อาเล็กซานเดอร์ เฟลมมิ่ง : Alexander Flemming
เกิด วันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ.1881 ที่เมืองล็อกฟิลด์ แอร์ (Logfield Air) ประเทศสก็อตแลนด์ (Scotland)
เสียชีวิต วันที่ 11 มีนาคม ค.ศ.1955 ที่กรุงลอนดอน (London) ประเทศอังกฤษ (England)
ผลงาน
- ค้นพบเชื้อราชนิดหนึ่งชื่อว่าเพนนิซิเลียม (Penicilliam) ต่อมาได้นำมาสกัดเป็นยาชื่อว่า เพนนิซิลิน (Penicilin)
- ค.ศ.1946 ได้รับรางวัลโนเบลสาขาแพทย์ ร่วมกับโฮวาร์ด วอลเทอร์ และเอิร์น โบร์ลเชน
เฟลมมิ่งเกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1881 ที่เมืองล็อกฟิลด์ แอร์ ประเทศสก็อตแลนด์ บิดาของเขาชื่อฮิวจ์ เฟลมมิ่ง (Hugh Flaming) เฟลมมิ่งเป็นเด็กที่มีความซุกซน ฉลาดหลักแหลม เมื่ออายุเข้าเกณฑ์เรียนหนังสือ บิดาได้ส่งเฟลมมิ่งเข้าเรียนที่โรงเรียนคาร์เวล (Carwell School) หลังจากนั้นได้เข้าเรียนต่อที่คิลมาร์น็อก อะเคดามี (Kilemanox Academy) ต่อมาเขาได้เข้าเรียนต่อวิชาแบคทีเรียวิทยา ที่วิทยาลัยการแพทย์ แห่งโรงพยาบาลเซนต์แมรี่ และจบการศึกษาในปี ค.ศ.1908 โดยได้รับเกียรตินิยมอันดับ 1 อีกด้วย หลังจากจบการศึกษาเฟลมมิ่งได้เข้าทำงานเป็นแพทย์ประจำแผนกภูมิคุ้มกันโรค และผู้ช่วยของเซอร์แอล์มโรท เอ็ดเวิร์ด ไรท์ (Sir Edward Writhe) หัวหน้าแผนกแบคทีเรียวิทยา ที่โรงพยาบาลเซนต์แมรี่
ในระหว่างปี ค.ศ.1914-1918 ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น เฟลมมิ่งได้เข้าเป็นทหารเสนารักษ์ยศนายร้อยตรีประจำกองทัพตำรวจหลวง (Royal Army Corps) และในระหว่างนี้เองทำให้เฟลมมิ่งได้เห็นทหารบาดเจ็บจากการต่อสู้จำนวนมาก และบาดแผลของทหารเหล่านี้มีอาการอักเสบ เป็นบาดทะยัก หรือไม่ก็เน่าเปื่อย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทหารต้องเสียชีวิต แพทย์เสนารักษ์ทั้งหลายพยายามดูแลบาดแผลด้วยยาฆ่าเชื้อโรค ซึ่งฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น อีกทั้งยังทำลายโฟโตไซท์ ของร่างกายอีกด้วย
เมื่อสงครามจบสิ้นลง เฟลมมิ่งได้เข้าทำงานเป็นอาจารย์สอนที่วิทยาลัยเซนต์แมรี่ ในระหว่างที่เขาทำงานอยู่ที่วิทยาลัยเซนต์แมรี่ เขาได้ทำการทดลองเกี่ยวกับแบคทีเรียตัวหนึ่งที่มีชื่อว่า สเตปฟิโลคอกคัส (Staphylococcus) ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเซฟติซีเมีย (Septicemia) หรือการติดเชื้อแบคทีเรียเลือด อาการของโรคจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดบาดแผลมาก และทำให้เสียชีวิตได้ในเวลาต่อมา
เฟลมมิ่งได้เพาะเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ลงบนจากแก้วเพื่อหาวิธีการฆ่าเชื้อโรคชนิดนี้ให้ได้ และยาฆ่าเชื้อต้อง
ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เขาพยายามค้นหาสารสกัดจากสิ่งต่าง ๆ หลายชนิด เช่น น้ำมูก เนื่องจากครั้งหนึ่งเฟลมมิ่งป่วยเป็นหวัด มีน้ำมูกไหล เขาคิดว่าน้ำมูกเป็นสิ่งที่ร่างกายผลิตขึ้นมา ดังนั้นเขาจึงใช้น้ำมูกหยดลงในจานที่มีแบคมีเรีย ผลปรากฏว่าสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ตายหมด แต่เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ไม่ร้ายแรงนัก จากนั้นเฟลมมิ่งได้ทดลองนำสิ่งที่ร่างกายผลิตได้ทดลอง ต่อมาคือน้ำตา เขาใช้น้ำตา 2-3 หยด หยดลงในจานแบคทีเรีย ปรากฏว่าน้ำตาสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ดีกว่าน้ำมูกเสียอีก แต่น้ำตาเป็นสิ่งที่หา
ยากมาก เฟลมมิ่งจึงต้องหาอย่างอื่นมาทดแทน เขาพบว่าในน้ำตามีเอนไซม์ ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ทำลายแบคทีเรียได้ เฟลมมิ่งได้นำเล็บ เส้นผม และผิวหนังมาทดลอง แต่เอนไซม์ที่สกัดได้มักมีผลกระทบต่อร่างกาย
ในที่สุดเขาก็ค้นพบเอนไซม์ชนิดหนึ่งในไข่ขาวชื่อว่า ไลโซไซม์ แต่การแยกไลโซไซม์บริสุทธิ์ออกมาทำให้ยากมาก อีกทั้งเฟลมมิ่งขาดแคลนเครื่องมืออันทันสมัย คน และเวลา ดังนั้นเขาจึงเขียนบทความลงในวารสารฉบับหนึ่ง เพื่อหาเงินทุนในการทดลอง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่มีผู้ใดให้ความสนใจเลย ดังนั้นเรื่องนี้จึงต้องหยุดชะงักแต่เพียงเท่านี้ แต่การทดลองหาวิธีฆ่าเชื้อโรคของเฟลมมิ่งไม่ได้หยุดแต่เพียงเท่านี้ เขาได้ทำการค้นหาวิธีอื่นที่ง่ายกว่านี้
ในปี ค.ศ.1928 เฟลมมิ่งได้เลื่อนตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ประจำภาควิชาแบคทีเรีย แต่เขาก็ยังคงทำการทดลองเพื่อค้นหาวิธีฆ่าเชื้อโรคต่อไป เฟลมมิ่งได้ซื้ออุปกรณ์ชนิดใหม่สำหรับเพาะเชื้อแบคทีเรีย โดยลักษณะเป็นจานแก้วใส ก้นตื้น มีฝาปิด เฟลมมิ่งได้ใส่พืชทะเลชนิดหนึ่งลงไปในจานทดลองที่มีแบคทีเรีย จากนั้นปิดฝาให้สนิทเพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมหล่นลงไป แล้วจึงนำไปเก็บไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส ซึ่งเท่ากับอุณหภูมิในร่างกายมนุษย์ หน้าที่ในการดูแลจานแบคทีเรีย เฟลมมิ่งได้มอบ
ให้กับผู้ช่วยของเขา อยู่มาวันหนึ่งผู้ช่วยของเขาลืมปิดฝาจาน อีกทั้งยังตั้งทิ้งไว้บนโต๊ะใกล้กับหน้าต่างห้องทดลองอีกด้วย ปรากฏว่ามีเชื้อราสีเทาเขียวมีลักษณะคล้ายกับราที่ขึ้นบนขนมปังอยู่เต็มไปหมด เฟลมมิ่งโกรธผู้ช่วยของเขามาก แต่ถึงอย่างนั้นเฟลมมิ่งก็ไม่ได้ทิ้งจานทดลองอันนี้ และนำมาไว้ที่มุมหนึ่งของห้อง เมื่อเฟลมมิ่งได้ทำการทดสอบอีกครั้งหนึ่งอย่างละเอียดและพบว่า
เชื้อราชนิดนี้กินเชื้อแบคทีเรียนสเตปฟิโลคอกคัสได้ เฟลมมิ่งได้เริ่มเพาะเชื้อราชนิดนี้ในขวดเพาะ เมื่อเพาะเชื้อราได้จำนวนมากพอ เฟลมมิ่งได้นำเชื้อแบคทีเรีย 6 ชนิด ใส่ลงในจาน แล้วนำเชื้อราใส่ลงไป ปรากฏว่าเชื้อราสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ถึง 4 ชนิด ที่เหลืออีก 2 ชนิด เป็นแบคทีเรียชนิดร้านแรงที่ทำให้เกิดโรคอย่างแอนแทรกซ์ และคอตีบ
จากนั้นเฟลมมิ่งได้สอบถามไปยังนักวิทยาศาสตร์ผู้มีความรู้ทั้งหลายว่า เชื้อราชนิดนี้ชื่ออะไร ในที่สุดเขาก็ได้คำตอบว่าเชื้อราชนิดนี้จัดอยู่ในกลุ่มเพนนิซิเลียม ชื่อว่า เพนนิซิเลียม อุมรูบรุม ต่อมาเฟลมมิ่งได้นำเชื้อราชนิดนี้มาสกัดเป็นยาชื่อว่า เพนนิซิลิน เฟลมมิ่งได้นำยาชนิดนี้มาใช้กับสัตว์ทดลอง ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี แต่เขายังไม่กล้าใช้กับคน เพราะยังไม่สามารถสกัดเพนนิซิลินบริสุทธิ์ได้ เฟลมมิ่งได้ทดลองแยกเพนนิซิลินหลายวิธีแต่ก็ไม่สามารถแยกได้ ดังนั้นเฟลมมิ่งจึงเขียนบทความลงในวารสาร การแพทย์เล่มหนึ่ง ซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจ และสามารถแยกแพนนิซิลินบริสุทธิ์ได้สำเร็จ นักวิทยาศาสตร์ผู้นั้นก็คือโฮวาร์ด วอลเทอร์ (Howard Walter) นักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลีย
จากการค้นพบครั้งนี้ เฟลมมิ่งได้รับการยกย่องและรับมอบรางวัลจากสถาบัน และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ กว่า 30 แห่ง ทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ.1944 เฟลมมิ่งได้รับพระราชทานยศเป็นท่านเซอร์ และปี ค.ศ.1945 เฟลมมิ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขา แพทย์ร่วมกับโฮวาร์ด วอลเทอร์ และเอิร์น โบร์ลเชน
ยาเพนนิซิลินเป็นยาที่มีประโยชน์อย่างมาก เพราะยาชนิดนี้สามารถรักษาโรคต่าง ๆ ได้มากกว่า 80 โรค เช่น แอนแทรกซ์ คอตีบ ปอดอักเสบ บาดทะยัก และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น เฟลมมิ่งเสียชีวิตด้วยโรคเส้นเลือดในหัวใจตีบ ในวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ.1955 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ที่มา
http://siweb.dss.go.th/Scientist/Scientist/Alexander%20Flemming.html
รา Penicillium