วันพุธที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2553
อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ : Alexander Graham Bell
อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ : Alexander Graham Bell
เกิด วันที่ 3 มีนาคม ค.ศ.1847 ที่เมืองเอดินเบิร์ก (Edinburg) ประเทศสก็อตแลนด์ (Scotland)
เสียชีวิต วันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ.1922 ที่เมืองโนวา สโคเทีย (Nova Scotia)
ผลงาน
- ประดิษฐ์โทรศัพท์ ในปี ค.ศ.1876
- ก่อตั้งสมาคมแนะนำ และสอนคนหูพิการ ชื่อว่า American Association to Promote the Teaching of
Speech to Deaf
การติดต่อสื่อสารถือได้ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากทั้งในอดีต ปัจจุบัน รวมถึงต่อไปอนาคต ในอดีตมนุษย์ใช้วิธีการส่งข่าวสารถึงกันด้วยวิธีต่าง ๆ มากมาย เช่น ใช้นกพิราบ ควันไฟ เป็นสัญญาณ หรือการใช้มนุษย์เดินทางส่งข่าวสาร ซึ่งแต่ละวิธีที่ได้กล่าวมา ล้วนแต่ล่าช้า ไม่สะดวก อีกทั้งเกิดความผิดพลาดได้ง่าย ต่อมาแซมมวล มอร์ส นักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน ได้ประดิษฐ์โทรเลขทำให้การสื่อสารมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้นอีกลำดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่สามารถส่งคำพูดได้ จนกระทั่งเบลล์สามารถประดิษฐ์โทรศัพท์ขึ้นสำเร็จ ทำให้การสื่อสารมีความเจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก ในปัจจุบันโทรศัพท์เป็นเครื่องมือสื่อสารที่มีความสำคัญมากสำหรับการติดต่อสื่อสารเพราะสะดวกรวดเร็ว ประหยัดทั้งค่าใช้จ่าย และเวลา
เบลล์เกิดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ.1847 ที่เมืองเอดินเบิร์ก (Ddinburg) ประเทศสก๊อตแลนด์ (Scotland) บิดาของเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับภาษาที่ใช้สำหรับคนหูพิการ ชื่อว่า อเล็กซานเดอร์ เมลวิน เบลล์ (Alexander Melvin Bell) การที่บิดาของเบลล์ได้ศึกษาเกี่ยวกับคนหูพิการ เพราะปู่ของเบลล์ได้ศึกษาเรื่องนี้มาก่อน อีกทั้งมารดาของเขาก็เป็นคนหูพิการ และเพราะเหตุนี้เองทำให้เบลล์สามารถใช้ภาษาใบ้ อ่านริมฝีปาก และแยกแยะเสียงได้อย่างละเอียด โดยทั้งหมดนี้เบลล์ได้รับการถ่ายทอดมาจากบิดาของเขานั่นเอง เบลล์มีพี่ชายคนหนึ่งซึ่งเสียชีวิตด้วยโรควัณโรค แม้ว่าเบลล์จะโชคดีที่ไม่เสียชีวิต แต่เขาก็ติดโรคมาจากพี่ชายซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ สุขภาพของเบลล์จึงไม่ค่อยดีนัก เบลล์ได้รับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนเอดินเบิร์ก (Edinburg School) จากนั้นเบลล์ได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยลอนดอน (London University) เมื่อจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยลอนดอน เบลล์ได้เดินทางไปประเทศเยอรมนี เพื่อเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยวูซเบิร์ก จนจบการศึกษาระดับปริญญาเอกในปี ค.ศ. 1867
หลังจากจบการศึกษาเบลล์ได้ทำงานเป็นผู้ช่วยของบิดาในการสอนและพัฒนาคนหูพิการ จนกระทั่งในปี ค.ศ.1870 อาการป่วยของเบลล์ได้ทรุดหนักขึ้น เบลล์จึงเดินทางพร้อมกับบิดาไปอยู่ที่เมืองออนตาริโอ (Ontario) ประเทศแคนาดา (Canada) ตามคำแนะนำของแพทย์ว่าควรไปพักในสถานที่ที่มีออนตาริโอ (Ontario) ประเทศแคนนาดา (Canada) ตามคำแนะนำของ แพทย์ว่าควรไปพักในสถานที่ที่มีอากาศดี เมื่อเขารักษาตัวจนอาการทุเลาลง เบลล์ได้เดินทางไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา (United State of America) และเข้าทำงานในตำแหน่งอาจารย์สอนการออกเสียงที่มหาวิทยาลัยบอสตัน (Boston University)
จากความสามารถของเบลล์ เขาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์สอนวิชาสรีรวิทยาว่าด้วยเรื่องเสียง เบลล์ได้พยายามประดิษฐ์เครื่องมือสำหรับคนหูพิการให้มีโอกาสได้ยินเสียงเหมือนเช่นคนปกติ ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นโทรศัพท์
ด้วยความที่เบลล์เป็นคนที่ชอบเล่นเปียโน วันหนึ่งเขาสังเกตว่าเสียงเพลงจากเปียโนเกิดจากการสั่นสะเทือนของเส้นลวดเพราะฉะนั้นเส้นลวดน่าจะเป็นตัวนำเสียงจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้ ในปี ค.ศ.1873 เบลล์ได้ทำงานเป็นครูสอนหนังสือในโรงเรียนคนหูพิการที่เมืองบอสตัน และต่อมาเบลล์ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์สรีรวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านโสตและเสียง และในระหว่างนี้เบลล์ได้ทำการทดลองค้นคว้าเพื่อจะส่งเสียงตามสาย เขาได้ร่วมมือกับโทมัส เอ. วัตสัน (Thomas A. Watson) ผู้ช่วยของเขา ซึ่งเป็นลูกชายเจ้าของร้านขายอุปกรณ์เกี่ยวกับไฟฟ้า ที่เบลล์ได้ซื้ออุปกรณ์เกี่ยวกับการทดลองเป็นประจำ
ทั้งสองประสบความสำเร็จในการประดิษฐ์โทรศัพท์ในปี ค.ศ.1876 โดยการใช้เส้นลวดโยงจากห้องหนึ่งไปยังอีกห้องหนึ่งส่วนปลายทั้งสองข้างจะเป็นหูฟัง ซึ่งภายในประกอบไปด้วยแท่งแม่เหล็กพันด้วยทองแดง ต่อจากนั้นจะเป็นแผ่นเหล็กบาง ๆ เพื่อพูดใส่กระบอกนี้จะเกิดการสั่นสะเทือน ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าในขดลวด แต่ผลการทดลองในครั้งแรกยังไม่ประสบความสำเร็จเพราะไม่สามารถเข้าใจในคำพูดที่ส่งมาทางโทรศัพท์ได้ แต่ก็ประสบความสำเร็จในการส่งเสียง ต่อมาอีก 8 เดือน ทั้งสองได้ปรับปรุงโทรศัพท์ให้ดีขึ้น คำพูดแรกที่ใช้ในการส่งข้อความทางโทรศัพท์ครั้งนี้ คือ "คุณวัตสันมานี้หน่อย ผมต้องการคุณ" การที่เบลล์พูดเช่นนี้ก็เพราะเขาได้ทำกรดแบตเตอรี่หกรดเสื้อ เขาเรียกวัตสันจากห้องหนึ่ง วัตสันได้ยินคำพูดของเบลล์ได้อย่าง
ชัดเจน
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1876 เบลล์ได้นำโทรศัพท์เข้าประกวดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่เมืองฟิลลาเดลเฟีย (Philadelphia) และได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์ยอดเยี่ยมในครั้งนี้ด้วย ในช่วงแรกไม่มีกรรมการคนใดให้ความสนใจในสิ่งประดิษฐ์ของเบลล์เลย แม้ว่าเบลล์จะพยายามอธิบายถึงประโยชน์ของโทรศัพท์ แต่เบลล์ก็ยังโชคดีอยู่มาก เมื่อมีกรรมการท่านหนึ่งชื่อ โดม ปริโด รู้จักและนับถือเบลล์ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเสียง และครูสอนคนหูพิการ และเมื่อปริโดได้ทดลองเอาหูแนบตรงหูฟัง ซึ่งเมื่อเขาได้ยินเสียงคนพูดออกมาจากหูฟัง เขารู้สึกตื่นเต้นมากพร้อมกับอุทานออกมาด้วยเสียงอันดัง จนกรรมการที่อยู่บริเวณนั้นเดินเข้ามาดู เมื่อทุกคนทดลองเอาหูแนบกับหูฟัง และได้ยินเสียงคนพูดออกมา ต่างก็ตื่นเต้นและประหลาดใจมาก
และในปีเดียวกันเบลล์ได้เปิดบริษัทร่วมกับวัตสันผู้ช่วยของเขา เพื่อดำเนินการติดตั้งสายโทรศัพท์ ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1876 เบลล์ได้ดำเนินการติดตั้งสายโทรศัพท์จากแบรนด์ฟอร์ดถึงออนตาริโอ ประเทศแคนาดา รวมระยะทาง 8 ไมล์ ต่อมาอีก 2 เดือน เบลล์ได้ติดตั้งโทรศัพท์แบบ 2 ทาง ได้เป็นผลสำเร็จ จากนั้นเขาจึงดำเนินการติดตั้งสายโทรศัพท์จากบอสตันไปยังแมสซาชูเซสรวมระยะทาง 2 ไมล์ กิจการของเบลล์ประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี จนกระทั่งปี ค.ศ.1876 บริษัทของเบลล์ได้ถูกฟ้องร้องจากบริษัท เวสเทิร์น ยูเนียน เทเลกราฟ (Western Union Telegraph Company) ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับโทรเลข แต่ในที่สุดศาลได้ตัดสินให้เบลล์ชนะคดี เบลล์ได้นำโทรศัพท์ของเขาไปจดทะเบียนสิทธิบัตร และก่อตั้งบริษัทขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้ชื่อว่า บริษัท อเมริกันเบลล์ เทเลโฟน (American Bell Telephone Company)
จากผลงานชิ้นนี้ทำให้เบลล์มีชื่อเสียง และเงินทองมากขึ้น เบลล์ได้บริจาคเงินส่วนหนึ่งในการก่อตั้งสมาคมเพื่อคนหูพิการ ชื่อว่า American Association to Promote the Teaching of Speech of Deaf นอกจากนี้เขายังให้การสนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับการบิน ต่อมาในปี ค.ศ.1915 เบลล์ได้รับเชิญไปเปิดผลงานในโอกาสที่ดำเนินการติดตั้งสายโทรศัพท์ข้ามทวีปเป็นครั้งแรก โดยเบลล์ได้พูดสนทนากับวัตสันในคำพูดเดิม คือ "คุณวัตสันมานี้หน่อย ผมต้องการคุณ"
เบลล์ย้ายไปอยู่ที่เมืองโนวา สโคเทีย และอยู่ที่นั่นจนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ.1922
ที่มา
http://siweb.dss.go.th/Scientist/Scientist/Alexander%20Graham%20Bell.html