ยม ฟิตซมอริช - เปตตี้ เอิร์ลที่ 2 แห่งเชลเบิร์น (William Fitzmaurice Earl II of Shellburne) เข้าทำงานในตำแหน่งบรรณารักษ์ และครูสอนหนังสือของบุตรชายทั้ง 2 คน ของท่านเอิร์ล ณ คฤหาสน์ตระกูลเชลเบิร์นที่เมืองวิลท์ไชร์ (Wiltshire) พริสต์ลีย์ตกลงในรับงานนี้เพราะเงินค่าตอบแทนปีละ 150 ปอนด์ และมีโอกาสในการทดลองวิทยาศาสตร์ ซึ่งท่านเอิร์ลได้ให้โอกาสเขาอย่างเต็มที่สำหรับการทดลอง และในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันนั้นพริสต์ลีย์ ได้ติดตามท่านเอิร์ลออกเดินทางท่องเที่ยวในทวีปยุโรป ซึ่งเป็นโอกาสอันดีพริสต์ลีย์ที่จะได้รู้จักกับนักวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงหลายท่าน และเมื่อเขาเดินทางถึงกรุงปารีสประเทศฝรั่งเศส เขามีโอกาสได้รู้จักกับนักเคมีชาวฝรั่งเศสผู้มีชื่อเสียง อังตวน ลอเรนต์ ลาวัวซิเยร์ (Anton Laurent Lavoisier) ทำให้เขาได้รับความรู้เกี่ยวกับเคมีมากมายหลายประการ

หลังจากที่พริสต์ลีย์เดินทางกลับจากการติดตามท่านเอิร์ล เขาได้ทำการค้นคว้าเกี่ยวกับเคมีอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งครั้งนี้เขาสามารถแยกก๊าซได้อีกถึง 6 ชนิด ได้แก่ ก๊าซแอมโมเนีย (Ammonia) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Sulfur Dioxide) ซิลิคอนไฮโดรฟลูออริก (Silicon hydrofluoric) ก๊าซไนโตรเจน (Nitrogen air) ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon Monoxide) และ Dephlogisticated air และในปีเดียวกันนั้นเขาได้ตีพิมพ์เผยแพร่หนังสือออกมาเล่มหนึ่งชื่อว่า Experiments and Observations on different Kind of Air หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเกี่ยวกับการทดลอง และการค้นพบก๊าซของพริสต์ลีย์เขาได้นำผลงานการค้นพบเสนอต่อราชสมาคมแห่งกรุงลอนดอน ทางสมาคมได้รับรองผลงานการค้นพบของพริสต์ลีย์ในเดือน
มีนาคม ค.ศ. 1775 แต่ลาวัวซิเยร์เห็นว่าควรเปลี่ยนชื่อ Dephlogisticated air เป็นออกซิเจน (Oxygen) และจากผลงานชิ้นนี้ ทางราชสมาคมแห่งกรุงลอนดอนได้มอบเหรียบคอพเลย์ (Copley Medal) ให้กับพริสต์ลีย์

ต่อมาในปี ค.ศ. 1779 พริสต์ลีย์ได้ลาออกจากท่านเอิร์ล และเดินทางไปยังเมืองเบอร์มิงแฮม (Birmingham) และก่อตั้งสมาคม วิทยาศาสตร์ขึ้นชื่อว่า สมาคมลูนาร์แห่งเบอร์มิงแฮม (Lunar Society of Birmingham) ส่วนสมาชิกของสมาคมแห่งนี้เรียกว่า ลูนาร์ติคส์ (Lunartics) โดยมีพริสต์ลีย์ผู้ก่อตั้งและเป็นประธานของสมาคม สมาคมแห่งนี้ประกอบไปด้วยผู้มีชื่อเสียงหลายท่านเช่น เจมส์ วัตต์ (James Watt) ผู้ที่ประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำ และเป็นเจ้าของกิจการผลิตเครื่องจักรอีรัสมัส ดาร์วิน (Erasmus Darwin) นายแพทย์และกวีผู้มีชื่อเสียงและเป็นปู่ของชาร์ล โรเบิร์ต ดาร์วิน (Charles Robert Darwin) นักธรรมวิทยาผู้มีชื่อเสียง นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วยบุคคลผู้มีชื่อเสียงในวงการอุตสาหกรรมจำนวนมาก เนื่องจากในการก่อตั้งสมาคมนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้การส่งเสริม และสนับสนุนการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์ทางอุตสาหกรรม แม้ว่าสมาคมแห่งนี้จะก่อตั้งขึ้นมาได้ไม่นานนัก แต่ก็เป็นที่ยอมรับ และมีชื่อเสียงอยู่พอสมควร ทางสมาคมจะจัดให้มีการประชุมเดือนละ 1 ครั้ง ในวันพระจันทร์เต็มดวง การที่สมาคมจัดประชุมในวันพระจันทร์เต็มดวง ก็ได้มาจากชื่อของสมาคมลูนาร์ แปลว่า พระจันทร์

พริสต์ลีย์ใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบสุข และทำการทดลองเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งประมาณปี ค.ศ. 1790 ได้เกิดการปฏิวัติขึ้นในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งจุดประสงค์ของคณะปฏิวัติมีความต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ ในฝรั่งเศสแม้ว่าพริสต์ลีย์จะไม่ได้เป็นชาวฝรั่งเศสและไม่ได้อยู่ในประเทศฝรั่งเศส แต่ให้การสนับสนุนคณะปฏิวัติอย่างออกนอกหน้า สร้างความเกลียดชังให้กับชาวเบอร์มิงแฮมมาก และในคืนหนึ่งชาวเมืองกลุ่มหนึ่งได้บุกรุกเข้ามาในบ้านพักของเขาทำลายข้าวของและเผาบ้านของเขา แต่โชคดีที่พริสต์ลีย์และครอบครัวของเขาหนีออกมาได้ทัน พริสต์ลีย์ได้เดินทางหลบหนีไปยังเมืองวอร์เชสเตอร์ (Worchester) และเดินทางต่อไปยังกรุงลอนดอน จากนั้นจึงเดินทางไปอยู่ที่เมืองแฮนนีย์ (Hackney) และเข้าทำงาน เป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยแฮคนีย์ (Hackney College) แม้ว่าพริสต์ลีย์จะรอดชีวิตมาได้ แต่บ้านและผลงานทางวิทยาศาสตร์ของเขาก็ถูกทำลายจนหมดสิ้นอีกทั้งเขายังถูกบังคับให้ลาออกจากการเป็นสมาธิของราชสมาคมแห่งกรุงลอนเดอนอีกด้วย

ระหว่างปี ค.ศ.1792 - 1794 การเมืองภายในประเทศฝรั่งเศสกำลังรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ คณะปฏิวัติได้บุกรุกเข้าไปในพระราชวังและวังหารพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 (King Louis XVI) โค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ และเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จ นอกจากนี้คณะปฏิวัติยังได้สังหารพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางจำนวนมาก พริสต์ลีย์เห็นว่าถ้าเขายังอยู่ในอังกฤษต่อไปอาจจะได้รับอันตรายได้ ดังนั้นเขาจึงส่งบุตรชาย 3 คน ของเขาล่วงหน้าไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาก่อน จากนั้นเขาและภรรยาได้ทำหนังสือเพื่อขออนุญาตลี้ภัย ทางการเมืองตามไปภายหลัง พริสต์ลีย์และภรรยาได้เดินทางถึงกรุงนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1794

เมื่อเขาเดินทางมาถึงประเทศสหรัฐอเมริกาพริสต์ลีย์ได้เดินทางต่อไปนังรัฐเพนน์ซิลวาเนีย (Pennsylvania) เพื่อพบกับเบนจามินแฟรงคลิน เพื่อนเก่าของเขา ซึ่งให้การต้อนรับเขาเป็นอย่างดีพร้อมกับเสนอตำแหน่งศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยเพนน์ซิลวาเนีย (Pennsylvania University) แต่พริสต์ลีย์ได้ปฏิเสธ เพราะเขาอายุมากแล้ว ต้องการที่จะพักผ่อนมากกว่าพริสต์ลีย์ใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายอยู่กับครอบครัว และการค้นคว้าด้านวิทยาศาสตร์ต่อไป ต่อมาพบก๊าซชนิดต่าง ๆ อีกหลายชนิดและได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งวิชาเคมีก๊าซ (Father of Pneumatic Chemistry) พริสต์ลีย์เสียชีวิตในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1804 ที่รัฐเพนน์ซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกาหลังจากที่เขาเสียชีวิตทางรัฐบาลสหรัฐฯ ได้สร้างพิพิธภัณฑ์ เพื่อเป็นอนุสรณ์ และเพื่อเป็นเกียรติแก่เขาด้วย


ทีม่า
http://siweb.dss.go.th/Scientist/Scientist_1/Joseph%20Priestly.html