วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2553
ศาสตราจารย์ ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์
ศาสตราจารย์ ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์
นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาชีวเคมี ประจำปีพุทธศักราช 2527
ศ.ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านชีวเคมี มีผลงานเด่นในเรื่องเกี่ยวกับมาลาเรีย ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาชีวเคมี เมื่อปี พ.ศ. 2527 เป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกของโลกที่ค้นพบโครงสร้าง 3 มิติของโปรตีนของเชื้อมาลาเรีย ที่มีความสำคัญโดยเป็นเป้าหมายของยาต้านมาลาเรีย[1] และค้นพบการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างและคุณสมบัติหลายประการของเยื่อหุ้มเม็ดเลือดแดงที่ติดเชื้อมาลาเรีย และความเกี่ยวโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้กับอาการของโรคนี้ทางโลหิตวิทยา ค้นพบเอนไซม์ใหม่และวิถีปฏิกิริยาใหม่ของเชื้อมาลาเรีย โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการสังเคราะห์และใช้สารโฟเลต อันเป็นแนวทางในการพัฒนายาต้านมาลาเรียชนิดใหม่ วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ได้รับโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในคณะรัฐมนตรีของ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์
ประวัติ
ศาสตราจารย์ ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์เกิดวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2487 ที่จังหวัดลพบุรี เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวน 4 คน ของ พ.อ. สรรค์ และนางระเบียบ ยุทธวงศ์ เนื่องจาก พ.อ.สรรค์ ยุทธวงศ์ ซึ่งเป็นบิดาได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่ท่านยังเล็ก ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้เป็นลุง จึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการเป็นนักวิทยาศาสตร์ของท่านมากที่สุด และให้การสนับสนุนมาโดยตลอด ดังนั้น เมื่อได้รับชักชวนจาก ศ.ดร.สตางค์ มงคลสุข คณบดีวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ ให้เห็นความสำคัญของการเรียนวิทยาศาสตร์ และเห็นว่าเป็นเรื่องที่สนุกสนาน ทำให้คิดตัดสินใจสอบชิงทุนไปเรียนต่อยังต่างประเทศในสาขาวิทยาศาสตร์ในเวลาต่อมา
เกียรติคุณและรางวัล
พ.ศ. 2527 - รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาชีวเคมี จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์
พ.ศ. 2541 - รางวัล ASEAN Science and Technology Meritorious Service Award จากองค์การอาเซียน
พ.ศ. 2545 - รางวัลนักเรียนทุนรัฐบาลดีเด่น
พ.ศ. 2546 - รางวัลผลงานวิจัยเกียรติยศ สกว. จากการที่ได้รับการอ้างอิงผลงานวิจัยสูงสุด
พ.ศ. 2547 - Nikkei Asia Prize for Science, Technology and Innovation จาก Nihon Keizai Shimbun ประเทศญี่ปุ่น
พ.ศ. 2547 - ได้รับการคัดเลือกเป็นบุคคลดีเด่นของชาติ โดยคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ
พ.ศ. 2549 - หนังสือพิมพ์ The Nation ได้จัดให้เป็น 1 ใน 35 คนผู้มีบทบาทสูงต่อประเทศไทย ในช่วง 35 ปีที่ผ่านมา
ผลงานวิจัย
งานวิจัยส่วนใหญ่เป็นงานด้านการพัฒนายาต้านมาลาเรีย โดยเฉพาะกลุ่มของยาที่เรียกว่า แอนติโฟเลต และชีวเคมีพื้นฐานของมาลาเรีย ผลงานที่สำคัญ คือการค้นพบกลไกของการดื้อยาแอนติโฟเลตของเชื้อมาลาเรีย ซึ่งเกิดจากการกลายพันธุ์ของเอ็นไซม์ในเชื้อที่เป็นเป้าหมายของยา ได้ค้นพบโครงสร้างของเอ็นไซม์นี้ ทำให้สามารถออกแบบและสังเคราะห์ยาใหม่ที่มีฤทธิ์ต่อเชื้อที่ดื้อยาเก่าได้ มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ 112 เรื่อง เขียนหนังสือและตำรา 11 เรื่อง สิทธิบัตร 3 เรื่อง
ประวัติการทำงาน
พ.ศ. 2512 - เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2526 - ได้รับโปรดเกล้าฯเป็น ศาสตราจารย์ (เมื่ออายุได้ 39 ปี)
พ.ศ. 2532 - ได้รับโปรดเกล้าฯเป็น ศาสตราจารย์ระดับ 11 (เมื่ออายุ 46 ปี)
พ.ศ. 2516-2518 - ทำงานวิจัยหลังปริญญาเอกที่ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส กับ ศาสตราจารย์พอล บอเยอร์ (นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล)
พ.ศ. 2533 - ได้รับเชิญเป็นศาสตราจารย์อาคันตุกะ ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก
ในด้านนโยบายการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย ศาสตราจารย์ ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เป็นแกนหลักที่นำไปสู่การจัดตั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพลังงาน เมื่อปี พ.ศ. 2522 ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เมื่อปี พ.ศ. 2526 และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2534
พ.ศ. 2535-2541 - เป็นผู้อำนวยการคนแรกของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
พ.ศ. 2528-2534 - เป็นผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
พ.ศ. 2534 – ร่วมยกร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
พ.ศ. 2535 - ร่วมจัดตั้งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กรรมการนโยบายและบริการ
พ.ศ. 2543 - กรรมการธนาคารกสิกรไทย
พ.ศ. 2545 - ประธานมูลนิธิบัณฑิตสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
พ.ศ. 2546 - กรรมการยกร่างที่ปรึกษา Scientific Board, Grand Challenges in Global Health Program, Bill and Melinda Gates Foundation
พ.ศ. 2546 - กรรมการ Drugs for Neglected Diseases Initiative, Geneva
หน้าที่การงานในปัจจุบัน
เป็นนักวิจัยอาวุโสที่ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
เป็นที่ปรึกษาอาวุโสของผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
พ.ศ. 2549-ปัจจุบัน - ได้รับโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ที่มา
http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B9%8C_%E0%B8%94%E0%B8%A3._%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98_%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C