วันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

อาร์คิมีดีส : Archimedes



อาร์คิมีดีส : Archimedes

เกิด 287 ก่อนคริสต์ศักราช ที่เมืองไซราคิวส์ (Syracuse) เกาะซิซิลี (Sicily)


เสียชีวิต 212 ก่อนคริสต์ศักราช ที่เมืองไซราคิวส์ (Syracuse) เกาะซิซิลี (Sicily)


ผลงาน

- กฎของอาร์คิมีดีส (Archimedes Principle) ที่กล่าวว่า "ปริมาตรของวัตถุส่วนที่จมลงในน้ำย่อมเท่ากับปริมาตรของน้ำที่ถูกแทนที่ด้วยวัตถุ" ซึ่งกฎข้อนี้ได้นำไปใช้ประโยชน์ในการหาความถ่วงจำเพาะของวัตถุ
- ประดิษฐ์เครื่องทุ่นแรง ได้แก่ คานดีดคานงัด รอก ระหัดวิดน้ำ และล้อกับเพลา
- อาวุธสงคราม ได้แก่ เครื่องเหวี่ยงหิน กระจกเว้ารวมแสง และเครื่องปล่อยท่อนไม้

เมื่อเอ่ยชื่ออาร์คิมีดีส ไม่มีใครที่จะไม่รู้จักนามของนักวิทยาศาสตร์เอกผู้นี้ โดยเฉพาะกฎเกี่ยวกับการหาความถ่วงจำเพาะของวัตถุ หรือการหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมงกุฎทองของกษัตริย์เฮียโร (King Hiero) ซึ่งเรื่องนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเล็กน้อยเท่านั้น ถ้าเทียบกับสิ่งประดิษฐ์ และการค้นพบของเขาในเรื่องอื่น เช่น ระหัดวิดน้ำ คานดีดคานงัด ล้อกับเพลา เป็นต้น อาร์คิมีดีสขึ้นชื่อว่าเป็นบิดา แห่งกลศาสตร์ที่แท้จริงเนื่องจากสิ่งประดิษฐ์ของเขามักจะเป็นเครื่องผ่อนแรงที่มีประโยชน์และใช้กันมาจนถึงปัจจุบันนี้

อาร์คิมีดีสเป็นนักปราชญ์ชาวกรีก เกิดที่ เมืองไซราคิวส์ (Syracuse) บนเกาะซิซิลี (Sicily) เมื่อประมาณ 287 ก่อนคริสต์ศักราชบิดาของเขาเป็นนักดาราศาสตร์ชื่อ ไฟดาส (Pheidias) อาร์คิมีดีสมีความสนใจในวิชาคณิตศาสตร์เป็นอย่างมาก เขาจึงเดินทางไปศึกษาวิชาคณิตศาสตร์กับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์นามว่า ซีนอนแห่งซามอส ซึ่งก็เป็นลูกศิษย์คนเก่งของนักปราชญ์เลื่องชื่อลือนามว่า ยูคลิด (Euclid) ที่เมืองอาเล็กซานเดรีย (Alexandria) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางแห่งวิชาการของกรีกในสมัยนั้น

หลังจากที่อาร์คิมีดีส จบการศึกษาแล้ว เขาได้เข้าทำงานในตำแหน่งนักปราชญ์ประจำราชสำนักของพระเจ้าเฮียโร งานชิ้นเอกที่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป คือกฎของอาร์คิมีดีส (Archimedes Principle) หรือ วิธีการหาความถ่วงจำเพาะของวัตถุ (Specific Gravity) ซึ่งเรื่องเกิดขึ้นจากกษัตริย์เฮียโรทรงมีรับสั่งให้ช่างทำมงกุฎทองคำ โดยมอบทองคำให้ช่างทองจำนวนหนึ่ง เมื่อช่างทองนำมงกุฎมาถวาย ทรงเกิดความระแวงในท่าทางของช่างทำทองว่าจะยักยอกทองคำไป และนำโลหะชนิดอื่นมาผสม แต่ทรงไม่สามารถหาวิธีพิสูจน์ได้ ดังนั้นจึงทรงมอบหมายหน้าที่ การค้นหาข้อเท็จจริงให้กับอาร์คิมีดีส ขั้นแรกอาร์คิมีดีสได้นำมงกุฎทองไปชั่งน้ำหนัก ปรากฏว่าน้ำหนักของมงกุฎเท่ากับทองที่กษัตริย์เฮียโรได้มอบให้ไป ซึ่งช่างทองอาจจะนำโลหะชนิดอื่นมาผสมลงไปได้ อาร์คิมีดีสครุ่นคิดเท่าไรก็คิดไม่ออกสักที จนวันหนึ่งเขาไปอาบน้ำที่อ่างอาบน้ำสาธารณะแห่งหนึ่ง ขณะที่น้ำในอ่างเต็ม อาร์คิมีดีสลงแช่ตัวในอ่างอาบน้ำ น้ำก็ล้นออกมาจากอ่างนั้น เมื่อเขาเห็นเช่นนั้นทำให้เขารู้วิธีพิสูจน์น้ำหนักของทองได้สำเร็จ ด้วยความดีใจเขาจึงรีบวิ่งกลับบ้านโดยที่ยังไม่ได้สวมเสื้อผ้า ปากก็ร้องไปว่า "ยูเรก้า! ยูเรด้า! (Eureka)" จนกระทั่งถึงบ้าน เมื่อถึงบ้านเขารีบนำมงกุฎมาผูกเชือกแล้วหย่อนลงในอ่างน้ำที่มีน้ำอยู่เต็ม แล้วรองน้ำที่ล้นออกมาจากอ่าง จากนั้นจึงนำทองในปริมาตรที่เท่ากันกับมงกุฎหย่อน ลงในอ่างน้ำ แล้วทำเช่นเดียวกับครั้งแรก จากนั้นเขาได้นำเงินในปริมาตรที่เท่ากับมงกุฎ มาทำเช่นเดียวกับมงกุฎและทอง ผลการ
ทดสอบปรากฏว่า ปริมาตรน้ำที่ล้นออกมานั้น เงินมีปริมาตรน้ำมากที่สุด มงกุฎรองลงมา และทองน้อยที่สุด ซึ่งจากผลการทดลองครั้งนี้สามารถสรุปได้ว่า ช่างทองนำเงินมาผสมเพื่อทำมงกุฎแน่นอนมิฉะนั้นแล้วปริมาตรน้ำของมงกุฎและทองต้องเท่ากัน เพราะเป็นโลหะชนิดเดียวกัน อาร์คิมีดีสได้นำความขึ้นกราบทูลกษัตริย์เฮียโรให้ ทรงทราบ อีกทั้งแสดงการทดลองให้ชมต่อหน้าพระพักตร์ เมื่อช่างทองเห็นดังนั้นก็รีบรับสารภาพแล้วนำทองมาคืนให้กับกษัตริย์เฮียโรการค้นพบครั้งนี้ของอาร์คิมีดีส ได้ตั้งเป็นกฎชื่อว่ากฎของอาร์คิมีดีส ต่อมานักวิทยาศาสตร์ได้นำหลักการเช่นเดียวกันนี้มาหาความถ่วงจำเพาะของวัตถุต่าง ๆ

อาร์คิมีดีสไม่เพียงแต่พบวิธีหาความถ่วงจำเพาะของวัตถุได้เท่านั้น งานชิ้นสำคัญอีกชิ้นหนึ่งก็คือ การสร้างระหัดวิดน้ำ หรือ ที่มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ระหัดเกลียวของอาร์คิมีดีส (Archimedes Screw)" เพื่อใช้สำหรับวิดน้ำขึ้นมาจากบ่อหรือแม่น้ำ สำหรับใช้ใน การอุปโภคหรือบริโภค ซึ่งทำให้เสียแรงและเวลาน้อยลงไปอย่างมาก การที่อาร์คิมีดีสคิดสร้างระหัดวิดน้ำขึ้นมานั้น ก็เพราะเขาเห็นความลำบากของชาวเมืองในการนำน้ำขึ้นจากบ่อหรือแม่น้ำมาใช้ ซึ่งต้องใช้แรงและเสียเวลาอย่างมาก ระหัดวิดน้ำ ของอาร์คิมีดีสประกอบ ไปด้วยท่อทรงกระบอกขนาดใหญ่ภายในเป็นแกนระหัด มีลักษณะคล้ายกับดอกสว่าน เมื่อต้องการใช้น้ำ ก็หมุนที่ด้ามจับระหัดน้ำก็จะไหลขึ้นมาตามเกลียวระหัดนั้น ซึ่งต่อมามีผู้ดัดแปลงนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ มากมาย เช่น การลำเลียงถ่านหินเข้าสู่เตา และนำเถ้าออกจากเตา การบดเนื้อสัตว์ เป็นต้น

นอกจากนี้อาร์คิมีดีสได้ประดิษฐ์เครื่องผ่อนแรงขึ้นอีกหลายชิ้น เพื่อสร้างความสะดวกสบายให้กับชาวเมือง ได้แก่ คานดีด คานงัด (Law of Lever) ใช้สำหรับในการยกของที่มีน้ำหนักมาก ซึ่งใช้วิธีการง่าย ๆ คือ ใช้ไม้คานยาวอันหนึ่ง และหาจุดรอง รับคานหรือจุดฟัลครัม (Fulcrum) ซึ่งเมื่อวางของบนปลายไม้ด้านหนึ่ง และออกแรงกดปลายอีกด้านหนึ่ง ก็จะสามารถยกของที่มีน้ำหนักมากได้อย่างสบาย

นอกจากคานดีดคานงัดแล้ว อาร์คิมีดีสได้ประดิษฐ์รอก ซึ่งเป็นเครื่องกลสำหรับยกของหนักอีกชนิดหนึ่ง เครื่องกลผ่อนแรงทั้งสองชนิดนี้ อาร์คิมีดีสคิดค้นเพื่อกะลาสีเรือหลวงที่ต้องยกของหนักเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน เครื่องกลผ่อนแรงของอาร์คิมีดีส มีอีกหลายอย่าง ได้แก่ รอกพวง ซึ่งใช้หลักการเดียวกันกับรอกและล้อกับเพลา ใช้สำหรับเคลื่อนย้ายของที่มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก เช่น ก้อนหิน เป็นต้น เครื่องกลผ่อนแรงของอาร์คิมีดีสถือได้ว่าเป็นรากฐานที่สำคัญของวิชากลศาสตร์ และยังเป็นที่นิยมใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งได้มีการนำเครื่องกลผ่อนแรงเหล่านี้มาเป็นต้นแบบเครื่องกลที่สำคัญในปัจจุบัน เช่น ล้อกับเพลา มาใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนของรถยนต์ เป็นต้น อาร์คิมีดีสไม่ได้เพียงแต่สร้างเครื่องกลผ่อนแรงเท่านั้น เขายังมีความชำนาญเกี่ยวกับคณิตศาสตร์

เขาสามารถคำนวณหาพื้นที่หน้าตัดของทรงกรวย ทรงกลม และทรงกระบอกได้ โดยใช้สูตรทางคณิตศษสตร์ที่เขาเป็นคนคิดค้นขึ้น และหาค่าของ p ซึ่งใช้ในการหาพื้นที่ของวงกลม ในปี 212 ก่อนคริสต์ศักราช กองทัพโรมันยกทัพเข้าตีเมืองไซราคิวส์โดยยกทัพเรือมาปิดล้อมเกาะไซราคิวส์ไว้ อาร์คิมีดีสมีฐานะนักปราชญ์ประจำราชสำนัก จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพบัญชา การรบป้องกัน บ้านเมืองครั้งนี้ อาร์คิมีดีสได้ประดิษฐ์อาวุธขึ้นหลายชิ้นในการต่อสู้ครั้งนี้ ได้แก่ เครื่องเหวี่ยงหิน โดยอาศัยหลักการของคานดีดคานงัด เครื่องเหวี่ยงหินของอาร์คิมีดีสสามารถเหวี่ยงก้อนหินข้ามกำแพงไปถูกเรือของกองทัพโรมันเสียหายไปหลายลำ

อาวุธอีกชนิดหนึ่งที่ อาร์คิมีดีสประดิษฐ์ขึ้น คือ โลหะขัดเงามีลักษณะคล้ายกระจกเว้าสะท้อนแสงให้มีจุดรวมความร้อนที่สามารถทำให้เรือของกองทัพโรมัน ไหม้ไฟได้ นอกจากนี้ยังมีเครื่องกลอีกชนิดหนึ่งมีลักษณะคล้ายกับตอรืปิโดในปัจจุบัน เรียกว่า"เครื่องกลส่งท่อนไม้" ซึ่งใช้ส่งท่อนไม้ขนาดใหญ่ด้วยกำลังแรงให้แล่นไปในน้ำ เพื่อทำลายเรือข้าศึก กองทัพโรมันใช้เวลานานถึง 3 ปี กว่าจะยึดเมืองไซราคิวส์ได้สำเร็จ แต่มิได้แพ้เพราะกำลังหรือสติปัญญา แต่แพ้เนื่องจากความประมาท ด้วยในขณะนั้นภายในเมืองไซราคิวส์กำลังเฉลิมฉลองกันอย่างสนุกสนาน เมื่อตีเมืองไซราคิวส์สำเร็จ แม่ทัพโรมัน มาร์เซลลัส (Marcellus) ได้สั่งให้ทหารนำตัวอาร์คิมีดีสไปพบเนื่องจากชื่นชมในความสามารถของอาร์คิมีดีสเป็นอย่างมาก ในขณะที่ตามหาอาร์คิมีดีส ทหารได้พบกับอาร์คิมีดีสกำลังใช้ปลายไม้ขีดเขียนบางอย่างอยู่บนพื้นทราย แต่ทหารผู้นั้นไม่รู้จักอาร์คิมีดีส เมื่อทหารเข้าไปถามหาอาร์คิมีดีสเขากลับตวาด ทำให้ทะเลาะวิวาทกัน ทหารผู้นั้นใช้ดาบแทงอาร์คิมีดีสจนเสียชีวิต เมื่ออาร์เซลลัสทราบเรื่องก็เสียใจเป็นอย่างมากที่ต้องสูญเสียนักปราชญ์ที่มีความสามารถ อย่างอาร์คิมีดีสไป ดังนั้นเขาจึงรับอุปการะครอบครัวของอาร์คิมีดีสและสร้างอนุสาวรีย์ เพื่อให้ระลึกถึงความสามารถของอาร์คิมีดีส อนุสาวรีย์แห่งนี้มีลักษณะรูปทรงกลมอยู่ในทรงกระบอก

จากผลงานการประดิษฐ์เครื่องกลผ่อนแรงของอาร์คิมีดีส ถือได้ว่าเขาเป็นผู้ให้กำเนิดวิชากลศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาที่มีประโยชน์อย่างมหาศาลทั้งในอดีตและปัจจุบัน




ที่มา
http://siweb.dss.go.th/Scientist/Scientist/Archimedes.html

วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ศาสตราจารย์ ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์


ศาสตราจารย์ ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์
นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาชีวเคมี ประจำปีพุทธศักราช 2527

ศ.ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านชีวเคมี มีผลงานเด่นในเรื่องเกี่ยวกับมาลาเรีย ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาชีวเคมี เมื่อปี พ.ศ. 2527 เป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกของโลกที่ค้นพบโครงสร้าง 3 มิติของโปรตีนของเชื้อมาลาเรีย ที่มีความสำคัญโดยเป็นเป้าหมายของยาต้านมาลาเรีย[1] และค้นพบการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างและคุณสมบัติหลายประการของเยื่อหุ้มเม็ดเลือดแดงที่ติดเชื้อมาลาเรีย และความเกี่ยวโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้กับอาการของโรคนี้ทางโลหิตวิทยา ค้นพบเอนไซม์ใหม่และวิถีปฏิกิริยาใหม่ของเชื้อมาลาเรีย โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการสังเคราะห์และใช้สารโฟเลต อันเป็นแนวทางในการพัฒนายาต้านมาลาเรียชนิดใหม่ วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ได้รับโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในคณะรัฐมนตรีของ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์

ประวัติ
ศาสตราจารย์ ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์เกิดวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2487 ที่จังหวัดลพบุรี เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวน 4 คน ของ พ.อ. สรรค์ และนางระเบียบ ยุทธวงศ์ เนื่องจาก พ.อ.สรรค์ ยุทธวงศ์ ซึ่งเป็นบิดาได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่ท่านยังเล็ก ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้เป็นลุง จึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการเป็นนักวิทยาศาสตร์ของท่านมากที่สุด และให้การสนับสนุนมาโดยตลอด ดังนั้น เมื่อได้รับชักชวนจาก ศ.ดร.สตางค์ มงคลสุข คณบดีวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ ให้เห็นความสำคัญของการเรียนวิทยาศาสตร์ และเห็นว่าเป็นเรื่องที่สนุกสนาน ทำให้คิดตัดสินใจสอบชิงทุนไปเรียนต่อยังต่างประเทศในสาขาวิทยาศาสตร์ในเวลาต่อมา

เกียรติคุณและรางวัล
พ.ศ. 2527 - รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาชีวเคมี จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์
พ.ศ. 2541 - รางวัล ASEAN Science and Technology Meritorious Service Award จากองค์การอาเซียน
พ.ศ. 2545 - รางวัลนักเรียนทุนรัฐบาลดีเด่น
พ.ศ. 2546 - รางวัลผลงานวิจัยเกียรติยศ สกว. จากการที่ได้รับการอ้างอิงผลงานวิจัยสูงสุด
พ.ศ. 2547 - Nikkei Asia Prize for Science, Technology and Innovation จาก Nihon Keizai Shimbun ประเทศญี่ปุ่น
พ.ศ. 2547 - ได้รับการคัดเลือกเป็นบุคคลดีเด่นของชาติ โดยคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ
พ.ศ. 2549 - หนังสือพิมพ์ The Nation ได้จัดให้เป็น 1 ใน 35 คนผู้มีบทบาทสูงต่อประเทศไทย ในช่วง 35 ปีที่ผ่านมา

ผลงานวิจัย
งานวิจัยส่วนใหญ่เป็นงานด้านการพัฒนายาต้านมาลาเรีย โดยเฉพาะกลุ่มของยาที่เรียกว่า แอนติโฟเลต และชีวเคมีพื้นฐานของมาลาเรีย ผลงานที่สำคัญ คือการค้นพบกลไกของการดื้อยาแอนติโฟเลตของเชื้อมาลาเรีย ซึ่งเกิดจากการกลายพันธุ์ของเอ็นไซม์ในเชื้อที่เป็นเป้าหมายของยา ได้ค้นพบโครงสร้างของเอ็นไซม์นี้ ทำให้สามารถออกแบบและสังเคราะห์ยาใหม่ที่มีฤทธิ์ต่อเชื้อที่ดื้อยาเก่าได้ มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ 112 เรื่อง เขียนหนังสือและตำรา 11 เรื่อง สิทธิบัตร 3 เรื่อง

ประวัติการทำงาน
พ.ศ. 2512 - เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2526 - ได้รับโปรดเกล้าฯเป็น ศาสตราจารย์ (เมื่ออายุได้ 39 ปี)
พ.ศ. 2532 - ได้รับโปรดเกล้าฯเป็น ศาสตราจารย์ระดับ 11 (เมื่ออายุ 46 ปี)
พ.ศ. 2516-2518 - ทำงานวิจัยหลังปริญญาเอกที่ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส กับ ศาสตราจารย์พอล บอเยอร์ (นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล)
พ.ศ. 2533 - ได้รับเชิญเป็นศาสตราจารย์อาคันตุกะ ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก
ในด้านนโยบายการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย ศาสตราจารย์ ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เป็นแกนหลักที่นำไปสู่การจัดตั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพลังงาน เมื่อปี พ.ศ. 2522 ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เมื่อปี พ.ศ. 2526 และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2534

พ.ศ. 2535-2541 - เป็นผู้อำนวยการคนแรกของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
พ.ศ. 2528-2534 - เป็นผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
พ.ศ. 2534 – ร่วมยกร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
พ.ศ. 2535 - ร่วมจัดตั้งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กรรมการนโยบายและบริการ
พ.ศ. 2543 - กรรมการธนาคารกสิกรไทย
พ.ศ. 2545 - ประธานมูลนิธิบัณฑิตสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
พ.ศ. 2546 - กรรมการยกร่างที่ปรึกษา Scientific Board, Grand Challenges in Global Health Program, Bill and Melinda Gates Foundation
พ.ศ. 2546 - กรรมการ Drugs for Neglected Diseases Initiative, Geneva



หน้าที่การงานในปัจจุบัน
เป็นนักวิจัยอาวุโสที่ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
เป็นที่ปรึกษาอาวุโสของผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

พ.ศ. 2549-ปัจจุบัน - ได้รับโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี



ที่มา
http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B9%8C_%E0%B8%94%E0%B8%A3._%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98_%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C

ศาสตราจารย์ ดร. ม.ร.ว.พุฒิพงศ์ วรวุฒิ


ศาสตราจารย์ ดร. ม.ร.ว.พุฒิพงศ์ วรวุฒิ

นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น พ.ศ. 2527 สาขาสรีรวิทยาการสืบพันธุ์


ศาสตราจารย์ ดร. ม.ร.ว.พุฒิพงศ์ วรวุฒิ มีผลงานวิจัยอันเป็นงานบุกเบิกที่ช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกการกำเนิดและการคุมกำเนิดในสัตว์ทดลองพวกฟันแทะและลิงหางยาวหรือลิงแสม โดยเน้นหาความสัมพันธ์ในการควบคุมทั้งที่ระดับต่อมใต้สมองและระดับรังไข่ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการควบคุมการ ฝังตัวของบลาสโตซิสที่เยื่อบุผนังมดลูก พร้อมกันนี้ยังสร้างกลุ่มวิจัยในลิงหางยาวที่หน่วยวิจัยไพรเมท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประวัติ
เกิด 4 มกราคม 2475 เป็นบุตรคนที่ 3 ของ ม.จ.วรพงษ์ทัศนาและหม่อมบุญเทียม เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนแสงวิทยา มัธยมศึกษาที่โรงเรียนพันธุ์พิศวิทยา โรงเรียนพระนครวิทยาลัย ระดับเตรียมอุดมที่โรงเรียนพระนครวิทยาลัย เข้าศึกษาที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ สาขาชีววิทยา เข้ารับราชการครั้งแรกแผนกชีววิทยา จุฬาฯ ต่อมาได้รับการศึกษาต่อต่างประเทศระดับปริญญาโทด้านสัตววิทยา มหาวิทยาลัยดคโรราโดและทุนโซโลมอน บี คอล์กเกอร์ ในระดับปริญญาเอก สาขาสรีรวิทยาการสืบพันธุ์ จากสถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์มัน อิสราเอล

ผลงานวิจัย
ในปี พ.ศ. 2527 ได้รับการคัดเลือกจากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาชีววิทยา ผลงานเด่น ๆ หลายชิ้น เช่น ประสบผลสำเร็จในการเลี้ยงและการแพร่พันธุ์หนูขาวพันธุ์วิสตาร์บริสุทธิ์ ซึ่งใช้ในการศึกษา และประสบผลสำเร็จในการสร้างกลุ่มสัตว์ทดลองโกลเด้นแฮมสเตอร์ ริเริ่มสร้างลิงแสมซึ่งเป็นรูปแบบสัตว์ทดลองที่ใกล้เคียงมนุษย์มาก ซึ่งสามารถผสมพันธุ์ได้จนเพียงพอกับการวิจัย เพราะความมุ่งมั่นพัฒนาการวิจัยอย่างต่อเนื่อง อาจารย์จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ริเริ่มบุกเบิกให้มีการศึกษาวิจัยด้านสรีรวิทยาการสืบพันธุ์เป็นคนแรกของไทย




ที่มา
http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B9%8C_%E0%B8%94%E0%B8%A3._%E0%B8%A1.%E0%B8%A3.%E0%B8%A7.%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%92%E0%B8%B4%E0%B8%9E%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C_%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B8%E0%B8%92%E0%B8%B4

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี


ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี
นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น พ.ศ. 2526 สาขาชีววิทยา (พันธุศาสตร์)


ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี เป็นผู้ค้นพบกลไกทางพันธุศาสตร์ของโรคแอลฟ่าธาลัสซีเมีย โดยพบว่ามียีนแอลฟ่าธาลัสซีเมียสองชนิด และได้ให้ชื่อว่า แอลฟ่าธาลัสซีเมีย 1 และแอลฟ่าธาลัสซีเมีย 2

ประวัติ
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี เกิดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2474 จังหวัดกาญจนบุรี

เป็นบุตรนายคลาย และนางกิม วะสี การศึกษาเรียนชั้นประถมและมัธยมต้นที่ จังหวัดกาญจนบุรี และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เตรียมแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

เข้ารับราชการเป็นแพทย์ประจำบ้านเริ่มทำการวิจัยเกี่ยวกับโรคเลือด จนได้รับทุนอานันทมหิดลไปศึกษาต้นโลหิตวิทยา ที่มหาวิทยาลัยโคโรราโด และการวิจัยด้านพันธุศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยลอนดอนและกลับมารับราชการทำการสอนและวิจัยต่อมา

ผลงานวิจัย
อาจารย์ประเวศเป็นผู้ศึกษาและเข้าใจธรรมชาติของเลือดในทุกเรื่องอย่างละเอียด สามารถทำความเข้าใจถึงความผิดปกติของสายลูกโซ่โกลบินในฮีโมโกลบินของเม็ดเลือดแดง ที่ก่อให้เกิดโรคโลหิตจางที่เรียกว่า “โรคธาลัสซีเมีย” โรคนี้เป็นมากในประเทศเทศไทย ลาว กัมพูชา เป็นความผิดปกติ ในสายโซ่ ของฮีโมโกลบิน จนท่านศึกษาจนพบว่า แอลฟ่า-ธาลัสซีเมียสองชนิด คือ แอลฟา-ธาลัสซีเมีย 1 และ แอลฟ่า-ธาลัสซีเมีย 2 ซึ่งมีองค์ประกอบต่างๆ จะทำให้เกิดอาการและการสืบเนื่องทางพันธุกรรมต่างกัน

งานวิจัยชิ้นนี้เป็นที่ยอมรับและยกย่องของวงการวิทยาศาสตร์ทั่วโลก เพราะเป็นการช่วยสร้างพื้นฐานความเข้าใจ ผลงานท่านได้รับการตีพิมพ์ ทั้งในและต่างประเทศ และได้รับเชิญไปเป็นที่ปรึกษาการวิจัยขององค์การอนามัยโลก และเป็นวิทยากรบรรยายยังสถาบันต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ

จากผลงานการทำงานอย่างมุ่งมั่นถึงความสำคัญของโรคที่จะมีผลกระทบต่างๆ มากมายที่จะตามมานายแพทย์ประเวศได้มุ่งมั่น-ทุ่มเททั้งกำลังกายและใจจนเป็นที่ยอมรับของทุกหน่วยงานจนได้รับรางวัลแมกไซไซ และการคัดเลือกให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น จากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ.2526


ที่มา
http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B9%8C_%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%A8_%E0%B8%A7%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B5

ศาสตราจารย์ ดร. วิรุฬห์ สายคณิต


ศาสตราจารย์ ดร. วิรุฬห์ สายคณิต

ศาสตราจารย์ ดร. วิรุฬห์ สายคณิต นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น พ.ศ. 2525 สาขาฟิสิกส์ และ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2529 สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์

ศาสตราจารย์ ดร. วิรุฬห์ สายคณิต เสนอทฤษฎีใหม่อธิบายพฤติกรรมการเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอนในสิ่งแวดล้อมที่ไร้ระเบียบ ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจถึงคุณสมบัติต่างๆ ของสารจำพวกอสัณฐานกึ่งตัวนำ สารผลึกกึ่งตัวนำที่มีสิ่งเจือปนสูง ฯลฯ อันเป็นการก่อให้เกิดวิวัฒนาการในวงการอิเลกทรอนิกส์ เพราะสารเหล่านี้มีประโยชน์ในการใช้ผลิตแสงเลเซอร์ เซลล์แสงอาทิตย์ อุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์

ประวัติ
ศาสตราจารย์ ดร. วิรุฬห์ สายคณิต เกิดวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2483 จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาฟิสิกส์ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์ทฤษฎี จาก Institute of Theoretical Physics, Gothenburg, Sweden

ศาสตราจารย์ วิรุฬห์ สายคณิต เป็นผู้มีจิตใจและวิญญาณของนักวิทยาศาสตร์โดยแท้จริง นอกจากการอุทิศตนทำการศึกษาค้นคว้าอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาและทำการเผยแพร่ผลงานต่อวงวิชาการแล้ว ยังได้ทำการสอนและปลูกฝัง สร้างความสามารถให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ทั้งการสอนในหลักสูตร และการเป็นหัวหน้ากลุ่มงานวิจัย หรือผู้กระตุ้นส่งเสริมงานวิจัยในรูปแบบต่างๆ อีกทั้งเป็นผู้มีอัธยาศัยน่านิยม มีความสุภาพอ่อนน้อมถ่อมตน ในขณะเดียวกันก็สามารถแสดงความเป็นผู้นำทางวิชาการให้เป็นที่เลื่อมใสยอมรับ ทั้งนิสิต อาจารย์ และนักวิทยาศาสตร์อื่นๆ ตลอดจนยอมเสียสละในการผลักดันความก้าวหน้าทางวิชาการ โดยการรับหน้าที่นายกสมาคมฟิสิกส์ไทย และเข้าร่วมในกิจกรรมอื่นๆ ที่มีประโยชน์

ด้วยผลงานวิชาการและจริยธรรมอันดีเด่น ศาสตราจารย์ วิรุฬห์ สายคณิต ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่ตั้งเป็น ศาสตราจารย์ วิชาฟิสิกส์ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 40 ปี เคยได้รับรางวัลรัชดาภิเษกสมโภชประเภทผลงานวิจัยดีเด่น จากจุฬาลงกรณ์ รางวัลวิจัยดีเด่นของสภาวิจัยแห่งชาติ และรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ศาสตราจารย์ วิรุฬห์ สายคณิต ได้รับราชการเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาตั้งแต่ต้น ปัจจุบันนอกจากตำแหน่งศาสตราจารย์วิชาฟิสิกส์แล้ว ยังเป็นผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการวิจัยฟิสิกส์สารกึ่งตัวนำของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาชิกอาวุโสแห่งสถาบันฟิสิกส์ทฤษฎีนานาชาติของสหประชาชาติด้วย


ที่มา
http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B9%8C_%E0%B8%94%E0%B8%A3._%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%AC%E0%B8%AB%E0%B9%8C_%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%84%E0%B8%93%E0%B8%B4%E0%B8%95

วันพุธที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ : Alexander Graham Bell


อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ : Alexander Graham Bell

เกิด วันที่ 3 มีนาคม ค.ศ.1847 ที่เมืองเอดินเบิร์ก (Edinburg) ประเทศสก็อตแลนด์ (Scotland)


เสียชีวิต วันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ.1922 ที่เมืองโนวา สโคเทีย (Nova Scotia)


ผลงาน

- ประดิษฐ์โทรศัพท์ ในปี ค.ศ.1876
- ก่อตั้งสมาคมแนะนำ และสอนคนหูพิการ ชื่อว่า American Association to Promote the Teaching of
Speech to Deaf

การติดต่อสื่อสารถือได้ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากทั้งในอดีต ปัจจุบัน รวมถึงต่อไปอนาคต ในอดีตมนุษย์ใช้วิธีการส่งข่าวสารถึงกันด้วยวิธีต่าง ๆ มากมาย เช่น ใช้นกพิราบ ควันไฟ เป็นสัญญาณ หรือการใช้มนุษย์เดินทางส่งข่าวสาร ซึ่งแต่ละวิธีที่ได้กล่าวมา ล้วนแต่ล่าช้า ไม่สะดวก อีกทั้งเกิดความผิดพลาดได้ง่าย ต่อมาแซมมวล มอร์ส นักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน ได้ประดิษฐ์โทรเลขทำให้การสื่อสารมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้นอีกลำดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่สามารถส่งคำพูดได้ จนกระทั่งเบลล์สามารถประดิษฐ์โทรศัพท์ขึ้นสำเร็จ ทำให้การสื่อสารมีความเจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก ในปัจจุบันโทรศัพท์เป็นเครื่องมือสื่อสารที่มีความสำคัญมากสำหรับการติดต่อสื่อสารเพราะสะดวกรวดเร็ว ประหยัดทั้งค่าใช้จ่าย และเวลา

เบลล์เกิดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ.1847 ที่เมืองเอดินเบิร์ก (Ddinburg) ประเทศสก๊อตแลนด์ (Scotland) บิดาของเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับภาษาที่ใช้สำหรับคนหูพิการ ชื่อว่า อเล็กซานเดอร์ เมลวิน เบลล์ (Alexander Melvin Bell) การที่บิดาของเบลล์ได้ศึกษาเกี่ยวกับคนหูพิการ เพราะปู่ของเบลล์ได้ศึกษาเรื่องนี้มาก่อน อีกทั้งมารดาของเขาก็เป็นคนหูพิการ และเพราะเหตุนี้เองทำให้เบลล์สามารถใช้ภาษาใบ้ อ่านริมฝีปาก และแยกแยะเสียงได้อย่างละเอียด โดยทั้งหมดนี้เบลล์ได้รับการถ่ายทอดมาจากบิดาของเขานั่นเอง เบลล์มีพี่ชายคนหนึ่งซึ่งเสียชีวิตด้วยโรควัณโรค แม้ว่าเบลล์จะโชคดีที่ไม่เสียชีวิต แต่เขาก็ติดโรคมาจากพี่ชายซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ สุขภาพของเบลล์จึงไม่ค่อยดีนัก เบลล์ได้รับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนเอดินเบิร์ก (Edinburg School) จากนั้นเบลล์ได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยลอนดอน (London University) เมื่อจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยลอนดอน เบลล์ได้เดินทางไปประเทศเยอรมนี เพื่อเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยวูซเบิร์ก จนจบการศึกษาระดับปริญญาเอกในปี ค.ศ. 1867



หลังจากจบการศึกษาเบลล์ได้ทำงานเป็นผู้ช่วยของบิดาในการสอนและพัฒนาคนหูพิการ จนกระทั่งในปี ค.ศ.1870 อาการป่วยของเบลล์ได้ทรุดหนักขึ้น เบลล์จึงเดินทางพร้อมกับบิดาไปอยู่ที่เมืองออนตาริโอ (Ontario) ประเทศแคนาดา (Canada) ตามคำแนะนำของแพทย์ว่าควรไปพักในสถานที่ที่มีออนตาริโอ (Ontario) ประเทศแคนนาดา (Canada) ตามคำแนะนำของ แพทย์ว่าควรไปพักในสถานที่ที่มีอากาศดี เมื่อเขารักษาตัวจนอาการทุเลาลง เบลล์ได้เดินทางไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา (United State of America) และเข้าทำงานในตำแหน่งอาจารย์สอนการออกเสียงที่มหาวิทยาลัยบอสตัน (Boston University)

จากความสามารถของเบลล์ เขาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์สอนวิชาสรีรวิทยาว่าด้วยเรื่องเสียง เบลล์ได้พยายามประดิษฐ์เครื่องมือสำหรับคนหูพิการให้มีโอกาสได้ยินเสียงเหมือนเช่นคนปกติ ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นโทรศัพท์

ด้วยความที่เบลล์เป็นคนที่ชอบเล่นเปียโน วันหนึ่งเขาสังเกตว่าเสียงเพลงจากเปียโนเกิดจากการสั่นสะเทือนของเส้นลวดเพราะฉะนั้นเส้นลวดน่าจะเป็นตัวนำเสียงจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้ ในปี ค.ศ.1873 เบลล์ได้ทำงานเป็นครูสอนหนังสือในโรงเรียนคนหูพิการที่เมืองบอสตัน และต่อมาเบลล์ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์สรีรวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านโสตและเสียง และในระหว่างนี้เบลล์ได้ทำการทดลองค้นคว้าเพื่อจะส่งเสียงตามสาย เขาได้ร่วมมือกับโทมัส เอ. วัตสัน (Thomas A. Watson) ผู้ช่วยของเขา ซึ่งเป็นลูกชายเจ้าของร้านขายอุปกรณ์เกี่ยวกับไฟฟ้า ที่เบลล์ได้ซื้ออุปกรณ์เกี่ยวกับการทดลองเป็นประจำ

ทั้งสองประสบความสำเร็จในการประดิษฐ์โทรศัพท์ในปี ค.ศ.1876 โดยการใช้เส้นลวดโยงจากห้องหนึ่งไปยังอีกห้องหนึ่งส่วนปลายทั้งสองข้างจะเป็นหูฟัง ซึ่งภายในประกอบไปด้วยแท่งแม่เหล็กพันด้วยทองแดง ต่อจากนั้นจะเป็นแผ่นเหล็กบาง ๆ เพื่อพูดใส่กระบอกนี้จะเกิดการสั่นสะเทือน ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าในขดลวด แต่ผลการทดลองในครั้งแรกยังไม่ประสบความสำเร็จเพราะไม่สามารถเข้าใจในคำพูดที่ส่งมาทางโทรศัพท์ได้ แต่ก็ประสบความสำเร็จในการส่งเสียง ต่อมาอีก 8 เดือน ทั้งสองได้ปรับปรุงโทรศัพท์ให้ดีขึ้น คำพูดแรกที่ใช้ในการส่งข้อความทางโทรศัพท์ครั้งนี้ คือ "คุณวัตสันมานี้หน่อย ผมต้องการคุณ" การที่เบลล์พูดเช่นนี้ก็เพราะเขาได้ทำกรดแบตเตอรี่หกรดเสื้อ เขาเรียกวัตสันจากห้องหนึ่ง วัตสันได้ยินคำพูดของเบลล์ได้อย่าง
ชัดเจน

ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1876 เบลล์ได้นำโทรศัพท์เข้าประกวดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่เมืองฟิลลาเดลเฟีย (Philadelphia) และได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์ยอดเยี่ยมในครั้งนี้ด้วย ในช่วงแรกไม่มีกรรมการคนใดให้ความสนใจในสิ่งประดิษฐ์ของเบลล์เลย แม้ว่าเบลล์จะพยายามอธิบายถึงประโยชน์ของโทรศัพท์ แต่เบลล์ก็ยังโชคดีอยู่มาก เมื่อมีกรรมการท่านหนึ่งชื่อ โดม ปริโด รู้จักและนับถือเบลล์ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเสียง และครูสอนคนหูพิการ และเมื่อปริโดได้ทดลองเอาหูแนบตรงหูฟัง ซึ่งเมื่อเขาได้ยินเสียงคนพูดออกมาจากหูฟัง เขารู้สึกตื่นเต้นมากพร้อมกับอุทานออกมาด้วยเสียงอันดัง จนกรรมการที่อยู่บริเวณนั้นเดินเข้ามาดู เมื่อทุกคนทดลองเอาหูแนบกับหูฟัง และได้ยินเสียงคนพูดออกมา ต่างก็ตื่นเต้นและประหลาดใจมาก

และในปีเดียวกันเบลล์ได้เปิดบริษัทร่วมกับวัตสันผู้ช่วยของเขา เพื่อดำเนินการติดตั้งสายโทรศัพท์ ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1876 เบลล์ได้ดำเนินการติดตั้งสายโทรศัพท์จากแบรนด์ฟอร์ดถึงออนตาริโอ ประเทศแคนาดา รวมระยะทาง 8 ไมล์ ต่อมาอีก 2 เดือน เบลล์ได้ติดตั้งโทรศัพท์แบบ 2 ทาง ได้เป็นผลสำเร็จ จากนั้นเขาจึงดำเนินการติดตั้งสายโทรศัพท์จากบอสตันไปยังแมสซาชูเซสรวมระยะทาง 2 ไมล์ กิจการของเบลล์ประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี จนกระทั่งปี ค.ศ.1876 บริษัทของเบลล์ได้ถูกฟ้องร้องจากบริษัท เวสเทิร์น ยูเนียน เทเลกราฟ (Western Union Telegraph Company) ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับโทรเลข แต่ในที่สุดศาลได้ตัดสินให้เบลล์ชนะคดี เบลล์ได้นำโทรศัพท์ของเขาไปจดทะเบียนสิทธิบัตร และก่อตั้งบริษัทขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้ชื่อว่า บริษัท อเมริกันเบลล์ เทเลโฟน (American Bell Telephone Company)

จากผลงานชิ้นนี้ทำให้เบลล์มีชื่อเสียง และเงินทองมากขึ้น เบลล์ได้บริจาคเงินส่วนหนึ่งในการก่อตั้งสมาคมเพื่อคนหูพิการ ชื่อว่า American Association to Promote the Teaching of Speech of Deaf นอกจากนี้เขายังให้การสนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับการบิน ต่อมาในปี ค.ศ.1915 เบลล์ได้รับเชิญไปเปิดผลงานในโอกาสที่ดำเนินการติดตั้งสายโทรศัพท์ข้ามทวีปเป็นครั้งแรก โดยเบลล์ได้พูดสนทนากับวัตสันในคำพูดเดิม คือ "คุณวัตสันมานี้หน่อย ผมต้องการคุณ"

เบลล์ย้ายไปอยู่ที่เมืองโนวา สโคเทีย และอยู่ที่นั่นจนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ.1922





ที่มา
http://siweb.dss.go.th/Scientist/Scientist/Alexander%20Graham%20Bell.html

จอร์จ เวสติงเฮาส์ : George Westinghouse


จอร์จ เวสติงเฮาส์ : George Westinghouse

เกิด วันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ.1845 ที่รัฐนิวยอร์ค (New York) ประเทศสหรัฐอเมริกา (United State of America)


เสียชีวิต วันที่ 12 มีนาคม ค.ศ.1914 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา (United State of America)


ผลงาน

- ปรับปรุงระบบการหยุดรถของรถไฟ
- ออกแบบระบบการส่งก๊าซธรรมชาติ

เวสติงเฮาส์เกิดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ.1845 ที่รัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา บิดาของเขาเป็นชาวยุโรปชื่อว่า จอร์จ เวสติงเฮาส์ ซีเนียร์ (George Westinghouse Senior) แต่ได้อพยพมาอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา บิดาของเขาได้เปิดบริษัทผลิตเครื่องมือกสิกรรมขึ้นชื่อว่า จึ.เวสติงเฮาส์ (G. Westinghouse and Company Limit) และด้วยเหตุนี้เวสติงเฮาส์จึงมีความสนใจและศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเครื่องยนต์กลไกมาตั้งแต่เด็ก ต่อมาในปี ค.ศ.1855 บิดาของเขาได้ย้ายไปสร้างโรงงานที่เมืองสเชเนคทาดี (Schenectady) เวสติงเฮาส์จึงเข้าเรียนขั้นต้นที่โรงเรียนในเมืองแห่งนี้


หลังจากนั้นเขาได้เข้าศึกษาที่วิทยาลัยยูเนียม (Union College) แต่เรียนอยู่ได้ไม่นานเขาก็ลาออกจากโรงเรียน เพราะต้องการศึกษาภาคปฏิบัติมากกว่าการนั่งเรียนทฤษฎีอย่างน่าเบื่อหน่ายในชั้นเรียน หลังจากลาออกจากโรงเรียนแล้วเขาได้เข้าทำงานในบริษัทของบิดาในตำแหน่งชางเครื่อง นอกจากนี้เขาได้ใช้เวลาว่างออกแบบเครื่องจักรขึ้นมาเครื่องหนึ่ง เมื่อเขาออกแบบเสร็จเวสติงเฮาส์ได้ร่วมหุ้นกับเพื่อน ๆ ตั้งบริษัทสร้างเครื่องยนต์ยกรถไฟตกราง ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี บริษัทรถไฟต่างก็สั่งซื้อไว้ใช้งาน

หลังจากนั้น จอร์จ สตีเฟนสัน (George Stepenson) สามารถสร้างและพัฒนาหัวจักรรถไฟให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จนกระทั่งกิจการรถไฟมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งสำคัญที่เป็นปัญหาอย่างหนึ่งของการเดินรถไฟก็คือ การหยุดขบวนรถไฟ ซึ่งในขณะนั้นต้องใช้พนักงานห้ามล้อในแต่ละขบวนดึงโซ่ให้ตึง ก่อนที่รถจะถึงสถานีประมาณ 1/2 ไมล์ ซึ่งอาจจะไม่ พร้อมกันเลยทีเดียว ทำให้เกิดการชนกระแทกกันระหว่างขบวนได้ง่าย เป็นอันตรายต่อผู้โดยสารมาก และทำให้พนักงาน ห้ามล้อต้องเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ เนื่องจากที่ห้ามล้อของรถไฟขบวนสุดท้ายอยู่บนหลังคา พนักงานห้ามล้อต้องปีนขึ้นไปบนหลังคา บางครั้งก็ตกลงมา โดยเฉพาะในฤดูหนาวและฤดูฝน การปีนขึ้นหลังคาเป็นไปด้วยความยากลำบาก นอกจากนี้ยังมีอุโมงค์ สะพาน ที่เป็นอุปสรรค และก่อให้เกิดอันตรายได้อีก แม้ว่าจะมีบริษัทรถไฟหลายแห่งพยายามหาวิธีสร้างระบบห้ามล้อให้มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยมากกว่า แต่ก็ยังไม่มีผู้ใดทำสำเร็จ

เวสติงเฮาส์ก็เป็นผู้หนึ่งที่ให้ความสนใจในเรื่องนี้ แต่ในขณะนั้นเวสติงเฮาส์ได้เกิดความขัดแย้งกับหุ้นส่วน เขาจึงแยกออกมาตั้งบริษัทของตนเองที่เมืองพิทซเบิร์ก รัฐเพนน์ซิลวาเนีย ในระหว่างนี้เขาได้ทำการศึกษาระบบห้ามล้ออย่างละเอียด เวสติงเฮาส์ สามารถคิดระบบห้ามล้อด้วยแรงดันอากาศ ซึ่งเขาได้แรงบันดาลใจมาจากการใช้อากาศอัดในการขุดอุโมงค์รถไฟลอดใต้ภูเขาเซนิส ระบบห้ามล้อของเวสติงเฮาส์ประกอบไปด้วยลูกสูบที่ใช้พลังงานไอน้ำ สำหรับอันอากาศแล้วส่งไปตามท่อลงไปนี้ล้อรถไฟทุกล้อในขบวน วิธีนี้ไม่ต้องใช้พนักงานห้ามล้อไปเสี่ยงอันตรายอีกต่อไป เพราะคนขับรถไฟสามารถบังคับรถไฟให้หยุดโดยตรง
ผลงานของเขาชิ้นนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เวสติงเฮาส์ได้ก่อตั้งบริษัทขึ้นเพื่อผลิตระบบห้ามล้อโดยใช้ชื่อว่า "บริษัทห้ามล้อลมเวสติงเฮาส์" บริษัทของเวสติงเฮาส์ได้ขยายสาขาออกไปตามประเทศต่าง ๆ หลายแห่ง ได้แก่ ฝรั่งเศส อังกฤษ และ รัสเซีย


ต่อมาเวสติงเฮาส์ได้พัฒนาและปรับปรุงระบบห้ามล้อของเขา จนสามารถใช้ได้ในรถไฟบรรทุกสินค้าที่มีขบวนยาว ๆ ถึง 50 ตู้ ได้ นอกจากนี้เขายังทำให้การหยุดรถไฟมีความนิ่มนวลมากขึ้น ทำให้มีผู้คนหันมานิยมการโดยสารรถไฟมากขึ้นกว่าแต่ก่อน นอกจานี้เขายังประดิษฐ์อุปกรณ์ควบคุมการเดินรถไฟ หรือเครื่องสับรางรถไฟโดยใช้อากาศอัด และควบคุมด้วยไฟฟ้า

ในขณะนั้นได้มีการขุดพบบ่อก๊าซธรรมชาติบริเวณใกล้ ๆ กับบ้านของเวสติงเฮาส์ เขาจึงทดลองขุดหาก๊าซธรรมชาติภายในบริเวณบ้านของเขาดูบ้าง ปรากฏว่าบริเวณนั้นเป็นบ่อก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่มาก ดังนั้นเวสติงเฮาส์จึงได้ออกแบบวาล์วเปิด-ปิดบ่อก๊าซธรรมชาติ และออกแบบวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติไปยังโรงงานภายในเมืองพิทซเบิร์ก เขาได้ตั้งบริษัทชื่อว่า "บริษัทฟิลลาเดเฟีย" เพื่อจัดจำหน่ายก๊าซ แม้ว่าในตอนแรกทางผู้บริหารรัฐไม่ยินยอม เพราะเกรงว่าจะเกิดอันตราย แต่ในที่สุดก็ต้องยอมเพราะประโยชน์ของก๊าซธรรมชาติ ทำให้เมืองพิทซเบิร์กกลายเป็นศูนย์กลางในการถลุงแร่เหล็กที่ใหญ่ที่สุด นอกจากนี้เขายังได้ปรับปรุงเครื่องวัดปริมาณก๊าซเครื่องเจาะบ่อก๊าซ และปรับปรุงระบบส่งก๊าซ

ในขณะนั้นโทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) ได้ก่อตั้งบริษัทผลิตกระแสไฟฟ้าขึ้นมา และจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับประชาชนใช้ได้ทั่วไปแล้วก็ตาม แต่ก็ยังประสบปัญหาค่าไฟฟ้าแพงอยู่ เนื่องจากต้องใช้สายไฟขนาดใหญ่ และต้องสร้างโรงงาผลิตกระแสไฟฟ้าขึ้นทุก ๆ 2,000-8,000 ไมล์ เพราะแรงดันไฟฟ้าต่ำ เวสติงเฮาส์จึงได้ตั้งบริษัทขึ้นเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และจัดจำหน่ายกระแสไฟฟ้าชื่อว่า "บริษัทไฟฟ้าเวสติงเฮาส์" โดยเขาได้ดัดแปลงระบบการส่งไฟฟ้าจากกระแสตรงมาเป็นกระแสสลับ ซึ่งทำให้ไม่ต้องใช้สายไฟขนาดใหญ่ และสร้างโรงงานไฟฟ้าหลายแห่ง ทำให้ราคาค่าไฟถูกลง ในปี ค.ศ.1886 ได้มีการส่งไฟฟ้ากระแสสลับไปยังเมืองบัฟฟาโลเป็นครั้งแรก ต่อมาระบบนี้ก็เป็นที่นิยมกันมาก ทำให้เกิดความขัดแย้งกับริษัทผลิตไฟฟ้าของเอดิสัน แต่ในที่สุดเรื่องก็ต้องยุติลงเมื่อเวสติงเฮาส์นำโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากน้ำตกไนแองการาไปแสดงในงานสินค้าโลกที่เมืองชิคาโก และแสดงให้เห็นว่าไฟฟ้ากระแสสลับมีประสิทธิภาพในการส่งมากกว่ากระแสตรง

แม้ว่าเขาจะประสบความสำเร็จทั้งชื่อเสียงและเงินทอง เขาก็ยังค้นคว้าและปรับปรุงงานด้านผลิตกระแสไฟฟ้าอยู่ตลอดรวมถึงประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ออกมาอีกหลายชนิด ในปี ค.ศ.1913 เวสติงเฮาส์ได้ล้มป่วยและอาการของเขาทรุดหนักลงเรื่อย ๆ จนไม่สามารถเดินได้ และเสียชีวิตในวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ.1914 ศพของเขาถูกฝังอยู่ที่สุสานแห่งชาติอาร์ลิงตัน รัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งเป็นสุลานที่ฝังศพบุคคลสำคัญของประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ในปี ค.ศ.1930 พนักงานของบริษัทเวสติงเฮาส์ ได้ร่วมใจกันบริจาคเงินเพื่อสร้างอนุสาวรีย์ของเวสติงเฮาส์ขึ้นที่สวนสาธารณะเชเฮนเลย์ (Schenley Park) และในปี ค.ศ.1935 ทางมหาวิทยาลัยนิวยอร์คได้หล่อรูปครึ่งตัวของเวสติงเฮาส์ตั้งไว้ที่ Hall of Fame for Great America ร่วมกับบุคคลสำคัญท่านอื่นของประเทศ



ที่มา
http://siweb.dss.go.th/Scientist/Scientist/George%20Westinghouse.html

ปีทาโกรัส : Pythagoras


ปีทาโกรัส : Pythagoras

เกิด 582 ก่อนคริสต์ศักราช ที่เมืองซามอส (Samos) ประเทศกรีซ (Greece)

เสียชีวิต 507 ก่อนคริสต์ศักราช ที่เมืองเมตาปอนตัม (Metapontum)

ผลงาน
- สร้างสูตรคูณหรือตารางปีทาโกเรียน (Pythagorean Table)
- ทฤษฎีบทเรขาคณิตที่ว่า "ในรูปสามเหลี่ยมมุมฉากใด ๆ กำลังสองของความยาวของด้านตรงข้ามมุมฉาก
เท่ากับผลบวกของกำลังสองของความยาวของด้านประกอบมุมฉาก"
- สมบัติของแสง และการมองวัตถุ
- สมบัติของเสียง

ปีทาโกรัส เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะของนักคณิตศาสตร์ผู้คิดค้นสูตรคูณ หรือตารางปีทาโกเรียน (Pythagorean Table) และทฤษฎีบทในเรขาคณิตที่ว่า "ในรูปสามเหลี่ยมมุมฉากใด ๆ กำลังสองของความยาวของด้านตรงข้ามมุมฉาก เท่ากับผลบวกของกำลังสองของความยาวของด้านประกอบมุมฉาก" ซึ่งทฤษฎีทั้งสองนี้เป็นที่ยอมรับ และใช้กันมาจนปัจจุบันนี้

ปีทาโกรัสเกิดเมื่อประมาณ 582 ก่อนคริสต์ศักราช ที่เมืองซามอส (Samos) ประเทศกรีซ ปีทาโกรัสเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์ ทฤษฎีของเขาได้นำมาพิสูจน์และพบว่าถูกต้องน่าเชื่อถือและใช้กันมาจนถึงปัจจุบันนี้ เนื่องจากปีทาโกรัสเป็นนักปราชญ์ที่เกิดก่อนคริสต์ศักราชถึง 500 ปี ดังนั้นประวัติชีวิตส่วนตัวของเขาจึงไม่มีการบันทึกไว้มากนัก เท่าที่มีการบันทึกไว้พบว่า เขาเป็นคนฉลาดหลักแหลม มีความสามารถ และเป็นที่นับถือของชาวเมืองมากทีเดียว

เมื่อปีทาโกรัสอายุได้ 16 เขาได้เดินทางไปศึกษาวิชากับเทลีส (Thales) นักปราชญ์เอกคนแรกของโลก แม้ว่าเทลีสจะเป็นผู้ที่มีความรู้กว้างขวางในหลายสาขาวิชา และได้ถ่ายทอดความรู้เหล่านั้นให้กับปีทาโกรัสจนหมดสิ้น แต่ปีทาโกรัสก็ยังต้องการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอีก ดังนั้นในปี 529 ก่อนคริสต์ศักราช ปีทาโกรัสจึงออกเดินทางไปตามเมืองต่าง ๆ เช่น อาระเบีย เปอร์เซีย อินเดีย และอียิปต์ตามลำดับ เขาได้กลับจากการ
เดินทางกลับเกาะซามอส และพบว่าเกาะซามอสได้อยู่ในความปกครองของโพลีเครตีส (Polycrates) และอีกส่วนหนึ่งได้ตกเป็นของเปอร์เซีย เมื่อปีทาโกรัสเห็นเช่นนั้น จึงเดินทางออกจากเกาะซามอสไปอยู่ที่เมืองโครตอน (Croton) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอิตาลี

และที่เมืองโครตอนนี้เองปีทาโกรัสได้ตั้งโรงเรียนขึ้น โรงเรียนของปีทาโกรัสจะสอนเน้นหนักไปในเรื่องของปรัชญาคณิตศาสตร์ และดาราศาสตร์ เกี่ยวกับคณิตศาสตร์ปีทาโกรัสได้กล่าวว่า "คณิตศาสตร์เป็นพื้นฐานของทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าไม่มีคณิตศาสตร์แล้ว ทุกอย่างก็จะไม่เกิดขึ้น"

ข้อเท็จจริงข้อนี้ถือว่าถูกต้องที่สุด เพราะไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้าง การคำนวณหาระยะทางหรือแม้กระทั่งการประดิษฐ์เครื่องใช้ การค้นพบเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ของเขา ได้แก่ การพบเลขคี่ โดยเลข 5 เป็นเลขคี่ตัวแรกของโลกและเลขยกกำลังสอง นอกจากนี้ปีทาโกรัสยังแบ่งคณิตศาสตร์ออกเป็น 2 สาขา คือ

1. เลขคณิต ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเลข
2. เรขาคณิต เป็นเรื่องเกี่ยวกับรูปทรงต่าง ๆ เช่น สี่เหลี่ยม วงกลม สามเหลี่ยม และหกเหลี่ยม เป็นต้น

ซึ่งวิชานี้มีประโยชน์อย่างมากในทางสถาปัตยกรรม และทฤษฎีบทเรขาคณิตที่มีชื่อเสียงที่สุดของปีทาโกรัสก็คือ "ในรูปสามเหลี่ยมมุมฉากใด ๆ กำลังสองของความยาวของด้านตรงข้ามมุมฉาก เท่ากับผลบวกของกำลังสองของความยาวของด้านประกอบมุมฉาก"

โรงเรียนของปีทาโกรัสมีผู้ให้ความสนใจส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนจำนวนมาก ทั้งพระมหากษัตริย์ ขุนนางราชสำนักและพ่อค้าคหบดีที่มั่งคั่ง ผู้ที่จบการศึกษาจากโรงเรียนแห่งนี้ได้มีการตั้งชุมนุม โดยใช้ชื่อว่า "ชุมนุมปีทาโกเรียน (Pythagorean)" ซึ่งผู้ที่จะสมัครเข้าชุมนุมปีทาโอกเรียนจะต้องมีความรู้ด้านคณิตศาสตร์เป็นอย่างดี อีกทั้งจะไม่เผยแพร่ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ให้กับผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของชุมนุมชุมนุมปีทาโกเรียนมีบทบาทอย่างมากในเรื่องของวิทยาศาสตร์ในยุคนั้น อีกทั้งเป็นชุมนุมแรกที่มีความเชื่อว่า โลกกลมและไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาลอีกทั้งต้องโคจรอีกด้วย

ปีทาโกรัสเป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกที่ตั้งทฤษฎีเกี่ยวกับโลกกลม และหมุนรอบตัวเองรวมถึงดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ ก็หมุนรอบตัวเองเช่นกัน ซึ่งทฤษฎีนี้ในเวลาต่อมานักดาราศาสตร์อย่างโคเปอร์นิคัส และกาลิเลโอ ได้นำมาพิสูจน์แล้วพบว่าทฤษฎีนี้ถูกต้อง

ไม่เพียงแต่งานด้านคณิตศาสตร์เท่านั้นที่ปิทาโกรัสให้ความสนใจ เขายังมีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องแสงด้วย การค้นคว้าของปีทาโกรัสทำให้เขารู้ความจริงว่า มนุษย์ไม่สามารถมองเห็นแสงสว่างได้ เพราะแสงสว่างเป็นเพียงอนุภาคเล็ก ๆ เท่านั้น แต่แสงสว่างเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เรามองเห็นวัตถุ เนื่องจากแสงตกกระทบไปที่วัตถุ ทำให้วัตถุนั้นสะท้อนแสงมากระทบกับตาเราดังเช่นที่เราสามารถมองเห็นดวงจันทร์มีแสง ก็เพราะแสงจากดวสงอาทิตย์ที่ส่องไปยังดวงจันทร์และสะท้อนกลับมายังโลกทั้งที่ดวงจันทร์ไม่มีแสง แต่เราก็สามารถมองเห็นดวงจันทร์ได้

นอกจากเรื่องแสงแล้ว ปิทาโกรัสได้ค้นพบเกี่ยวกับเรื่องเสียงด้วย การค้นพบของเขาสรุปได้ว่าเสียงเกิดจากการสั่นสะเทือนของวัตถุ การพบความจริงข้อนี้เนื่องจากวันหนึ่งเขาได้เดินผ่านร้านตีเหล็กแห่งหนึ่ง ปีทาโกรัสได้ยินเสียงที่เกิดจากช่างตีเหล็กใช้ค้อนตีแผ่นเหล็กแผ่นเหล็กนั้นสั่นสะเทือน ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เกิดเสียง

ปีทาโกรัสเสียชีวิตเมื่อประมาณ 507 ก่อนคริสต์ศักราช ที่เมืองเมตาปอนตัม (Metapontum)





ที่มา
http://siweb.dss.go.th/Scientist/Scientist/Pythagorus.html

วันอังคารที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ปิแอร์ คูรี่ : Pierre Curie


ปิแอร์ คูรี่ : Pierre Curie

เกิด วันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ.1859 ที่กรุงปารีส (paris) ประเทศฝรั่งเศส (France)


เสียชีวิต วันที่ 19 เมษายน ค.ศ.1906 ที่กรุงปารีส (Paris) ประเทศฝรั่งเศส (France)



ผลงาน

- ค้นพบคลื่นเสียง
- ค้นพบธาตุเรเดียม

เมื่อพูดถึงปิแอร์ คูรี่ แล้วอาจโด่งดังไม่เท่ากับมารี คูรี่ ภรรยาของเขา แต่ปิแอร์ก็เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการค้นพบธาตุเรเดียมด้วยเพียงแต่เขาเสียชีวิตไปก่อน การค้นพบของเขาทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลร่วมกับมารี อีกทั้งเขายังเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญมากในการค้นพบประโยชน์ของธาตุเรเดียม

ปิแอร์เกิดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ.1859 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส บิดาของเขาเป็นนายแพทย์ หลังจากจบการศึกษาขั้นต้นแล้ว เขาได้เข้าศึกษาต่อวิชาเคมี ที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ (Sorbonn University) หลังจากที่เขาจบการศึกษาแล้วได้เข้าฝึกงานกับคณะผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ของทางมหาวิทยาลัย ซึ่งเขาก็สามารถสร้างผลงานเป็นที่น่าพอใจ และในปี ค.ศ.1878 ปิแอร์ก็ได้รับรางวัลไซแอนซิเอท (Scienciate Award) ทางฟิสิกส์ และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการห้องทดลองประจำมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ และในระหว่างนี้เขาได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษาในโรงเรียน โรงงานอุตสาหกรรม และงานทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ

ต่อมาในปี ค.ศ.1880 ปิแอร์ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับความต่างศักย์ของไฟฟ้าระหว่างผลึกหินควอทซ์ กับเกลือโรเชลลี ภายใต้ความกดดันสูง จากผลการทดลองเขาพอว่า ความกดดันมีผลกระทบต่อความต่างศักย์ ซึ่งปิแอร์เรียกสั้น ๆ ว่า "ปิแอร์โซ อิเล็กทริคซิตี้ (Pierre so Electricity)" และเขาได้พบเพิ่มเติมอีกว่า ถ้าเพิ่มค่าความต่างศักย์ของไฟฟ้าให้มากขึ้น จะทำให้พื้นผิวของผลึกเกิดการสั่นสะเทือน ทำให้เกิดคลื่นเสียงที่มีความถี่สูงเกินกว่าที่คนปกติจะได้ยิน แต่ก็มีประโยชน์ เพราะต่อมานักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังได้นำหลักการเดียวกันนี้มาประดิษฐ์อุปกรณ์เกี่ยวกับเสียงหลายชนิดได้แก่ ไมโครโฟน และเครื่องบันทึกเสียง เป็นต้น

ในปี ค.ศ.1895 ปิแอร์ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับความร้อนที่เกิดขึ้นกับแม่เหล็ก จากผลการทดลองปิแอร์พบว่าที่อุณหภูมิระดับหนึ่ง แม่เหล็กไม่สามารถแสดงสมบัติออกมาได้ โดยปิแอร์เรียกอุณหภูมิระดับนี้ว่า "คูรีพอยท์ (Cury Point)" และจากการทดลองครั้งนี้ เขาได้สร้างเครื่องมือขึ้นมาชิ้นหนึ่งชื่อว่า อิเล็กโทรมิเตอร์ (Electrometer) สำหรับใช้ในการทดลองครั้งนี้ด้วย จากผลงานชิ้นนี้เขาได้รับมอบปริญญาเอกจากมหาวิmยาลัยซอร์บอนน์ และได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการประจำห้องทดลองเคมี และฟิสิกส์ ประจำมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ ซึ่งทำให้เขามีโอกาสได้พบกับมารียา สโคลดอฟสกา (Marja Sklodowskaป และแต่งงานกัน
ในปี ค.ศ.1895

ในขณะที่ปิแอร์มีชื่อเสียง และประสบความสำเร็จทั้งด้านการงานและครอบครัวเหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น ในขณะที่เขากำลังเดินไปยังสำนักพิมพ์ เพื่อตรวจต้นฉบับ ได้มีรถบรรทุกคันหนึ่งวิ่งเข้ามาชนเขาล้มลง และทับศีรษะ ทำให้ปิแอร์เสียชีวิตทันที ในวันที่ 19 เมษายน ค.ศ.1906 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส



ที่มา
http://siweb.dss.go.th/Scientist/Scientist/Pierre%20Curie.html

คาโรลุส ลินเนียส : Carolus Linnaeus


คาโรลุส ลินเนียส : Carolus Linnaeus

เกิด วันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1707 ที่ประเทศสวีเดน (Sweden)


เสียชีวิต วันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1778 ที่ประเทศสวีเดน (Sweden)


ผลงาน

- จำแนกสัตว์และพืชออกเป็นหมวดหมู่
- ตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ให้กับพืช และสัตว์

ลินเนียสเป็นนักพฤกษศาสตร์ชาวสวีเดน ที่จำแนกพืชและสัตว์ออกเป็นหมวดหมู่ได้อย่างชัดเจนที่สุด ซึ่งทำให้วิทยาศาสตร์ ชีวภาพมีความชัดเจน และสะดวกสำหรับการศึกษาต่อไป

ลินเนียสเกิดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1707 ที่ประเทศสวีเดน บิดาของเขาเป็นพระสอนศาสนา ลินเนียสเป็นคนรักต้นไม้ เขามักใช้เวลาส่วนใหญ่ในการศึกษาธรรมชาติ อีกทั้งลินเนียสยังได้รับการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับพืชชนิดต่าง ๆ มาจากบิดาอีกด้วย ทำให้เขายังมีความสนใจเกี่ยวกับพืชมากขึ้น ลินเนียสได้รับการศึกษาขั้นแรกจากครูที่บิดาของเขาจ้างให้มาสอนที่บ้าน แต่เรียนอยู่ได้เพียง 2 ปี เท่านั้น ก็ต้องเลิกไป


หลังจากนั้นบิดาจึงส่งลินเนียสไปเรียนในตัวเมืองซึ่งห่างออกไปจากบ้านเขาประมาณ 25 ไมล์ ต่อจากนั้นลินเนียสได้เข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยลุนด์ ในคณะแพทย์ เขาเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยลุนด์ได้เพียง 1 ปี ก็ย้ายไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์ดวิก ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ และได้รับปริญญาแพทยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งนี้เอง ในระหว่างที่ลินเนียสศึกษาวิชาแพทย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์ดวิก เขาได้ใช้เวลาว่างส่วนหนึ่งค้นคว้าเกี่ยวกับพืชและสัตว์

ในปี ค.ศ. 1730 ลินเนียสได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยของศาสตราจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ ซึ่งศาสตราจารย์ท่านนี้ได้มอบทุนให้กับลินเนียสเพื่อเดินทางออกสำรวจดินแดน แลป แลนด์ (Lap Land) ลินเนียสได้ออกเดินทางในปี ค.ศ. 1732 เขาใช้เวลาในการสำรวจประมาณ 1 ปี โดยเดินทางสำรวจตลอดคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย (Scandinavia) รวมระยะทาง 4,600 ไมล์ ซึ่งลินเนียสได้พบกับพันธุ์พืชใหม่ ๆ กว่า 100 ชนิด ต่อมาในปี ค.ศ. 1737 ลินเนียสได้เขียนสิ่งที่เขาพบเห็นจากการ สำรวจครั้งนี้ลงในหนังสือชื่อว่า Flora Laponida ไปตามสถานที่ต่าง ๆ อีก

ต่อมาในปี ค.ศ. 1735 ลินเนียสได้ตีพิมพ์หนังสือออกมาเล่มหนึ่ง ชื่อว่า Systema Nationra ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการจำแนก ลักษณะและแบ่งชั้นทั้งของพืชและสัตว์ ออกเป็นตระกูลต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ ซึ่งลินเนียสได้ทำพันธุ์พืชและสัตว์ทุกชนิดรวมถึงที่สูญพันธุ์ไปแล้ว หรือสัตว์ในยุคดึกดำบรรพ์ด้วย โดยเขาใช้วิธีการที่เรียกว่า "Linnaean Classification"

ลินเนียสได้ออกเดินทางสำรวจไปตามสถานที่ต่าง ๆ อีกทั้งเขียนหนังสือเกี่ยวกับธรรมชาติอีกหลายเล่ม ได้แก่ ในปี ค.ศ. 1736 ลินเนียสได้พิมพ์หนังสือชื่อว่า Biologica Botanica ในปีต่อมาเขาได้เขียนหนังสืออีกเล่มหนึ่งชื่อว่า General Plantarum หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการวิเคราะห์พืช ตามลักษณะของพันธุ์พืช และในปีต่อมาเขาได้ตีพิมพ์หนังสืออีกเล่มหนึ่งชื่อว่า Classes Plantarum ในปี ค.ศ. 1738 ลินเนียสได้เดินทางกลับบ้านที่ประเทศสวีเดน และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอนวิชาแพทย์ และประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ประจำมหาวิทยาลัยอัปซาลา (Upsala University) อีกทั้งยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของกษัตริย์แห่งสวีเดนอีกด้วย ต่อมาในปี ค.ศ. 1742 ลินเนียสได้รับเชิญให้ดำรงตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ และรัฐบาลสวีเดนได้ส่งลินเนียสไปสำรวจ ทิโอแลนด์(Tio Land) และสก็อตแลนด์ (Scotland) หลังจากเดินทางกลับ ลินเนียสได้เขียนหนังสือขึ้นเล่มหนึ่งชื่อว่า Olandscatoch Cortland Skatesa ซึ่งตีพิมพ์ออกเผยแพร่ในปี ค.ศ. 1745 พร้อมกับหนังสืออีกเล่มหนึ่งชื่อว่า Flora Suecica

ในปี ค.ศ. 1746 ลินเนียสได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสวนพฤกษศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยอัปซาลา ในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ เขาได้นำพันธุ์พืชชนิดใหม่ ๆ มาปลูกไว้ในสวนจำนวนมากกว่า 1,200 ชนิด พร้อมกับเขียนอธิบายถึงพันธุ์พืชภายในสวนพฤกษศาสตร์อย่างละเอียด ลงในหนังสือชื่อว่า Hortus Upsaliensis

ต่อมาในปี ค.ศ. 1753 ลินเนียสได้ตีพิมพ์หนังสือขึ้นอีกเล่มหนึ่งชื่อว่า Species Plantarum ตั้งชื่อพืชและสัตว์เหล่านี้เป็นภาษาละติน ซึ่งรู้จักกันในปัจจุบันว่าชื่อทางวิทยาศาสตร์ แบ่งออกเป็น 2 ชื่อ ชื่อแรกบอกตระกูล (Genus) ส่วนชื่อหลังบอกชนิด (Species) วิธีการจัดหมวดหมู่ของลินเนียสทำให้นักชีววิทยาสามารถจดจำชื่อชนิดของสัตว์ และของพืชได้ง่ายขึ้น อีกทั้งสะดวกต่อการค้นค้าต่อไป วิธีการนี้ต่อมาเป็นที่นิยมแพร่หลายในทวีปยุโรปอย่างรวดเร็ว และนิยมต่อมาจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งเขายังเป็นผู้ที่กำหนดสัญลักษณ์แทนเพศ คือ หมายถึง เพศผู้ และ หมายถึง เพศเมีย

ลินเนียสเดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อเก็บสะสมพืช และสัตว์พันธุ์ต่าง ๆ ต่อมาเมื่อลินเนียสเสียชีวิตในวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1778 สิ่งที่เขาสะสมไว้คือ พันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ รวมทั้งหนังสือ ได้ถูกขายให้กับนักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษผู้หนึ่ง ซึ่งนักพฤกษศาสตร์ท่านนี้ได้นำไปทำการศึกษาเกี่ยวกับพืชและสัตว์ โดยตั้งชื่อสถาบันแห่งนี้ว่า English Biological Association หรือ Linnaeus Society สถาบันแห่งนี้ตั้งอยู่ในประเทศอังกฤษ



ที่มา
http://siweb.dss.go.th/Scientist/Scientist/Carolus%20Linnaeus.html

กาลิเลโอ กาลิเลอี : Galileo Galilei


กาลิเลโอ กาลิเลอี : Galileo Galilei

เกิด วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1564 ที่เมืองปิซา (Pisa) ประเทศอิตาลี (Italy)


เสียชีวิต วันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1642 ที่เมืองฟลอเรนซ์ (Florence) ประเทศอิตาลี (Italy)


ผลงาน

- ค.ศ. 1584 ตั้งกฎเพนดูลัม (Pendulum) หรือกฎการแกว่างของนาฬิกาลูกตุ้ม
- ค.ศ. 1585 ตีพิมพ์หนังสือชื่อว่า Kydrostatic Balance และ Centre of Gravity
- ค.ศ. 1591 พิสูจน์ทฤษฎีของอาริสโตเติลที่ว่าวัตถุที่มีน้ำหนักเบาว่าผิด อันที่จริงวัตถุจะตกถึงพื้นพร้อมกันเสมอ
- พัฒนากล้องโทรทรรศน์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถส่องดูดาวบนจักรวาลได้
- พบลักษณะพื้นผิวของดวงจันทร์
- พบว่าดาวมีหลายประเภท ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกัน ได้แก่ ดาวเคราะห์ และดาวฤกษ์
- พบทางช้างเผือก (Milky Way)
- พบบริวารของดาวพฤหัสบดี ว่ามีมากถึง 4 ดวง
- พบวงแหวนของดาวเสาร์ ซึ่งปากฎว่ามีสีถึง 3 สี
- พบว่าพื้นผิวของดาวศุกร์มีลักษณะคล้ายกับดวงจันทร์
- พบจุดดับบนดวงอาทิตย์ (Sun Spot)
- พบดาวหาง 3 ดวง

กาลิเลโอเป็นนักวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และดาราศาสตร์ ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของโลก โดยเฉพาะผลงานด้านดาราศาสตร์เป็นผลงานที่มีชื่อเสียงมากที่สุด การทดลองและการค้นพบของเขามีประโยชน์มากมายหลายด้าน โดยเฉพาะทางด้านดาราศาสตร์ เช่น พบจุดดับบนดวงอาทิตย์ พบบริวารของดาวพฤหัสบดี เป็นต้น การพบลักษณะการแกว่งของวัตถุซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นเครื่องจับเวลา และนาฬิกาลูกตุ้ม อีกทั้งการที่เขาสามารถพัฒนาสร้างกล้องโทรทรรศน์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้วิชาการด้านดาราศาสตร์มีความเจริญก้าวหน้า อีกทั้งเขายังเป็นบุคคลที่มีความกล้าหาญอย่างมากในการเสนอแนวความคิด ต่าง ๆ เกี่ยวกับทฤษฎีดั้งเดิมที่ผิดของอาริสโตเติล ซึ่งนำความเดือดร้อนมาให้กับเขาเอง ทั้งการถูกต้องขังและถูก กล่าวหาว่าเป็นพวกนอกรีตต่อต้านคำสั่งสอนทางศาสนา ซึ่งเกือบจะต้องเสียชีวิตถ้าเขาไม่ยอมรับความผิดอันนี้


แม้ว่าเขาจะต้อง ยอมรับผิด แต่เขาก็ไม่หยุดทำการค้นคว้าและการทดลองทางวิทยาศาสตร์ต่อไป กาลิเลโอมักมีแนวความคิดที่แตกต่างไปจากคนอื่นเสมอ เขาจะไม่ยอมเชื่อทฤษฎีต่าง ๆ ที่ได้รับการเผยแพร่ออกมาทั้งในอดีตและในยุคนั้น กาลิเลโอต้องทำการทดลอง เสียก่อนที่จะเชื่อถือในทฤษฎีข้อนั้น และด้วยนิสัยเช่นนี้ทำให้เขาได้รับฉายาว่า The Wrangler ฉายาของกาลิเลโออันนี้ในปัจจุบัน ได้ใช้หมายถึง "ผู้เชี่ยวชาญ" ในมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด (Oxford University) และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์(Cambridge University)

กาลิเลโอเกิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1564 ที่เมืองปิซา ประเทศอิตาลี บิดาของเขาเป็นขุนนาง นักคณิตศาสตร์ นักดนตรีและนักเขียน ที่มีชื่อเสียงอยู่พอสมควร บิดาของเขามีชื่อว่า วินเซนซิโอ กาลิเลอี (Vincenzio Galilei) กาลิเลโอเข้ารับการศึกษาขั้นต้นที่เมืองปิซานั่นเอง กาลิเลโอเป็นนักเรียนที่เฉลียวฉลาด และมีความสามารถหลายด้าน ทั้งวาดภาพ เล่นดนตรี และคณิตศาสตร์ บิดาของกาลิเลโอต้องการให้เขาศึกษาต่อในวิชาแพทย์ ด้วยเป็นอาชีพที่ได้รับการยกย่อง กาลิเลโอได้ปฏิบัติตามที่บิดาต้องการ คือ เข้าเรียนในวิชาการแพทย์ ณ มหาวิทยาลัยปิซา (Pisa University)


แต่กาลิเลโอมีความสนใจในวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์มากกว่า จนกระทั่งครั้งหนึ่งกาลิเลโอมีโอกาสได้เข้าฟังการบรรยายวิชาคณิตศาสตร์ ทำให้เขาเลิกเรียนวิชาแพทย์ และไปเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์แทน

การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ครั้งแรกของกาลิเลโอเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1584 เมื่อเขากำลังนั่งฟังสวดมนต์อยู่ในโบสถ์แห่งหนึ่ง เขาสังเกตเห็นโคมแขวนบนเพดานโบสถ์แกว่างไปแกว่างมา เขาจึงเกิดความสงสัยว่าการแกว่งไปมาของโคมในแต่ละรอบใช้เวลาเท่ากันหรือไม่


ดังนั้นเขาจึงทดลองจับเวลาการแกว่งไปมาของโคม โดยเทียบกับชีพจรของตัวเอง เนื่องจากเขาเคยเรียนวิชาแพทย์ ทำให้เขารู้ว่าจังหวะการเต้นของชีพจรของคนในแต่ละครั้งนั้นใช้เวลาเท่ากัน ผลปรากฎว่าไม่ว่าโคมจะแกว่งในลักษณะใดก็แล้วแต่ ระยะเวลาในการแกว่งไปและกลับครบ 1 รอบ จะเท่ากันเสมอ เมื่อเขากลับบ้านได้ทำการทดลองแบบเดียวกันนี้อีกหลายครั้ง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าทฤษฎีที่เขาจะตั้งขึ้นถูกต้องที่สุด ซึ่งผลการทดลองก็เหมือนกันทุกครั้ง กาลิเลโอได้ตั้งชื่อทฤษฎีนี้ว่า กฎเพนดูลัม (Pendulum) หรือ กฎการแกว่งของนาฬิกาลูกตุ้ม กาลิเลโอได้นำหลักการจากการทดลองครั้งนี้มาสร้างเครื่องจับเวลา ซึ่งต่อมาในปี ค.ศ. 1656 คริสเตียน ฮฮยเกนส์ (Christian Huygens) ได้นำทฤษฎีนี้มาสร้างนาฬิกาลูกตุ้ม

ต่อมาในปี ค.ศ. 1585 กาลิเลโอได้ลาออกจากมหาวิทยาลัย เพราะไม่มีเงินพอสำหรับการเรียนต่อ เขาได้เดินทางกลับบ้านเกิดที่เมืองฟลอเรนซ์ (Florence) และได้เข้าศึกษาต่อที่สถาบันฟลอเรนทีน (Florentine Academy) ในระหว่างนี้กาลิเลโอได้เขียนหนังสือขึ้นมา 2 เล่ม เล่มแรกชื่อว่า Hydrostatic Balance เป็นเรื่องเกี่ยวกับตาชั่ง ส่วนอีกเล่มหนึ่งชื่อว่า Centre of Gravity เป็นเรื่องเกี่ยวกับจุดศูนย์ถ่วงของของแข็ง เล่มที่ 2 นี้เขาเขียนเนื่องจากมาร์เชส กวิดูบาลโด เดล มอนเต แห่งเปซาโร (Marchese Guidubald Del Monte of Pasaro) ซึ่งเป็นผู้ที่มีพระคุณต่อเขา ขอร้องให้เขียนขึ้น จ


ากหนังสือทั้ง 2 เล่มนี้เอง ทำให้เขามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากขึ้น และในปี ค.ศ. 1588 กาลิเลโอได้รับการติดต่อให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์สอนวิชาคณิตศาสตร์ในมหาวิทยาลัยปิซา ในปี ค.ศ. 1591 ระหว่างที่กาลิเลโอเข้าทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัยปิซา เขาได้นำทฤษฎีของอาริสโตเติล มาทดสอบเพื่อหาข้อเท็จจริง ทฤษฎีที่ว่านี้ คือ ทฤษฎีที่มีน้ำหนักมากกว่าจะตกถึงพื้นก่อนวัตถุที่มีน้ำหนักเบา

แต่เมื่อกาลิเลโอทดลองแล้วปรากฏว่าวัตถุที่มีน้ำหนักมากและวัตถุที่มีน้ำหนักเบา จะตกถึงพื้นพร้อมกัน แต่การที่อาริสโตเติลสรุปทฤษฎีเช่นนี้เป็นผลเนื่องมาจากอากาศได้ช่วยพยุงวัตถุที่มีน้ำหนักเบาได้มากกว่าวัตถุที่มีน้ำหนักมากกว่า แต่ถ้าทำการทดลองในสุญญากาศจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าวัตถุตกถึงพื้นพร้อมกัน กาลิเลโอได้นำความจริงข้อนี้ไปชี้แจงกับทางมหาวิทยาลัย ผลปรากฏว่า มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย


เขาจึงทำการทดลองอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้ทุกคนเห็นอย่างชัดเจน โดยนำก้อนตะกั่ว 2 ก้อน ก้อนหนึ่งหนัก 10 ปอนด์ อีกก้อนหนึ่งหนัก 20 ปอนด์ ทิ้งลงมาจากหอเอนปิซาพร้อมกัน ผลปรากฏว่าก้อนตะกั่วทั้ง 2 ก้อนตกถึงพื้นพร้อมกัน จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าทฤษฎีของอาริสโตเติลผิด และของกาลิเลโอถูกต้อง แต่ถึงอย่างนั้นกลุ่มคนที่ยึดถือทฤษฎีของ อาริสโตเติลอย่างเหนียวแน่นก็ยังไม่เชื่อกาลิเลโออยู่ดี อีกทั้งหาทางกลั่นแกล้งจนกาลิเลโอ ต้องลาออกจากมหาวิทยาลัยปิซา

หลังจากที่กาลิเลโอลาออกจากมหาวิทยาลัยปิซาแล้ว เขาได้เข้าทำงานในตำแหน่งศาสตราจารย์สอนวิชาคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย ปาดัว (Padua University) ในระหว่างนี้กาลิเลโอได้ทำการทดลองเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์หลายเรื่อง เริ่มตั้งแต่ทำการทดลองเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตกของวัตถุ ซึ่งเขาพบว่าในระหว่างที่วัตถุตกลงสู่พื้นนั้น ความเร็วของวัตถุจะเพิ่มขึ้นทุกวินาที การทดลองนี้ทางการทหารได้นำไปใช้ในการคำนวณหาเป้าหมายของลูกปืนใหญ่ หลักเกณฑ์ทั้งหมดที่เกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของวัตถุนี้ทำให้ เกิดวิชาที่เรียกว่า "พลศาสตร์ (Dynamic)" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิชากลศาสตร์

กาลิเลโอมีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องดาราศาสตร์อย่างมาก แต่ไม่สามารถศึกษาได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากขาดอุปกรณ์ในการศึกษาค้นคว้า ต่อมาในปี ค.ศ. 1608 มีข่าวว่าช่างทำแว่นตาชาวฮอลแลนด์ สามารถประดิษฐ์กล้องส่องทางไกลขนาดเล็กได้เป็นผลสำเร็จ


ต่อมาในปี ค.ศ. 1610 กาลิเลโอจึงนำหลักเกณฑ์เดียวดันนี้มาสร้างเป็นกล้องโทรทรรศน์ขึ้นเป็นครั้งแรกแต่กล้องโทรทรรศน์ที่เขาประดิษฐ์ขึ้นในครั้งแรกมีกำลังขยายเพียง 3 เท่า เท่านั้น ต่อมาเขาได้ปรับปรุงกล้องโทรทรรศน์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีกำลังขยายมากถึง 32 เท่า ซึ่งกล้องอันนี้สามารถส่องดูดวงดาวต่าง ๆ ในจักรวาลได้อย่างชัดเจน


สิ่งที่กาลิเลโอได้พบเห็นจากกล้องโทรทรรศน์ เขาได้บันทึกลงในหนังสือเล่มหนึ่ง และตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาในปีเดียวกัน โดยใช้ชื่อหนังสือว่า Sederieus Nuncius หมายถึง ผู้นำสารจากดวงดาว ภายในหนังสือเรื่องนี้มีรายละเอียดดังนี้
- ผิวของดวงจันทร์ ซึ่งปรากฏว่าไม่เรียบเหมือนอย่างที่มองเห็น แต่มีหลุม หุบเหว และภูเขาใหญ่น้อยจำนวนมาก
- พบว่าดาวมีหลายประเภท ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกัน ได้แก่ ดาวเคราะห์ คือ ดาวที่ไม่มีแสงสว่างในตัวเอง เช่น โลก ดาวพุธและดวงจันทร์ เป็นต้น และดาวฤกษ์ คือ ดาวที่มีแสงสว่างในตัวเอง เช่น ดวงอาทิตย์ เป็นต้น
- พบทางช้างเผือก (Milky Way) ซึ่งมีลักษณะเป็นทางขาว ๆ ดูคล้ายหมอกบาง ๆ พาดผ่านไปบนท้องฟ้า ทางช้างเผือกเกิดจากแสงของกลุ่มดาวฤกษ์ซึ่งมีความหนาแน่นมาก
- เนบิวลา (Nebula) คือ กลุ่มก๊าซ และวัตถุต่าง ๆ ซึ่งมีการรวมตัวกันอย่างหนาแน่น
- พบวงแหวนของดาวเสาร์ แต่กาลิเลโอไม่ได้เรียกว่าวงแหวน ต่อมาในปี ค.ศ. 1655 ฮอยเกนส์ได้พิสูจน์ว่าเป็นวงแหวน และเรียกว่า "วงแหวนของดาวเสาร์ (Saturn's Ring)"
- พบบริวารของดาวพฤหัสบดีว่ามีมากถึง 4 ดวง กาลิเลโอได้ตั้งชื่อดาวบริวารของดาวพฤหัสบดีว่า ซีเดรา เมดิซี (Sidera Medicea) เพื่อเป็นเกียรติแก่ ดยุคแห่งทัสคานี คอซิโมที่ 2 (Duke of Tuscany Cosimo II) ผู้ซึ่งเป็นทั้งลูกศิษย์และเจ้านายของเขาในเวลาต่อมา และจากการค้นพบครั้งนี้ กาลิเลโอได้ตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ และภายหลังจากการศึกษา กาลิเลโอได้ตั้งทฤษฎีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของสุริยจักรวาล และโลกต้องโคจรรอบดวงอาทิตย์
- พบว่าพื้นผิวของดาวศุกร์มีลักษณะคล้ายกับดวงจันทร์
- พบจุดดับบนดวงอาทิตย์ (Sun Spot)

จากการค้นพบครั้งนี้กาลิเลโอได้เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งชื่อว่า Letter on the Solar Spot ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับจุดดับบนดวงอาทิตย์ และข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการโคจรของดวงดาวในระบบสุริยจักรวาล ว่าอันที่จริงแล้วดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของสุริยจักรวาล อีกทั้งโลกและดาวดวงอื่น ๆ ต้องโคจรรอบดวงอาทิตย์การค้นพบทางดาราศาสตร์ของกาลิเลโอครั้งนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีนั้นก็คือทำให้วิชาการด้านดาราศาสตร์มีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้นไปอีกก้าวหนึ่ง อีกทั้งชื่อเสียงของกาลิเลโอก็เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากขึ้น


เขาได้รับเชิญให้ดำรงตำแหน่งนักปราชญ์ประจำราชสำนักของท่านแกรนด์ดยุคแห่งทัสคานี (Grand Duke of Tuscany) ส่วนข้อเสียเป็นสิ่งที่ส่งผลร้ายอย่างมากต่อกาลิเลโอ คือ ทฤษฎีของกาลิเลโอขัดแย้งกับหลักศาสนา และทฤษฎีของอาริสโตเติลที่มีผู้เชื่อถือมากในขณะนั้น แม้ว่ากาลิเลโอจะนำกล้องโทรทรรศน์มาตั้งให้ทุกคนได้ทดลองส่องดู ซึ่งทุกคนก็เห็นเช่นเดียวกับที่กาลิเลโอบอกไว้ แต่ถึงอย่างนั้นกลุ่มคนที่มีความเชื่อถือในทฤษฎีของอาริสโตเติลก็ยังไม่เห็นด้วยกับกาลิเลโอ และกล่าวหากาลิเลโอว่าต่อต้านศาสนา ทำให้กาลิเลโอได้รับคำสั่งจากศาสนจักรให้หยุดแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้งต่อหลักศาสนา


หลังจากนั้นกาลิเลโอได้เดินทางไปยังเมืองฟลอเรนซ์ และอยู่ที่นี่เป็นเวลานานถึง 7 ปี และในระหว่างนี้ เขาได้ทำการค้นคว้าเกี่ยวกับดาราศาสตร์ และในปี ค.ศ. 1618 กาลิเลโอได้พบดาวหางถึง 3 ดวง และได้พบ
ความจริง เกี่ยวกับดาวหางที่ว่า ดาวหางเป็นดาวฤกษ์ชนิดหนึ่งเช่นกัน แสงที่เกิดนี้เกิดจากแสงของดวงอาทิตย์เช่นเดียวกับรุ้งกินน้ำ กาลิเลโอได้ตีพิมพ์ผลงานชิ้นนี้ลงในหนังสือชื่อว่า Saggiatore แต่ทฤษฎีข้อนี้ของกาลิเลโอ ผิดพลาด

ใน ปี ค.ศ. 1632 กาลิเลโอได้เขียนหนังสือขึ้นมาอีกเล่มหนึ่งชื่อว่า Dialogo Del Due Massimi Sistemi Del Mondo แต่เพื่อหลีกเลี่ยงข้อความที่ต่อต้านกับหลักศาสนา กาลิเลโอจึงเขียนขึ้นในเชิงบทละคร ซึ่งมีตัวเอก 2 ตัว สนทนา เกี่ยวกับทฤษฎีของปโตเลมี และโคเปอร์นิคัส แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนทฤษฎีของโคเปอร์นิคัสอยู่ดี ทำให้เขาถูกต่อต้านอย่างหนักอีกทั้งหนังสือเล่มนี้ก็ถูกห้ามมิให้จำหน่ายในประเทศอิตาลีอีกด้วย ส่วนตัวเขาถูกสอบสวนและต้องโทษจำคุกเพื่อให้สำนึกบาปที่ คัดค้านคำสอนในคริสต์ศาสนา ต่อมาเขาถูกบังคับให้กล่าวคำขอโทษ เพื่อแลกกับอิสระและชีวิตของเขา แม้ว่าเขาจะถูกปล่อยตัวออกจากคุก แต่เขาก็ยังต้องอยู่ในความควบคุมของอัสคานิโอ ปิคโคโรมินิ (Ascanio Piccoromini) บาทหลวงผู้หนึ่งซึ่งในระหว่างนี้เขาได้ทำการทดลองเกี่ยวกับฟิสิกส์ และตีพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า Disorsi

เมื่อการค้นคว้าทางดาราศาสตร์ของเขามีอุปสรรค เขาจึงหันมาทำการค้นคว้าเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์แทนกาลิเลโอได้ประดิษฐ์เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ขึ้นหลายชิ้น ได้แก่ นาฬิกาน้ำ ไม้บรรทัด และเทอร์มอมิเตอร์ (Thermometer) เป็นต้น และในปี ค.ศ. 1636 กาลิเลโอได้เขียนหนังสือขึ้นเล่มหนึ่งชื่อว่า Dialoghi Della Nuove Scienze แต่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1638 โดยเอสเซฟเวียร์ (Elzavirs) ที่เมืองเลย์เดน (Leyden) หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวิชากลศาสตร์


หลังจากหนังสือเล่มนี้เผยแพร่ออกไปกลับได้รับความนิยมมากกว่าหนังสือดาราศาสตร์ของเขา อีกทั้งไม่ถูกต่อต้านจากศาสนาจักรอีกด้วย

ในช่วงสุดท้ายของชีวิต กาลิเลโอได้ค้นคว้า และเฝ้ามองดูการเคลื่อนไหวของดวงดาวบนท้องฟ้า รวมถึงดวงจันทร์ด้วยกาลิเลโอได้เฝ้าดูการเคลื่อนไหวของดวงจันทร์จนพบว่า ดวงจันทร์ใช้เวลา 15 วัน ในการโคจรรอบโลก ซึ่งถือว่าเป็นการค้นพบครั้งสุดท้ายของเขา เพราะหลังจากนั้นประมาณ 2 - 3 เดือน เขาก็ตาบอดและสุขภาพอ่อนแอลงเรื่อย ๆ เนื่องจากความชรา และเสีย ชีวิตในวันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1642 ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี






ที่มา
http://siweb.dss.go.th/Scientist/Scientist/Galileo%20Galilei.html

วันอาทิตย์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ฮัมฟรี เดวี่ : Humphrey Davy


ฮัมฟรี เดวี่ : Humphrey Davy

เกิด วันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1778 ที่เมืองเพนแซนซ์ คอร์นเวล (Penzance Cornwell) ประเทศอังกฤษ (England)

เสียชีวิต วันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1829 ที่เมืองเจนีวา (Geneva) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (Switzerland)

ผลงาน
- ค้นพบสมบัติของก๊าซไนตรัสออกไซด์ (Nitrous Oxide)
- บุกเบิกการชุบโลหะด้วยไฟฟ้า
- ประดิษฐ์ตะเกียงนิรภัย (Safety Lamp)

ก่อนหน้าที่เดวี่จะประดิษฐ์ตะเกียงนิรภัยได้สำเร็จ มักเกิดการระเบิดภายในเหมืองขึ้นบ่อยครั้ง เนื่องจากภายในเหมืองแร่ใช้ตะเกียงแบบธรรมดาซึ่งมีประกายไฟ ทำให้เกิดการลุกไหม้กับก๊าซไวไฟที่อยู่ภายในเหมืองอย่างรวดเร็วและเกิดการระเบิดขึ้นและจากเหตุการณ์นี้ทำให้กรรมกรเหมืองเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ส่วนที่รอดชีวิตก็เกิดความหวานกลัวจนไม่กล้าเข้าไปทำงานภายในเหมือง ส่งผลให้อุตสาหกรรมหลายประเภทต้องหยุดชะงักลง นำความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างมาก จนกระทั่งเดวี่ได้ประดิษฐ์ ตะเกียงนิรภัย (Safety Lamp) ก็ไม่ปรากฏว่าเกิดการระเบิดภายในเหมืองแร่อีกเลย นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ และอุตสาหกรรม

เดวี่เกิดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1778 ที่เมืองเพนแซนซ์ คอร์นเวล ประเทศอังกฤษในครอบครัวที่ค่อนข้างยากจน บิดาของเดวี่เป็นช่างแกะสลักไม้ ในปี ค.ศ. 1784 เดวี่ได้เข้าเรียนขั้นต้นที่โรงเรียนเพนแซนซ์ ต่อมาในปี ค.ศ. 1794 พ่อของเดวี่เสียชีวิตอีกทั้งยังทิ้งหนี้สิ้นไว้ให้เขาต้องชดใช้อีกจำนวนหนึ่งทำให้เดวี่ต้องลาออกจากโรงเรียนและหางานทำเดวี่ได้งานทำในตำแหน่งผู้ช่วยปรุงยาของศัลยแพทย์อยู่หนึ่งระหว่างที่เขาทำงานอยู่ที่นี่เขามีโอกาสได้อ่านหนังสือจำนวนมากรวมถึงหนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ด้วย ทำให้เขามีความสนใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เดวี่ได้เริ่มทำการทดลองวิทยาศาสตร์โดยใช้ห้องทดลองของเจ้านายที่อยู่ชั้นบนสุดทำการทดลองในครั้งแรก ๆ เดวี่ได้ทำการทดลองตามอย่างในหนังสือเท่านั้น แต่ต่อมาเดวี่ได้ทำการทดลองในเรื่องที่เขาสนใจซึ่งเป็นผลที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ

เดวี่มีโอกาสได้รู้จักกับนักวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงหลายท่าน เช่น เจมส์ วัตต์ จูเนียร์ (James Watt Jr.) และ ดร.กิลเบิร์ต(Dr.Gillbert) ประธานราชสมาคมแห่งกรุงลอนดอน (Royal Society of London) ต่อมาในปี ค.ศ. 1798 เดวี่ได้เข้าทำงานในตำแหน่งผู้ช่วย และผู้ดูแลห้องทดลองวิทยาศาสตร์ของ ดร.โทมัส เบดดัส (Dr.Thomas Beddoes) ที่เมืองคลิฟตันในระหว่างที่เดวี่ทำงานอยู่กับเบดดัส เขามีโอกาสได้ศึกษาวิชาเคมี การใช้ยา และวิธีการใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ ทำให้เดวี่เป็นผู้ที่มีความรู้กว้างขวางเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เป็นอย่างดี

ในปี ค.ศ. 1798 เขาได้เริ่มต้นการทดลองเกี่ยวกับสมบัติของก๊าซในการรักษาโรค และในที่สุดเดวี่ก็ได้ค้นพบสมบัติของก๊าซไนตรัสออกไซด์ (Nitrous oxide) ซึ่งเป็นก๊าซที่มีพิษร้ายแรงมาก การทดลองจึงต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวัง ดังนั้นเดวี่จึงได้ทำการทดลองกับตัวเอง เมื่อเขาทดลองสูดดมก๊าซชนิดนี้เข้าไปจึงพบว่า มันทำให้เขารู้สึกสดชื่นและอยากหัวเราะ ดังนั้นเขาจึงตั้งชื่อก๊าซชนิดนี้ใหม่ว่า "ก๊าซหัวเราะ" ต่อมาเขาได้พบสมบัติของก๊าซไนตรัสออกไซด์เพิ่มเติมว่าเมื่อสูดดมก๊าซชนิดนี้เข้าไปมาก ๆ จะทำให้หมดสติไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง การค้นพบครั้งนี้เกิดขึ้นจากเดวี่ได้สูดดมก๊าซชนิดนี้เข้าไปในปริมาณที่มากกว่าปกติ ทำให้เขาหมดสติไป การค้นพบครั้งนี้ของเดวี่ถือว่ามีประโยชน์อย่างมากสำหรับวงการแพทย์ เนื่องจากแพทย์ได้นำก๊าซชนิดนี้มาทำให้ผู้ป่วยหมดสติในระหว่างการผ่าตัด หรือรักษาแผลฉกรรจ์มาก ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องทนทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวดอีกต่อไป แต่ต่อมาไม่นานนักเดวี่ได้หยุดการทดลองไปชั่วระยะหนึ่งเนื่องจากการทดลองในลักษณะเดียวกันนี้ ทำให้เขาล้มป่วยจากการสูดดมก๊าซที่มีพิษชนิดร้ายแรงเข้าไป

จากการค้นพบสมบัติของก๊าซไนตรัสออกไซด์ทำให้เดวี่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและในปี ค.ศ. 1800 เขาได้รับเชิญให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่ราชบัณฑิตยสภา (Royal Institution) ครั้งแรกที่เดวี่พบกับรัมฟอร์ด รัมฟอร์ดยังไม่มีความ เชื่อถือในตัวเดวี่เท่าไหร่นัก เพราะเดวี่ยังดูอ่อนทั้งประบการณ์และความรู้ รัมฟอร์ดจึงขอทดสอบเดวี่ก่อน ซึ่งเดวี่สามารถ แสดงให้รัมฟอร์ดเห็นถึงความสามารถในการแสดงปาฐกถาได้เป็นอย่างดี การที่เดวี่สามารถพูดปาฐกถาได้ดีก็เพราะเขาหัดพูดต่อหน้ากระจกมาตั้งแต่เด็ก เมื่อรัมฟอร์ดยอมรับในตัวเดวี่แล้ว เขาได้มอบหมายงานให้กับเดวี่หลายอย่าง ได้แก่ ทำการทดลองวิทยาศาสตร์
จัดแสดงปาฐกถา และสอนหนังสือให้กับคนยากจน และด้วยความสามารถของเดวี่ ภายใน 1 ปี เขาได้เลื่อนตำแหน่งให้เป็นศาสตราจารย์ประจำสถาบัน และผู้อำนวยการห้องทดลอง เดวี่ได้เดินทางไปปาฐกถาที่ราชบัณฑิตยสภา ก็มักจะมีคนเข้าชมกันอย่างหนาแน่นล้นหลามทุกครั้งไป เดวี่ได้แสดงปาฐกถาในหลายหัวข้อ หัวข้อการปาฐกถาที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ การฟอกหนังอีกทั้งการบรรยายเรื่องนี้ ทำให้เขาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกของราชสมาคมเกษตร (Agriculture of the Royal Institution) ในปี ค.ศ. 1802 นอกจากการแสดงปาฐกถาแล้วเดวี่ยังใช้เวลาส่วนที่เหลือในการค้นคว้าทดลองวิทยาศาสตร์ ซึ่งเขา
ทุ่มเทให้กับงานทดลองอย่างมาก แม้ว่าการทดลองในครั้งแรก ๆ จะล้อมเหลวอยู่บ่อยครั้ง แต่เดวี่ก็ไม่ละความพยายาม

การค้นคว้าความลับเกี่ยวกับสิ่งที่ทำให้เกิดความร้อน เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ในสมัยนั้นให้ความสนใจเป็นอย่างมาก แม้แต่เดวี่เองก็ให้ความสนใจเช่นกัน เดวี่ได้ทำการทดลองหาความร้อนโดยการนำน้ำแข็งสองก้อนมาถูกัน ปรากฏว่าน้ำแข็งบริเวณที่เสียดสีกันละลาย จากผลการทดลองเดวี่ตั้งข้อสังเกตว่า ความร้อนน่าจะเป็นตัวที่ทำให้น้ำแข็งละลาย แต่ความร้อนมาจากที่ใด จากนั้นเดวี่จึงสร้างเครื่องสำหรับการทดลองขึ้นมา โดยมีลักษณะเป็นหลอดแก้วสุญญากาศ สามารถควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ในจุดเยือกแข็งได้จากนั้นจึงใส่น้ำแข็งลงไป 2 ก้อน โดยใช้กลไกควบคุมให้น้ำแข็ง 2 ก้อนนี้ เสียดสีกัน ปรากฏว่าเมื่อน้ำแข็งเสียดสีกันน้ำแข็งละลายจากผลการทดลองเดวี่สรุปได้ว่าความร้อนเป็นตัวการที่ทำให้น้ำแข็งละลาย ซึ่งเกิดจากการสั่นสะเทือนของอะตอมของสสารที่เกิดจากการเสียดสี

ในระหว่างนี้มีนักวิทยาศาสตร์หลายท่านให้ความสนใจเกี่ยวกับไฟฟ้า พร้อมทั้งค้นพบประโยชน์ของไฟฟ้า เดวี่เป็นนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับไฟฟ้าเช่นกัน เดวี่ได้ทดลองโดยการนำลวดมาต่อเข้ากับขั้วบวกและขั้วลบของแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ที่เขาพบในห้องทดลองของรัมฟอร์ด เมื่อเอาปลายของลวดทั้งสองเข้ามาใกล้ ๆ กัน ปรากฏว่าเกิดประกายไฟกระโดดข้ามไปมา โดยประกายไฟกระโดดมีลักษณะโค้งเล็กน้อยอีกทั้งมีแสงสว่างออกมาด้วยต่อมาเขาได้ทำการทดลองเช่นนี้ในสุญญากาศและได้ผลลัพธ์ออกมาเหมือนกันจากผลการทดลองครั้งนี้ เดวี่ได้นำหลักการนี้ไปประดิษฐ์หลอดไฟ เขาตั้งชื่อหลอดไฟฟ้าชนิดนี้ว่า Arc Light

การทดลองเกี่ยวกับไฟฟ้าของเดวี่ ยังดำเนินต่อไปหลังจากประสบความสำเร็จในครังแรกเดวี่ได้ทำการทดลองแยกธาตุด้วยกระแสไฟฟ้า ซึ่งเขานำแบบอย่างมาจากนิคอสัน ที่สามารถแยกก๊าซไฮโดรเจนและออกซิเจนได้ แต่เดวี่ทำการทดลองอย่างจริงจังและสามารถแยกธาตุได้มากกว่านิคอสันเสียอีก ธาตุที่เดวี่สามารถแยกได้ เช่น โซเดียมไฮดรอกไซด์ หรือโซดาไฟ (Sodium hydroxide) ซึ่งเป็นของแข็ง สีขาว น้ำหนักเบา สามารถลอยน้ำได้ เมื่อถูกน้ำจะระเบิด และลุกเป็นไฟได้ อีกทั้งต้องเก็บรักษาไว้ในน้ำมันเนื่องจากสารชนิดนี้ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนทำให้เปลี่ยนสีสารชนิดนี้ถือว่ามีประโยชน์อย่างมากในวงอุตสาหกรรม เพราะใช้ประโยชน์ในการหาความบริสุทธิ์ของน้ำมัน และทำก๊าซเพื่อบรรจุในหลอดไฟฟ้าที่ให้แสงสว่าง ผลงานที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การแยกสารประกอบของน้ำได้ เดวี่พบว่าน้ำประกอบไปด้วยธาตุ 2 ชนิด คือ ออกซิเจน และไฮโดรเจน นอกจากนี้ยังมีแมกนีเซียม แคลเซียมและโพแทสเซียม เป็นต้น

จากผลงานการแยกธาตุด้วยไฟฟ้าของเดวี่ ในปี ค.ศ. 1812 เดวี่ได้รับพระราชทานเหรียญทองจากราชบัณฑิตยสภาแห่งฝรั่งเศส (Royal Institute of France) และได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมนี้ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นเกียรติสำหรับเดวี่ อย่างมาก เนื่องจากในขณะนั้น อังกฤษและฝรั่งเศสได้ทำสงครามกันอยู่ แต่ความสามารถของเขาก็แสดงให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์ อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง ต่อมาเดวี่ได้รับพระราชทานยศอัศวิน (Knight) จากกษัตริย์

ในปี ค.ศ. 1815 หลังจากที่เขาเดินทางกลับจากท่องเที่ยวในทวีปยุโรป เจ้าของเหมืองและเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งได้มาขอร้องให้ราชบัณฑิตยสภา ช่วยแก้ไขปัญหาเหมือนถ่ายหินระเบิด เนื่องจากภายในเมืองมีก๊าซที่สามารถติดไฟได้ซึ่งคนงานเหมือนเรียกก๊าซชนิดนี้ว่า "ไฟอับ" และเมื่อก๊าซทำปฏิกิริยากับเปลวไฟทำให้เกิดการระเบิดขึ้นภายในเหมือง ซึ่งส่งผลให้คนเสียชีวิตจากเหตุการณ์แต่ละครั้งจำนวนมาก แต่ก็ไม่สามารถเลิกใช้โคมไฟชนิดนี้ได้เนื่องจากภายในเหมืองมืดมาก และไม่มีอุปกรณ์ชนิดอื่นทดแทน เมื่อเกิดระเบิดขึ้นบ่อยครั้งทำให้กรรมกรเหมือนหวาดกลัว และไม่ยอมทำงาน ส่งผลกระทบต่อวงการอุตสาหกรรมอย่างมากเมื่อเดวี่เป็นสมาชิกของราชบัณฑิตยสภา และเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงและผลงานยอดเยี่ยมที่สุดในขณะนัน จึงเป็นผู้รับหน้าที่ในการแก้ไขปัญหานี้ เดวี่เริ่มต้นศึกษาสาเหตุของเหมืองระเบิดว่าเกิดจากก๊าซไฮโดรเจนและคาร์บอน ซึ่งเป็นก๊าซที่ไวไฟมากเมื่อถูกเปลวไฟจะลุกไหม้และลุกลามอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเดวี่จึงออกแบบตะเกียงชนิดหนึ่งขึ้น ชื่อว่าตะเกียงนิรภัย หรือ ตะเกียงเดวี่ (Safety Lamps or Davy Lamps) โดยลักษณะตะเกียงของเดวี่จะล้อมรอบด้วยตะแกรงลวดเส้นบาง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เปลวไฟแลบออกมา และแม้ว่าก๊าซจะสามารถเข้าไปในตะเกียงได้ตะแกรงลวดก็จะป้องกันเปลวไฟ
ไม่ให้ลุกลามออกมาข้างนอกได้ แม้จะมีตะแกรงลวดกั้นตะเกียงชนิดนี้ก็ยังให้แสงสว่างได้ตามปกติ ตะเกียงนิรภัยของเดวี่สามารถป้องกันเหตุการณ์เหมือนระเบิดได้เป็นอย่างดี จากผลงานชิ้นนี้เดวี่ได้รับพระราชทานตำแหน่งบาโรเนต (Baronet) และต่อมาเดวี่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานราชบัณฑิตยสภาอีกด้วย

เดวี่ได้ทำงานอย่างหนักเพื่อปรับปรุงตะเกียงนิรภัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จนกระทั่วล้มป่วย หมอแนะนำให้เขาเดินทางไปตากอากาศในที่ที่มีอากาศเย็นสบายกว่าที่อังกฤษ เดวี่ได้ทำตามคำแนะนำของหมด เขาได้เดินทางไปยังกรุงโรม ประเทศอิตาลีแต่นั้นก็ไม่ทำให้สุขภาพของเขาดีขึ้น แต่อาการกลับหนักขึ้นจนกระทั่งเสียชีวิตในวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1829 ที่เมืองเจนีวาประเทศสวิตเซอร์แลนด์



ที่มา
http://siweb.dss.go.th/Scientist/Scientist/Humphrey%20Davy.html


โรเบิร์ต บอยล์ : Robert Boyle

โรเบิร์ต บอยล์ : Robert Boyle

เกิด วันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 1627 ที่เมืองมันสเตอร์ (Munster) ประเทศไอร์แลนด์ (Ireland)

เสียชีวิต วันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 1691 กรุงลอนดอน (London) ประเทศอังกฤษ (England)

ผลงาน
- ตั้งกฎของบอยล์ (Boyle's Law) ว่าด้วยเรื่องความดันอากาศ

บอยล์เป็นนักเคมีคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของโลก ด้วยนักวิทยาศาสตร์ผู้นี้เป็นผู้บุกเบิกงานด้านเคมีอย่างจริงจัง ผลงานของเขามีประโยชน์มากต่อวงการวิทยาศาสตร์ เป็นต้นว่า การค้นพบธาตุ การเผาไหม้ของโลหะ อีกทั้งเขาเป็นผู้ปรับปรุงเทอร์มอมิเตอร์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และประดิษฐ์หลอดแก้วสุญญากาศ ไม่เฉพาะงานด้านเคมีเท่านั้นที่สร้างชื่อเสียงให้กับบอยล์ งานด้านฟิสิกส์เขาก็มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเรื่องกฎของบอยล์ เป็นทฤษฎีที่สร้างคุณประโยชน์มากมาย และเป็นรากฐานของการประดิษฐ์เครื่องยนต์ชนิดต่าง ๆ หลายชนิดเช่น เครื่องจักรไอน้ำ เครื่องพ่นลม เครื่องยนต์ที่ใช้แรงกดดันของก๊าซ และเครื่องยนต์แบบจุดระเบิดภายใน

บอยล์เกิดเมื่อวันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 1627 ที่เมืองมันสเตอร์ ประเทศไอร์แลนด์ บอยล์เป็นบุตรชายคนสุดท้ายของท่านเอิร์ล แห่งคอร์ด (Earl of Cord) ซึ่งเป็นขุนนางผู้มั่งคั่ง ทำให้บอยล์มีโอกาสได้รับการศึกษาที่ดี และมีโอกาสได้ศึกษาค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างเต็มที่เนื่องจากบิดาของเขาก็ชื่นชอบเรื่องวิทยาศาสตร์เช่นกัน บอยล์ได้รับการศึกษาขั้นต้นที่วิทยาลัยอีตัน(Eton College) ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศอังกฤษ ที่โรงเรียนนี้เขาได้ศึกษาภาษาอังกฤษละติน และฝรั่งเศส

นอกจากนี้เขาได้เรียนภาษากรีก และฮิบรูด้วย เมื่อบอยล์อายุได้ 14 ปี บิดาของเขาได้ส่งเขาไปเรียนภาษาอิตาลี ที่ประเทศอิตาลี ระหว่างที่บอยล์ได้เรียนที่ประเทศอิตาลี เขามีโอกาสได้อ่านหนังสือวิทยาศาสตร์เล่มหนึ่งชื่อว่า เรื่องประหลาดของนักดาราศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ ที่เขียนโดยกาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei) นักดาราศาสตร์ชาวอิตาลี ทำให้เขามีความสนใจในเรื่องวิทยาศาสตร์ และตั้งใจว่าจะต้องเรียนต่อในวิชาวิทยาศาสตร์ต่อไป บอยล์เดินทางกลับประเทศไอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 1644 ปรากฏว่าบิดาของเขาเสียชีวิตพร้อมกับทิ้งมรดกเป็นที่ดิน และปราสาทในสตอลบริดจ์เซทไซร์ (Stallbridge Doe Setshire) ไว้ให้เขา บอยล์ได้เดินทางกลับไปที่ประเทศอังกฤษอีกครั้งหนึ่ง เพื่อศึกษาต่อในวิชาวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด
(Oxfoerd University)

หลังจากจบการศึกษา บอยล์ได้กลับบ้านและทำการทดลองค้นคว้าอย่างจริงจัง งานชิ้นแรดที่บอยล์ให้ความสนใจคือ ผลึก เพราะบอยล์ต้องการหาส่วนประกอบของธาตุต่าง ๆ จากการศึกษาบอยล์พบว่า ผลึกบางชนิดเกิดจากส่วนผสมและสารประกอบทางเคมีบางชนิด

ต่อมาเขาเริ่มศึกษาเกี่ยวกับเครื่องวัดความกดอากาศ จากผลงานของนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงหลายท่าน โดยเริ่มต้นจากเทอร์มอมิเตอร์ของกาลิเลโอ แต่เทอร์มอมิเตอร์ชนิดนี้ใช้น้ำในการวัดซึ่งยังวัดอุณหภูมิได้ไม่ถูกต้องแม่นยำนัก บอยล์ได้นำเทอร์มอมิเตอร์ของกาลิเลโอมาปรับปรุงให้มีประสิทะภาพมากขึ้นโดยใช้ปรอทแทนน้ำ

ต่อมาบอยล์ได้ทำการค้นคว้าเกี่ยวกับความกดอากาศ ซึ่งเป็นเรื่องที่กำลังถกเถียงกันอยู่ในเวลานั้นว่า อากาศมีน้ำหนักหรือไม่และสภาพไร้อากาศหรือสุญญากาศเป็นไปได้หรือไม่ ในปี ค.ศ. 1657 บอยล์ได้อ่านหนังสือของนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันท่านหนึ่ง ชื่อว่าออตโต ฟอน เกริเก (Otto von Guericke) เกี่ยวกับเครื่องสูบอากาศที่เขาประดิษฐ์ขึ้น บอยล์ได้นำเครื่องสูบอากาศของเกริเกมาใช้ในการทดลองเกี่ยวกับความดันอากาศ โดยร่วมมือกับโรเบิร์ต ฮุค (Robert Hooke) และในปี ค.ศ. 1659 เขาก็สามารถปรับปรุงเครื่องสูบอากาศของเกริเกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และได้นำเครื่องสูบอากาศนี้มาใช้ในการทดลองเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างก๊าซกับความดัน นอกจากนี้เขาได้สร้างห้องทดลองสุญญากาศขึ้นด้วย

ในการทดลองครั้งแรกบอยล์ได้นำบารอมิเตอร์ใส่ลงไปในห้องทดลองสุญญากาศ จากนั้นเขาจึงใช้เครื่องสูบอากาศสูบอากาศในห้องทดลองออกทีละน้อย ๆ ปรากฏว่าปรอทในบารอมิเตอร์สูงขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งสูบอากาศออกไปมากเท่าไรปรอทก็ยิ่งสูงขึ้น นอกจากนี้บอยล์ยังได้แขวนนาฬิกาไว้ในห้องนั้น เมื่อนาฬิกามีเสียงดังขึ้นเพียงครั้งเดียวก็หายไป แสดงให้เห็นว่าเมื่อไม่มีอากาศเสียงก็ไม่สามารถดังได้ จากการทดลองครั้งนี้บอยล์สรุปว่าอากาศมีแรงดัน และเสียงไม่สามารถเดินทางได้ในที่ที่ไม่มีอากาศ

ผลจากการทดลองครั้งนี้บอยล์ได้นำมาตั้งเป็นกฎชื่อว่า กฎของบอยล์ (Boyle's Law) กฎนี้กล่าวว่า ถ้าปริมาตรของก๊าซคงที่อุณหภูมิของก๊าซจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นปฏิภาคกลับกันกับความดัน หรือถ้าปริมาตรของก๊าซคงที่ ความดันคงที่ อุณหภูมิก็จะคงที่ สามารถสรุปกฎข้อนี้ได้ว่าปริมาตรของก๊าซจะเพิ่ม - ลด ในอัตราส่วนที่เท่ากันเสมอ เช่น ถ้าเพิ่มความกดดันขึ้นเป็น 1 เท่า ปริมาตรของอากาศจะลดลง 1 เท่า แต่ถ้าเพิ่มความกดดันเป็น 2 เท่า ปริมาตรของอากาศจะลดลงเป็น 2 เท่า ซึ่งกฎของบอยล์เป็นกฎที่ได้รับการยกย่องกันมากในวงการฟิสิกส์ บอยล์ได้ตีพิมพ์ผลงานชิ้นนี้ในปี ค.ศ. 1660 โดยใช้ชื่อหนังสือว่า New Experiment Physic Mechanical, Touching the spring of the Air, and its Effects เมื่อหนังสือเผยแพร่ออกไปกลับได้การตอบรับที่ไม่ดีนัก คนส่วนใหญ่มักเห็นว่ากฎของบอยล์เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

ดังนั้นเขาจึงทำแสดงการทดลองครั้งใหญ่เพื่อแสดงให้คนได้เห็นความจริงข้อนี้ โดยการสร้างหลอดแก้วรูปตัวเจที่มีขนาดความสูงถึง 12 ฟุต ส่วนปลายที่งอขึ้นมีความสูง 5 ฟุต ปิดทางส่วนปลายไว้ แล้วนำไปติดตั้งไว้บริเวณบันไดบ้านของเขา จากนั้นจึงเริ่มทำการทดลองโดยการเทปรอทใส่ลงในหลอดแก้ว ในขั้นต้นปริมาณปรอทอยู่ในระดับที่เท่ากันทั้ง 2 ข้าง จากนั้นจึงเทปรอทเข้าไปในส่วนบนแล้วรีบผิดฝา และทำซ้ำเหมือนเช่นนั้นอีกหลายครั้งจนเห็นได้ชัดเจนว่าปรอทในข้างที่งอขึ้นมีระดับของปรอทสูงกว่าอีกด้านหนึ่ง ผลการทดลองครั้งนี้ทำให้ผู้ที่มาเฝ้าดูการทดลองครั้งนี้เห็นและเข้าใจในกฎของบอยล์

ในปี ค.ศ. 1661 บอยล์ได้เขียนหนังสือขึ้นเล่มหนึ่งชื่อว่า The Sceptical Chemist ซึ่งมีเนื้อหาต่อต้านทฤษฎีของอาริสโตเติลในเรื่องของส่วนประกอบของธาตุต่าง ๆ อาริสโตเติลกล่าวว่าธาตุทั้งหลายในโลกประกอบไปด้วย ดิน น้ำ ลม และไฟ รวมถึงทฤษฎีของพาราเซลลัสที่ว่าธาตุประกอบไปด้วย ปรอท กำมะถัน และเกลือ บอยล์มีความเชื่อว่าธาตุทั้งหลายในโลกประกอบไปด้วยสารประกอบที่แตกต่างกัน ซึ่งต้องได้รับการทดสอบเสียก่อนจึงจะรู้ได้ว่าธาตุชนิดนั้นประกอบไปด้วยสารชนิดใดบ้าง ไม่ใช่ตามทฤษฎีของอาริสโตเติลและพาราเซลลัส หนังสือของบอยล์เล่มนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เนื่องจากผู้คนที่เคยมี ความเชื่อถือในทฤษฎีเก่าของอาริสโตเติล เมื่อได้อ่านหนังสือของบอยล์แล้วก็มีความคิดที่เปลี่ยนไป ต่อมานักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังได้นำวิธีการของบอยล์ไปทดลอง ก็สามารถค้นพบธาตุใหม่ ๆ อีกจำนวนกว่า 100 ชนิด

บอยล์ไม่ได้หยุดยั้งการค้นคว้าของเขาเพียงเท่านี้ เขายังทำการทดลองวิทยาศาสตร์ในแขนงอื่น ๆ อีกหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับไฟฟ้าสถิตและเสียง ในเรื่องของความเร็วของเสียงตั้งแต่ต้นกำเนิดจนถึงปลายทาง และโครงสร้างของผลึกต่าง ๆ ส่วนวิชาเคมีบอยล์ก็ยังให้ความสนใจและทำการทดลองค้นคว้าอยู่เสมอ ซึ่งการทดลองครั้งหนึ่งของบอยล์ เกือบทำให้เขาค้นพบก๊าซออกซิเจน แต่เขาก็พบว่าสัตว์รวมถึงมนุษย์ด้วยไม่สามารถขาดอากาศได้ เพราะเมื่อใดที่ขาดอากาศก็จะต้องเสียชีวิต และกำมะถัน ก็ไม่สามารถลุกไหม้ในสภาพสุญญากาศได้

ในปี ค.ศ. 1666 บอยล์ได้ตีพิมพ์หนังสือออกมาเล่มหนึ่งชื่อว่า Hydrostatics Paradoxes ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความถ่วงจำเพาะของวัตถุ บอยล์ได้ศึกษาเกี่ยวกับอะตอมของสาร เขาได้สรุปสมบัติอะตอมของสารไว้ว่า อะตอมของสารต่างชนิดกันจะมีการเคลื่อนที่แตกต่างกัน และได้ตีพิมพ์ผลงานออกมาอีกเล่มหนึ่งชื่อว่า Original of Forms Qualities According to the Corpuscular Philosophy

บอยล์เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถในหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นเคมี เขาก็ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งวิชาเคมี ด้านฟิสิกส์ก็ได้รับการยกย่องมากจากการค้นพบกฎของบอยล์ และการประดิษฐ์เครื่องมือวิทยาศาสตร์อย่างเทอร์มอมิเตอร์ และบารอมิเตอร์ บอยล์ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งเขาเสียชีวิตในวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 1691 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ


ที่มา
http://siweb.dss.go.th/Scientist/Scientist/Robert%20Boyle.html

โทมัส อัลวา เอดิสัน : Thomas Alva Edison


โทมัส อัลวา เอดิสัน : Thomas Alva Edison

เกิด วันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1847 เมืองมิลาน (Milan) มลรัฐโอไฮโอ (Ohio) ประเทศสหรัฐอเมริกา (United State of America)

เสียชีวิต วันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ.1931 ประเทศสหรัฐอเมริกา (United State of America)

ผลงาน
- ประดิษฐ์หลอดไฟฟ้า
- เครื่องเล่นจานเสียง
- กล้องถ่ายภาพยนตร์
- เครื่องขยายเสียง
- หีบเสียง
- เครื่องบันทึกเสียง

ถ้าจะพูดถึงนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่แล้ว คงจะไม่มีใครเหนือกว่าเอดิสัน เอดิสันประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์จำนวนมากกว่า 1,000 ชิ้น นอกจากนี้เขายังปรับปรุงเครื่องใช้ที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น โทรศัพท์ เครื่องส่งโทรเลข เป็นต้น ผลงานการประดิษฐ์ของเขาเป็นสิ่งที่สร้างความสะดวกสบาย และเป็นประโยชน์อย่างมากให้กับสาธารณชน

เอดิสันเกิดเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1847 ที่เมืองมิลาน มลรัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา บิดาของเขาชื่อว่า แซมมวล เอดิสัน (Samuel Edison) ประกอบธุรกิจในประเทศแคนาดา และได้เข้าร่วมกับขบวนการต่อต้างรัฐบาล เมื่อฝ่ายต่อต้านพ่ายแพ้ เขาจึงต้องลี้ภัยการเมืองมาอยู่ที่ประเทศสหรัฐฯ และทำธุรกิจเกี่ยวกับไม้แปรรูปทุกชนิด เมื่อเอดิสันอายุได้ 7 ขวบ ครอบครัวเขาได้อพยพไปอยู่ที่เมืองพอร์ตฮิวรอน (Port Huron) รัฐมิชิแกน (Michigan) เนื่องจากกิจการของครอบครัวประสบปัญหา และเขาได้รับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนในเมืองพอร์ตฮิวรอนนั่นเอง แต่เขาไปโรงเรียนได้เพียง 3 เดือน เท่านั้นก็ไม่ยอมไปอีก ด้วยความที่เขาเป็นเด็กซุกซนอยากรู้อยากเห็นตลอดเวลา ทำให้ถูกครูตำหนิและลงโทษ เมื่อเขาออกจากโรงเรียนมารดาจึงรับหน้าที่เป็นครูสอนหนังสือให้เขา เขาเรียนหนังสือยู่เพียง 2 ปี เท่านั้น ก็สามารถอ่านเขียนได้อย่างคล่องแคล่ว

สิ่งที่เอดิสันให้ความสนใจมากที่สุดก็คือ วิทยาศาสตร์ การทดลอง และการประดิษฐ์สิ่งของต่าง ๆ ดังนั้นเขาจึงเริ่มหางานทำตั้งแต่อายุได้ 12 ปี เพื่อหาเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อหนังสือเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับการสร้างห้องทดลองวิทยาศาสตร์ อีกทั้งเขาไม่ค่อยชอบเรียนหนังสือในโรงเรียน เอดิสันได้งานทำในบริษัทรถไฟแกรนทรังค์ (Grand Trank Train Company) ในหน้าที่เด็กขายหนังสือพิมพ์ บนรถไฟสายพอร์ตฮิวรอน - ดีทรอยต์ (Port Huron - Detroit) เอดิสันได้ใช้ตู้รถไฟตู้หนึ่งเป็นที่พัก เก็บสารเคมี และหนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ซึ่งเขามักใช้เวลาว่างส่วนใหญ่อยู่ในห้องพักเพื่ออ่านหนังสือ และทำการทดลอง
วิทยาศาสตร์

เอดิสันได้ทำงานอยู่ระยะหนึ่งเขาก็สามารถเก็บเงินได้จำนวนหนึ่ง เขานำเงินไปซื้อแท่นพิมพ์เล็ก ๆ เครื่องหนึ่ง เพื่อมาพิมพ์หนังสือพิมพ์ของเขาเอง ซึ่งเขาเป็นเจ้าของบรรณาธิการ นักเขียน และพนักงานขายหนังสือพิมพ์ด้วย หนังสือพิมพ์ของเอดิสันมีชื่อว่า Grand Trank Herald ซึ่งขายดีมาก เอดิสันได้นำเงินกำไรส่วนหนึ่งซื้ออุปกรณ์ในการทดลองวิทยาศาสตร์ สารเคมี แร่ และหนังสือวิทยาศาสตร์ แต่วันหนึ่งเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อรถไฟเกิดกระชากอย่างแรงทำให้แท่งฟอสฟอรัสตกกระแทกพื้น แล้วเกิดระเบิดอย่างแรง ทำให้ไฟไหม้ตู้รถไฟของเขา แต่โชคดีที่ดับไฟทันไม่ได้ลุกลามไปตู้อื่น แต่ถึงอย่างนั้นเขา
ก็ถูกไล่ออกจากงาน และทำให้หูของเขาต้องพิการ

วันหนึ่งเขาได้ช่วยชีวิตลูกชายของนายสถานีที่กำลังวิ่งเล่นอยู่บนรางรถไฟ ในขณะที่รถไฟกำลังจะเข้าสถานี เอดิสันกระโดดลงไปอุ้มเด็กน้อยคนนั้นขึ้นมาได้ทันเวลาก่อนที่รถไฟจะทับเด็ก นายสถานีจึงสอนการส่งโทรเลขให้กับเอดิสันเป็นการตอบแทน เมื่อเอดิสันมีความชำนาญในการส่งโทรเลขมากขึ้น ในปี ค.ศ.1862 เขาจึงเช่าที่ว่างในร้านขายยาบริเวณใกล้กับสถานีรถไฟเปิดร้านรับจ้างส่งโทรเลขแต่กิจการไม่ค่อยดีนัก เพราะมีร้านรับจ้างส่งโทรเลขหลายร้าน ส่วนร้านของเขาเป็นร้านเล็ก ๆ ที่พึ่งเปิดกิจการ จากนั้นเอดิสันจึงหันมาทำกิจการขายเครื่องจักร โดยเช่าส่วนหนึ่งของร้านขายของเปิดแผนกจำหน่ายเครื่องจักรขึ้น

ในระหว่างที่เอดิสันทำกิจการจำหน่ายเครื่องจักร เขาได้ใช้เวลาว่างประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ขึ้นหลายชิ้น เช่น เครื่องบันทึกคะแนนเสียงในรัฐสภา แต่เมื่อผลิตออกจำหน่ายกลับไม่เป็นที่นิยมเท่าไรนัก เครื่องพิมพ์ราคาตลาดหุ้น และเครื่องโทรเลข 2 ทาง ซึ่งประสบความสำเร็จในการทดลองส่งเป็นอย่างดี เอดิสันได้นำผลงานชิ้นนี้ไปเสนอต่อบริษัทเวสเทิร์ส ยูเนียนเทเลกราฟ (Western Union Telegraph Company) แต่ได้รับการปฏิเสธ ดังนั้นเอดิสันจึงนำผลงานไปเสนอต่อบริษัทโทรเลขแอตแลนติก และแปซิฟิก (Atlantic and Pacific Telegraph Company) ทางบริษัทยอมรับผลงานของเขาแต่เอดิสันโชคร้ายเมื่อเขาทำการทดลองส่งสัญญาณจากนิวยอร์คถึงโรเชสเตอร์ ปรากฏว่าเกิดขัดข้องไม่สามารถส่งสัญญาณได้ ทำให้เมื่อเขากลับมาที่เมืองบอสตันก็ต้องได้รับความลำบากเพราะไม่มีทั้งเงิน และงานก็ไม่มีทำ แต่เอดิสันก็ยังโชคดีอยู่บ้างเมื่อเขาพบกับวิศวกรไฟฟ้าผู้หนึ่ง ชื่อ แฟรงคลิน โปป (Franklin Pope) ได้ให้พักอาศัยอยู่ด้วย และฝากงานให้ทำในบริษัทแจ้งราคาทอง ลอว์โกลด์ อินดิเคเตอร์ (Lawglod Indicator) ซึ่งโปปทำงานอยู่ เอดิสันได้เข้าทำงานในตำแหน่งช่างโทรเลขประจำบริษัท

ด้วยความสามารถของเอดิสันเขาสามารถซ่อมเครื่องส่งโทรเลขได้เป็นอย่างดี และได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยของโปป และเมื่อโปปลาออก เขาก็ได้ดำรงตำแหน่งแทนโปป ต่อมาบริษัทได้รวมกิจการเข้ากับบริษัทเวสเทิร์น ยูเนียน เทเลหราฟเอดิสันจึงลาออก หลังจากนั้นเขาได้เปิดบริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าร่วมกับโปป และหุ้นส่วนอีกคนหนึ่งชื่อว่า เจ.เอช.แอชลีย์ เอดิสันต้องทำงานหนักอยู่เพียงลำพังต่างกับหุ้นส่วนที่คอยรับผลประโยชน์ แต่เมื่อผลกำไรออกมาทุกคนต่างก็ได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ทำให้เอดิสันรู้สึกไม่พอใจที่ถูกเอาเปรียบเช่นนี้

ดังนั้นในปี ค.ศ.1871 เอดิสันจึงถอนหุ้นออกจากโรงงาน และเดินทางไปยังเมืองนิววาร์ด รัฐนิวเจอร์ซี (New Jersey) เพื่อเปิดบริษัทผลิตเครื่องใช้ต่าง ๆ บริษัทของเอดิสันประสบความสำเร็จอย่างมาก จากการจำหน่ายเครื่องป้องกันความผิดพลาดของใบแจ้งราคาหุ้น ต่อมาในปี ค.ศ.1876 เอดิสันได้ย้ายโรงงานไปที่เมืองเมนโล ปาร์ค (Menlo Park) รัฐนิวยอร์ค (New York) และในปีเดียวกันนี้อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ (Alexander Graham Bell) สามารถประดิษฐ์โทรศัพท์ขึ้นเป็นผลสำเร็จ ส่งผลให้บริษัทโทรเลขประสบปัญหาขาดทุนอย่างรุนแรงดังนั้นบริษัทเวสเทิร์น ยูเนียน เทเลกราฟ จึงได้ว่าจ้างเอดิสันปรับปรุงโทรศัพท์ของเบลล์ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น เอดิสันได้พยายามหาวัสดุชนิดอื่น เพื่อใช้แทนแผ่นเหล็กที่เบลล์ใช้ใน
โทรศัพท์ จนกระทั่งเอดิสันทดลองนำคาร์บอนมาทาบริเวณแผ่นเหล็ก ปรากฏว่าได้ยินเสียชัดเจนขึ้น ซึ่งทำให้เป็นที่นิยมในเวลาไม่นานนัก

ถึงแม้ว่าโทรศัพท์จะจำหน่ายได้ดีเพียงใด เอดิสันก็ได้รับค่าตอบแทนเพียง 100,000 ดอลลาร์เท่านั้น แต่ประโยชน์ที่เอดิสันได้รับนอกจากเงินก็คือ ระหว่างที่เขาปรับปรุงโทรศัพท์อยู่นั้น เขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องหลายอย่าง และจากการปรับปรุงโทรศัพท์ครั้งนี้ทำให้เขาได้พบวิธีประดิษฐ์หีบเสียง ในปี ค.ศ.1877 ซึ่งใช้หลักการเดียวกับโทรศัพท์ คือ เมื่อมีเสียงส่งผ่านเข้าไปจะทำให้โลหะที่อยู่ภายในสั่น ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เกิดเสียง เมื่อผลงานชิ้นนี้ของเขาได้เผยแพร่ออกไป ปรากฏว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เอดิสันได้ปรับปรุงหีบเสียงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งประดิษฐ์ของเขาอีกชิ้นหนึ่ง ก็คือ เครื่องบันทึกเสียง

เครื่องบันทึกเสียงของเขาประกอบไปด้วยกระบอกสูบเป็นร่องที่เป็นลานเกลียวยาวอันหนึ่ง ซึ่งหมุนไปด้วยข้อเหวี่ยงทั้งสองด้านของกระบอกสูบนี้เป็นท่อเล็ก ๆ พร้อมกับมีแผ่นกะบัง และเข็มเขาได้ส่งแบบเครื่องบันทึกเสียงพร้อมกับคำแนะนำให้กับ จอห์น ครุยส์ (John Kruesi) หัวหน้าผู้ช่วยของโรงงาน เมื่อครุยส์นำเครื่องกลที่สร้างเสร็จแล้วมาให้เอดิสัน แต่ครุยส์ก็ยังไม่เข้าใจว่าเครื่องกลนี้มีประโยชน์อย่างไร จนกระทั่งเอดิสันพูดใส่ลงไปในกระบอกสูบว่า"Mary have a small sheep" และหมุนเครื่องอีกครั้ง ก็มีเสียงดังออกมาว่า "Mary have a small sheep" สร้างความประหลาดใจให้กับคนงานในโรงงานเป็นอย่างมาก เครื่องบันทึกเสียงถือได้ว่าเป็นผลงานชิ้นที่เขาชื่นชอบมากที่สุด ต่อมาเขาได้ปรับปรุงเครื่องบันทึกเสียงมาเป็นเครื่อง
บันทึกโทรเลข (Automatic Telegraph Repeater)

เอดิสันได้นำผลงานทั้งสองชิ้นไปแสดงให้อัลเฟรด อีลีบัช (Alfred Dlybeah) บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไซแอนติฟิคอเมริกัน (Scientific American Newspaper) เมื่ออีลีบัชได้เห็นสิ่งประดิษฐ์ของเอดิสัน เขารู้สึกตื่นเต้นมาก และได้นำผลงานทั้ง 2 ชิ้น ของเอดิสันลงในหนังสือพิมพ์ เมื่อข่าวนี้เผยแพร่ออกไปทำให้เอดิสันมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก และได้รับการยกย่องเป็นอย่างมาก เอดิสันได้รับเชิญจากบุคคลสำคัญหลายท่าน ให้นำผลงานของเขาไปแสดงให้ดู เช่น ลูเธอร์ฟอร์ด บีชาร์ด เฮส์ (Rutherford Birchard Hayes)ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา พระราชินีแห่งอังกฤษกษัตริย์แห่งรัสเซีย รวมถึงประธานาธิบดีแห่งเยอรมนี
ด้วย

เอดิสันยังคงค้นคว้าและประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ ต่อไป ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขามากที่สุดก็คือ หลอดไฟฟ้า ก่อนหน้านั้นเซอร์ฮัมฟรี เดวี่ (Sir Humphry Davy) ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับไฟฟ้าโดยการนำลวดมาต่อเข้ากับขั้วบวกและลบ ของแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ เมื่อเอาปลายของลวดทั้งสองเข้ามาใกล้ ๆ กัน ปรากฏว่าเกิดประกายไฟกระโดดข้ามไปมา โดยประกายไฟกระโดด มีลักษณะโค้งเล็กน้อยอีกทั้งมีแสงสว่างออกมาด้วย ต่อมาเขาได้ทำการทดลองเช่นนี้ในสูญญากาศและผลจากการทดลองครั้งนี้เดวี่ได้นำไปประดิษฐ์หลอดไฟ โดยตั้งชื่อหลอดไฟฟ้าชนิดนี้ว่า Arc Light แต่เส้นลวดไม่สามารถทนความร้อนได้สูง ทำให้การใช้งานของหลอดชนิดนี้มีอายุสั้น จากการทดลองของเดวี่ เอดิสันจึงได้พยายามค้นหาตัวนำที่สามารถทนความร้อนได้สูง เอดิสันทดลองใช้วัสดุมากกว่า 10,000 ชนิด มาทำการทดลองใช้เป็นไส้ของหลอดไฟ และในปี ค.ศ.1879 เอดิสันก็พบว่า เมื่อนำเส้นใยที่ทำด้วยฝ้ายมาทำด้าย จากนั้นนำมาเผาไฟจะได้ถ่านคาร์บอนที่ทนความร้อนได้สูง จากนั้นจึงนำมาบรรจุไว้ในหลอดสูญญากาศ หลอดไฟของเอดิสันสามารถจุดให้แสงสว่างได้นานถึง 45 ชั่วโมง หลอดไฟฟ้าชนิดนี้มีชื่อว่า Incandesent Electric Lamp แต่ถึงอย่างนั้นเอดิสันก็ยังต้องการหาวัสดุที่ดีกว่า เขาได้ส่งคนงานจำนวนหนึ่งออกไปเสาะหาวัสดุที่ดีกว่าฝ้ายและในที่สุดเขาก็พบว่าเส้นใยของไม้ไผ่ในประเทศญี่ปุ่นมีคุณภาพดีกว่า แต่ถึงกระนั้นหลอดไฟฟ้าของเอดิสันก็ยังไม่เป็นที่นิยมเท่าไรนัก เพราะราคาค่าไฟฟ้าในขณะนั้นแพงมาก

เอดิสันจึงเดินทางกลับมานิวยอร์คอีกครั้งหนึ่ง และก่อตั้งบริษัทชื่อว่า Edison Electric Limit Company เพื่อสร้างเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า โดยการนำไดนาโมของไมเคิล ฟาราเดย์ (Michael Faradayป มาปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเขาได้ตั้งชื่อเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าเครื่องนี้ว่า "Beauty Mary Ann" ตามชื่อของภรรยาของเขา จากนั้นเอดิสันได้วางสายไฟฟ้าไปทั่วเมืองนิวยอร์ค ทำให้ทุกคนได้มีโอกาสได้ใช้ไฟฟ้ากันอย่างทั่วถึง นับว่าเอดิสันเป็นผู้ที่บุกเบิกกิจการไฟฟ้าในประเทศสหรัฐอเมริกาเลยก็ว่าได้ นอกจากนี้เขายังสร้างเครื่องวัดกระแสไฟฟ้า และสายดินเพื่อป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าอีกด้วย กิจการของเอดิสันดำเนินไปได้ด้วยดีทั้งการจำหน่ายหลอดไฟฟ้า และจำหน่ายกระแสไฟฟ้า

ต่อมาในปี ค.ศ.1889 เขาได้ประดิษฐ์เครื่องมือเกี่ยวกับการถ่ายภาพขึ้น โดยใช้หลักการเดียวกับเครื่องบันทึกเสียง ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นการถ่ายภาพเคลื่อนไหว หรือกล้องถ่ายภาพยนตร์ แต่ในขั้นแรกภาพที่ถ่ายยังไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ต่อมาในปี ค.ศ.1912 เขาได้ปรับปรุงและทำให้ภาพเคลื่อนไหวได้ นอกจากกล้องถ่ายภาพยนตร์แล้วเขายังสร้างเครื่องฉายภาพยนตร์ ขึ้นด้วย ต่อจากนั้นเอดิสันได้สร้างภาพยนตร์ที่พูดได้ครั้งแรกของโลกขึ้น โดยใช้เครื่องบันทึกเสียงเข้ามาเป็นส่วนประกอบในการฉายภาพยนตร์ เขาได้ว่าจ้างนักแสดงจากบรอดเวย์ (Broadway) มาแสดงในภาพยนตร์ของเขา ภาพยนตร์เครื่องแรกของเอดิสันชื่อว่า Synchronized Movie

ผลงานของเอดิสันยังมีอีกหลายชิ้น ได้แก่ เครื่องเล่นจานเสียง เครื่องขยายเสียง (Amplifier) เครื่องอัดสำเนา (Duplicating Machine) และแบตเตอรี่ที่ทำจากนิกเกิลและเหล็ก เป็นต้น เอดิสันได้ทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ให้กับการประดิษฐ์คิดค้น เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ อยู่เสมอ การที่เขาทำงานอย่างหนักและพักผ่อนเพียงวันละ 3-4 ชั่วโมง เท่านั้น ทำให้เอดิสันได้ล้มป่วยลงด้วยโรคกระเพาะ เบาหวาน และปัสสาวะเป็นพิษแต่เมื่ออาการทุเลาลง แทนที่เขาจะหยุดพักผ่อนกลับไปทำงานอย่างหนักอีก ทำให้อาการป่วยกำเริบขึ้นมาอีกครั้ง และเป็นสาเหตุทำให้เขาเสียชีวิตในวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ.1931 จากนั้นรัฐบาลได้สร้างหลอดไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไว้บนยอดเสาสูง 13 ฟุต 8 นิ้ว เส้นผ่านศูนย์กลาง 9 ฟุต 2 นิ้ว หนัก 3 ตัน มีหลอดไฟบรรจุอยู่ภายในถึง 12 ดวง ซึ่งมีกำลังไฟฟ้ารวมกันถึง 5,200 วัตต์ หลอดไฟฟ้าอันนี้สร้างเสร็จในปี ค.ศ.1934 เพื่อระลึกถึงคุณประโยชน์ที่เขาได้สร้างเอาไว้



ที่มา
http://siweb.dss.go.th/Scientist/Scientist/Thomas%20Alva%20Edison.html


เอ็ดเวิร์ก เจนเนอร์ : Edward Jenner

เอ็ดเวิร์ก เจนเนอร์ : Edward Jenner

เกิด วันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1749 ที่เมืองเบิร์กเลย์ (Berglay) ประเทศอังกฤษ (England)

เสียชีวิต วันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 1823 ที่เมืองเบิร์กเลย์ (Berglay) ประเทศอังกฤษ (England)

ผลงาน
- ค้นพบวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ (Small Pox)

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 เป็นยุคที่ผู้คนต้องเผชิญหน้ากับโรคระบาดที่ร้ายแรงทั้งหลายโดยเฉพาะโรคไข้ทรพิษเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนไปจำนวนมาก เพราะโรคไข้ทรพิษเป็นโรคระบาดที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว เมื่อผู้ใดป่วยด้วยโรคนี้ก็หาทางรอดชีวิตได้ยาก ถึงแม้ว่าจะรอดชีวิตก็อาจจะตาบอด และมีแผลที่เป็นที่น่าเกลียดติดตัวไปตลอดชีวิต โรคไข้ทรพิษเป็นโรคที่ระบาดทั่วไปทั้งในเอเชีย ยุโรป และในอเมริกา

จากรายงานฉบับหนึ่งรายงานว่าเฉพาะในประเทศเยอรมนีประเทศเดียวมีคนเสียชีวิตด้วยโรคนี้ถึง 30,000 คนต่อปี แต่ในที่สุดโรคร้ายนี้ก็ถูกสยบลงด้วยความสามารถและความพยายามของนายแพทย์ชาวอังกฤษนามว่า เอ็ดเวิร์ค เจนเนอร์ เขาได้พบวิธีปลูกฝีเพื่อป้องกันโรคไข้ทรพิษ และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาผู้คนก็ไม่ต้องหวาดกลัวกับโรคร้ายแรงชนิดนี้อีกต่อไป

เจนเนอร์เกิดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1749 ที่เมืองเบิร์กเลย์ ประเทศอังกฤษ บิดาของเขาเป็นนักบวช เจนเนอร์เป็นเด็กฉลาดและช่างสังเกต เขาได้ประดิษฐ์บอนลูนที่สามารถลอยขึ้นท้องฟ้าได้ แต่ไม่มีใครเชื่อว่านั้นคือสิ่งประดิษฐ์ แต่คิดว่าเกิดจากผีที่สิงอยู่ในบอลลูน เมื่อจบการศึกษาขั้นต้นแล้ว เข้าได้เขาศึกษาต่อในวิชาแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเมืองบริสตอล ในปี ค.ศ. 1773 เมื่อเจนเนอร์สำเร็จการศึกษาเขาได้เข้าทำงานเป็นแพทย์ฝึกหัดกับศัลยแพทย์ประจำเมืองเบิร์กเลย์บ้านเกิดของเขานั่นเอง

ต่อมาเจนเนอร์ได้เดินทางไปยังกรุงลอนดอน เพื่อศึกษาวิชาแพทย์กับศัลยแพทย์ผู้มีชื่อเสียงนามว่า จอห์น ฮันเตอร์ (John Hunter) หลังจากจบการศึกษาแล้วเจนเนอร์ได้เปิดคลีนิคส่วนตัวที่กรุงลอนดอนนั่นเอง

ต่อมาในปี ค.ศ. 1792 เจนเนอร์เริ่มการค้นคว้าเกี่ยวกับโรคไข้ทรพิษ ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักอยู่ในทวีปยุโรป รวมถึงประเทศอังกฤษ มีผู้คนที่ต้องเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเป็นเด็ก วันหนึ่งเขาสังเกตเห็นว่า หญิงรีดนมวัวที่ป่วยเป็นโรคฝีดาษวัว (Cow Pox) ซึ่งเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง ที่มีแผลพุพองตามตัว แต่หญิงรีดนมวัวเหล่านี้ไม่มีผู้ใดป่วยเป็นโรคไข้ทรพิษแม้แต่สักคนเดียว มีเพียงพุพองนิดหน่อยเท่านั้น เจนเนอร์จึงเกิดความคิดว่าถ้านำน้ำหนองในแผลของหญิงรีดนมวัวชื่อว่า ซาราห์ เนลเมส (Sarah Nelmes) มาสกัดเป็นวัคซีน โดยการทำให้เชื่ออ่อนตัวลง เมื่อเจนเนอร์สามารถสกัดวัคซีนได้แล้วเขาได้นำวัคซีนไปทดลองกับสัตว์หลายชนิดจนกระทั่งในวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1796 เจนเนอร์ได้นำวัคซีนนั้นมาฉีดให้กับเจมส์ฟีพส์ (James Phipps) เด็กชายวัย 8 ขวบ โดยการกรีดผิวหนังที่แขนของเจมส์จนเป็นแผล จากนั้นจึงนำหนองฝีวัวใส่ลงไป และถือว่านี้คือครั้งแรกของโลกที่มีการปลูกฝีขึ้น ปราฏกว่าเจมส์ป่วยเป็นไข้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

หลังจากนั้นอีกประมาณ 2 เดือน เจนเนอร์ได้นำเชื้อไข้ทรพิษมาฉีดให้กับเจมส์ ปรากฏว่าเจมส์ไม่ป่วยเป็นโรคไข้ทรพิษ เจนเนอร์ได้ทดลองวัคซีนของเขาอีกหลายครั้งจนมั่นใจว่าวัคซีนของเขาสามารถป้องกันโรคไข้ทรพิษได้

เมื่อการทดลองของเขาประสบความสำเร็จ และได้ปรับปรุงวัคซีนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อมาในปี ค.ศ. 1798 เขาได้นำรายงานผลการทดลงส่งให้กับทางราชสมาคมแห่งกรุงลอนดอน (Royal Society of London) แต่ปรากฏว่าทางราชสมาคมไม่สนใจผลงานของเขาแม้แต่น้อย อีกทั้งยังส่งผลงานเขากลับคืนมาอีกด้วย แต่ถึงอย่างนั้นเจนเนอร์ก็ไม่สนใจ เขาได้ตีพิมพ์ผลงานของเขาด้วยเงินทุนส่วนตัว และใช้ชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า An Inquiry into theCauses and Efects of the Variolae Vaccine มีจำนวน 75 หน้า ภายในหนังสือเล่มนี้มีรายละเอียดเกี่ยวกับการป้องกันโรคไข้ทรพิษ โดยการปลูกฝีที่สกัดจากน้ำหนองของผู้ป่วยโรคฝีดาษวัว เมื่อผลงานของเขาได้เผยแพร่ออกไป ปรากฏว่าถูกคัดค้านจากวงการแพทย์และเห็นว่าเป็นเรื่องตลก หลอกหลวงเนื่องจากเหตุการณ์เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งที่มีสตรีในกรุงคอนสแตนติโนเปิลนามว่า แมรี่ เวิทลีย์ มอนตากูว์เกิดความคิดว่าการป้องกันโรคไข้ทรพิษน่าจะใช้เชื่อไข้ทรพิษนั่นแหละ ดังนั้นเธอจึงนำลูก ๆ ของเธอไปให้นายแพทย์ผู้หนึ่งปลูกฝีให้ และลูก ๆ ของเธอก็บังเอิญไม่ป่วยเป็นโรคไข้ทรพิษและเนื่องจากเธอไม่ได้เป็นแพทย์ หรือมีความเกี่ยวกับวิชาการแพทย์ เธอจึงนำเรื่องนี้ มาบอกแก่แพทย์ชาวอังกฤษผู้หนึ่งในกรุงลอนดอน ซึ่งแพทย์ผู้นี้ก็เห็นดีด้วยจึงได้นำเชื้อไข้ทรพิษมาทำวัคซีนผลปรากฏว่าผู้ที่มา
ปลูกฝี กลับป่วยเป็นโรคไข้ทรพิษและเสียชีวิตต่อมา

แต่ผลงานของเจนเนอร์ประชาชนส่วนหนึ่งกลับเชื่อถือและพากันมาให้เขาปลูกฝี ปรากฏว่าการปลูกฝีของเจนเนอร์สามารถป้องกันโรคไข้ทรพิษได้เป็นอย่างดี ทำให้ผู้คนเสียชีวิตด้วยโรคไข้ทรพิษน้อยลง ผู้คนเชื่อ มั่นในตัวเจนเนอร์มากขึ้น หลังจากนั้นไม่นาน เจนเนอร์ ก็ได้รับการยอมรับจากทุกคน

และจากผลงานของเขาชิ้นนี้ในปี ค.ศ. 1800 ทางรัฐสภาของประเทศอังกฤษได้รับรองผลการทดลอง และวัคซีนที่เขาผลิตขึ้นพร้อมมอบเงินให้กับเจนเนอร์ถึง 10,000 ปอนด์ เพื่อใช้ในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ ต่อมาอีก 5 ปี เจนเนอร์ได้รับเงินทุนสนับสนุนอีก 20,000 ปอนด์ เพื่อใช้ในการค้นคว้าเรื่องวัคซีนต่อไป

เจนเนอร์ยังทำงานค้นคว้าเกี่ยวกับวัคซีนต่อไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 1823 ที่เมืองเบิร์กเลย์ ประเทศอังกฤษ หลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้วทางรัฐบาลได้สร้างอนุสาวรีย์ที่จัตุรัสฟอลการ์ เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการช่วยชีวิตของมนุษย์ให้พ้นจากโรคร้ายแรงนี้ได้


ที่มา
http://siweb.dss.go.th/Scientist/Scientist/Edward%20Jenner.html


อังตวน แวน เลเวนฮุค : Anton Van Leeuwenhoek

อังตวน แวน เลเวนฮุค : Anton Van Leeuwenhoek

เกิด วันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1632 ที่เมืองเดลฟท์ (Delft) ประเทศเนเธอร์แลนด์ (Netherlands)


เสียชีวิต วันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1723 ที่เมืองเดลฟท์ (Delft) ประเทศเนเธอร์แลนด์ (Netherlands)

ผลงาน

- ประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์
- ค้นพบจุลินทรีย์

แม้ว่าชื่อของเลเวนฮุคจะไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายนักในวงการวิทยาศาสตร์ แต่ถ้าพูดถึงกล้องจุลทรรศน์แล้วไม่มีใครเลยที่จะไม่รู้จักและรู้ถึงคุณประโยชน์อันมหาศาลของกล้องจุลทรรศน์อันนี้ และผู้ที่ประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์นั่นก็คือ อังตวน แวน เลเวนฮุคเขาได้ใช้กล้องจุลทรรศน์ที่เขาประดิษฐ์สังเกตดูสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเขาซึ่งยังไม่เคยมีใครสนใจหรือศึกษามาก่อน เพราะสัตว์บางประเภทที่เขาศึกษาไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าหรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อของ จุลินทรีย์ การค้นพบจุลินทรีย์ของเลเวนฮุค สร้างประโยชน์ในวงการแพทย์ และวงการวิทยาศาสตร์อย่างมากในเวลาต่อมา

เลเวนฮุคเกิดเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1632 ที่เมืองเดลฟท์ ประเทสเนเธอร์แลนด์ ในครอบครัวของชนชั้นกลาง บิดาของเขามีอาชีพต้มกลั่นและสานตะกร้า ซึ่งเสียชีวิตหลังจากที่เขาเกิดมาได้เพียงไม่กี่ปี ทำให้ครอบครัวของเขายากจนและได้รับความลำบาก แม่ของเขาต้องทำหน้าที่หารายได้เลี้ยงครอบครัวเพียงลำพัง


เลเวนฮุคไม่ได้รับการศึกษาสูงนัก แต่ก็ยังมีโอกาสได้รับการศึกษาจนอายุได้ 16 ปี จึงได้ลาออกจากโรงเรียน และได้เดินทางไปยังเมืองอัมสเตอร์ดัม (Amsterdam) เมืองหลวงของประเทศเนเธอร์แลนด์เพื่อหางานทำ เลเวนฮุคได้งานทำในตำแหน่งเสมียน และทำบัญชีสินค้าของร้านจำหน่ายสินค้าแห่งหนึ่ง เลเวนฮุคทำงานอยู่ที่นี่นานถึง 5 ปี จึงลาออก เพื่อกลับบ้านที่เมืองเดลฟท์ เลเวนฮุคใช้เงินที่เขาเก็บไว้เมื่อครั้งที่ทำงานมาเปิดร้านค้าจำหน่ายเสื้อผ้าและของใช้เบ็ดเตล็ดต่าง ๆ เช่นเดียวกับร้านที่เคยทำงาน ส่วนเวลาว่างในช่วงหัวค่ำเขาได้รับจ้างเป็นยามรักษาการณ์ให้กับศาลาประชาคม ของเมืองเดลฟท์ (Delft City Hall) ซึ่งเขาทำงานในตำแหน่งนี้จนกระทั่งเสียชีวิต

แม้ว่าเลเวนฮุคจะได้รับการศึกษามาน้อย แต่ด้วยความที่เขาเป็นคนช่างสังเกตสิ่งรอบ ๆ ตัวอย่างละเอียด อีกทั้งด้วยความที่เป็นคนตระหนี่ทำให้เมื่อแว่นขยายที่ใช้ส่องดูผ้าภายในร้านหล่นจนร้าว เขาก็ไม่ได้ซื้อใหม่ แต่จะพยายามฝนเลนส์ให้สามารถใช้ได้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเลนส์ที่เขาฝนขึ้นมาเองนั้นมีประสิทธิภาพมากกว่าเลนส์ที่วางขายอยู่ตามทั่วไปเสียอีก ซึ่งการฝนเลนส์ต่อมากลายเป็นงานอดิเรกอย่างหนึ่งของเลเวนฮุค เขาใช้ความพยายามในการฝนเลนส์ให้มีขนาดเล็กมาก และในที่สุดเขาก็สามารถฝนเลนส์ที่มีขนาดเพียง 1/8 นิ้ว หรือประมาณเท่ากับหัวไม้ขีดไฟเท่านั้น จากนั้นเขาจึงนำเลนส์มาสร้างเป็นกล้องจุลทรรศน์ โดยใช้หลักการเดียวกับกาลิเลโอที่ประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์ แต่แทนที่จะใช้ทมองสิ่งที่อยู่ไกล กลับใช้มองสิ่งใกล้ ๆ และขยายให้ใหญ่ขึ้น


โดยกล้องจุลทรรศน์ของเลเวนฮุคประกอบไปด้วยเลนส์นูน 2 อัน ซ้อนกันและประกบติดไว้กับโลหะ 2 ชิ้น ส่วนด้านบนเป็นช่องมองและมีด้ามสำหรับถือ อีกทั้งยังมีสกูรสำหรับปรับความคมชัดของภาพ เลเวนฮุคสามารถประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยายมากถึง 300 เท่า

หลังจากที่เลเวนฮุคประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์สำเร็จ เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ในการศึกษาธรรมชาติที่อยู่รอบ ๆ ตัวเขา เช่น พืช แมลง ขนสัตว์ และสิ่งต่าง ๆ อีกหลายชนิด แม้แต่ในน้ำส้มสายชู หรือในน้ำซุป เขาก็ใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดู วันหนึ่งเลเวนฮุคได้ใช้ กล้องจุลทรรศน์ส่องดูน้ำที่ขังอยู่บนพื้นดิน ปรากฏว่าเขาสามารถมองเห็นสัตว์ตัวเล็ก ๆ จำนวนมาก ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เลเวนฮุคเรียกสัตว์จำพวกนี้ว่า "Wretahed Beasties" เลเวนฮุคได้อธิบายลักษณะของสัตว์บางตัวที่เขาเห็นว่า ตัวของมันเป็นเม็ดกลมใสหลาย ๆ อันมาต่อกัน และมีเขาสองอันซึ่งใช้สำหรับการเคลื่อนที่

เมื่อเขาเห็นสัตว์พวกนี้ผ่านทางกล้องจุลทรรศน์ เขามีความสงสัยต่อไปอีกว่า สัตว์เหล่านี้มาจากที่ไหน ซึ่งนำไปสู่การค้นคว้าของเขาเกี่ยวกับเรื่องจุลินทรีย์ ในขั้นแรกเขาได้รองน้ำฝนที่ตกจากท้องฟ้าใหม่ ๆ ใส่ลงในภาชนะที่ล้างสะอาด มาส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ปรากฏว่าพบจุลินทรีย์เพียง 2 - 3 ตัวเท่านั้น ซึ่งเลเวนฮุคสันนิษฐานว่าติดมาจากรางรองน้ำฝน หลังจากนั้นเขานำน้ำฝน มาวางไว้กลางแจ้ง 4 วัน แล้วส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์อีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่ามีสัตว์ตัวเล็ก ๆ จำนวนมาก เขาได้นำสัตว์เหล่านี้ไปเทียบสัดส่วนกับหมัดกันเนย พบว่ามีขนาดแตกต่างกันถึง 2,000 - 3,000 เท่า


ผลจากการทดลองของเลเวนฮุคสามารถสรุปได้ว่า สัตว์เหล่านี้ไม่ได้มาจากท้องฟ้าอย่างที่เข้าใจกัน แต่มากับลมที่พัดสัตว์เหล่านี้มาจากที่แห่งใดสักที่หนึ่ง ต่อมาพอล เดอ คราฟ (Paul de Kruif) นักแบคทีเรียวิทยาชาวอเมริกัน ทำการวิจัย และพบว่าสัตว์เล็ก ๆ เหล่านี้เป็นตัวเชื้อโรคที่ทำให้คนเจ็บป่วยได้ ระหว่างนี้เลเวนฮุคก็ได้ปรับปรุงกล้องจุลทรรศน์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ

เลเวนฮุคมักใช้กล้องของเขาส่องดูตามแหล่งน้ำต่าง ๆ เช่น จากแอ่งน้ำบนถนน ซึ่งพบว่ามีสัตว์เหล่านี้จำนวนมากมายมหาศาลกว่าที่ใด ๆ และพบสัตว์ที่มีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่เขาเคยได้เห็นมาก่อน ครั้งหนึ่งเลเวนฮุคได้ทดลองนำน้ำทะเลมาส่องกล้องดู เขาพบว่าสัตว์ตัวเล็ก ๆ สีดำลักษณะเป็นเม็ดกลม 2 อัน ต่อกัน ในขณะที่มันเคลื่อนไหวจะใช้วิธีกระโดดไปเช่นเดียวกับหมัด แต่มีขนาดเล็กกว่ากันถึง 1,000 เท่า ดังนั้นเขาจึงเรียกสัตว์ชนิดนี้ว่า "หมัดน้ำ" เลเวนฮุคยังคงค้นหาจุลินทรีย์ด้วยกล้องจุลทรรศน์ของเขาต่อไป ซึ่งเขา
ได้พบจุลินทรีย์ชนิดต่าง ๆ กว่า 100 ชนิด ซึ่งบางประเภทมีขนาดเล็กกว่าเม็ดทรายถึง 1,000 เท่า

ผลงานการค้นพบของเลเวนฮุคยังไม่ได้รับการเผยแพร่ออกไป จนกระทั่งวันหนึ่งเขามีโอกาสได้พบกับ ดอกเตอร์เรคนิเออร์ เดอ กราฟ (Dr. Regnier de Graaf) นักชีววิทยาชาวดัทซ์ บอกให้เขาลองส่งผลงานไปยังราชสมาคมแห่งกรุงลอนดอน (Royal Society of London) เมื่อทางสมาคมได้รับจดหมายฉบับแรกของเลเวนฮุค ภายในจดหมายฉบับนี้มีเนื้อหาเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งที่เขาค้นพบจากกล้องจุลทรรศน์ เช่น เหล็กไนของผึ้ง เชื้อราที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนัง เป็นต้น


หลังจากนั้น เลเวนฮุคก็เขียนเล่าในสิ่งที่เขาค้นพบลงในจดหมาย ส่งให้กับราชสมาคมแห่งกรุงลอนดอนอย่างสม่ำเสมอในปี ค.ศ. 1674 เลเวนฮุค ได้เขียนเล่าเรื่องเกี่ยวกับเรื่องเส้นเลือดฝอยกับเส้นโลหิตใหญ่ และเส้นเลือดดำ โดยการค้นพบครั้งนี้ถือเป็นการสนับสนุนทฤษฎีระบบการไหลเวียนโลหิตของวิลเลี่ยม ฮาร์วี่ (William Harvey) นายแพทย์ชาวอังกฤษ ที่ยังเป็นเรื่องถกเถียงกันอยู่ ไม่เพียงเท่านี้เขายังสามารถอธิบายลักษณะของเม็ดโลหิตได้อย่างละเอียดทั้งของคนที่มีลักษณะเป็นทรงกลม ของสัตว์จำพวกนก ปลา และกบ ว่ามีลักษณะเป็นวงรี นอกจากนี้เขาได้ส่งรายละเอียดเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ ผม และรังไข่ ซึ่งเขาอธิบายเกี่ยวกับเชื้อสืบพันธุ์ได้อย่างละเอียด

เลเวนฮุคยังเขียนจดหมายไปยังราชสมาคมแห่งกรุงลอนดอนอีกหลายฉบับ เป็นต้นว่าการค้นพบโปรโตซัว (Protozoa) แบคทีเรีย (Bacteria) แม้แต่เรื่องราวของสัตว์เล็ก ๆ อย่างมด ที่ไม่มีผู้ใดสนใจ แต่เลเวนฮุคก็ให้ความสนใจ และศึกษาวงจรชีวิตของมดอย่างจริงจัง ตั้งแต่มดวงไข่ไว้บนต้นกระบองเพชร และเมื่อออกจากไข่เป็นตัวอ่อน และเจริญเติบโตต่อไปจนตาย นอกจากมดแล้วเลเวนฮุคยังได้ศึกษาวงจรชีวิตของหอยกาบ การชักใยของแมงมุมและวงจรเพลี้ย ทำให้เขารู้ว่าเพลี้ยเป็นตัวการสำคัญในการทำลายพืชผลของเกษตรกร หมัดเป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่เลเวนฮุคให้ความสนใจ เมื่อเขาศึกษาอยู่ระยะหนึ่ง เลเวนฮุคพบว่าอันที่จริง
แล้วหมัดเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่มีการสืบพันธุ์ และมีวงจรชีวิตเช่นเดียวกับสัตว์อื่น ไม่ได้เกิดจากพื้นดิน หรือสิ่งที่เน่าเปื่อยอย่างที่เข้าใจกันมา ซึ่งอันนี้รวมถึงปลาไหล ปลาดาว และหอยทากด้วย จากความพยายามของเลเวนฮุคในที่สุดเขาก็ค้นพบสัตว์ชั้นต่ำประเภทเซลล์เดียว เป็นต้นว่า วอลวอกซ์ (Volvox) และไฮดรา (Hydra) การค้นพบนี้ถือว่าสำคัญมาก เนื่องจากสิ่งที่เลเวนฮุคค้นพบสามารถลบล้างความเชื่อเก่าเกี่ยวกับทฤษฎีที่ว่า "การเริ่มต้นของสิ่งมีชีวิต คือสิ่งไม่มีชีวิต (Spontaneous Generation)"

แม้ว่าเลเวนฮุคจะส่งจดหมายไปยังราชสมาคมฯ หลายฉบับ แต่ทางราชสมาคมฯ ก็ยังไม่เชื่อข้อความในจดหมายเหล่านั้นแต่เมื่อเลเวนฮุคส่งจดหมายไปอย่างสม่ำเสมอทำให้ทางราชสมาคมแห่งกรุงลอนดอน เริ่มเกิดความไม่แน่ใจว่าเรื่องในจดหมายของเลเวนฮุคอาจจะเป็นเรื่องจริงก็ได้ ทางราชสมาคมฯ จึงติดต่อขอยืมกล้องจุลทรรศน์ของเลเวนฮุค แต่เนื่องจากเขาได้พัฒนากล้องจุลทรรศน์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้มีขนาดใหญ่ขึ้นด้วย จึงไม่สะดวกในการขนส่ง ทำให้ทางราชสมาคมฯ สั่งให้โรเบิร์ต ฮุค(Robert Hooke) สร้างกล้องจุลทรรศน์ขึ้น เมื่อสร้างเสร็จทางราชสมาคมฯ ได้ส่องดูสิ่งต่าง ๆ ตามที่เลเวนฮุคเขียนเล่ามา
ในจดหมาย ซึ่งก็พบว่าจริงตามจดหมายนั้นทุกอย่าง ทำให้ทางราชสมาคมฯ เชื่อถือและยอมรับเลเวนฮุคเข้าเป็นสมาชิกของราชสมาคมฯ ในปี ค.ศ. 1680 และต่อมาอีก 17 ปี เขาได้รับการยกย่องอีกครั้งหนึ่งด้วยการได้รับเชิญจากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศฝรั่งเศส (France Academy of Science)

ผลงานการค้นพบสิ่งต่าง ๆ ของเลเวนฮุค ในรุปแบบของจดหมายที่ส่งไปยังราชสมาคมฯ ที่มีมากมายกว่า 375 ฉบับ ในระยะเวลากว่า 50 ปี ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ลงในวารสารของราชสมาคมฯ โดยใช้ชื่อว่า Philosophical Transaction of the Royal Socity, London และเมื่อผลงานของเขาเผยแพร่ออกไป ปรากฏว่ามีผู้คนให้ความสนใจจำนวนมาก ทั้งนักปราชญ์ราชบัณฑิต นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ รวมถึงขุนนาง และพระมหากษัตริย์ด้วย ในปี ค.ศ. 1697 พระเจ้าปีเตอร์มหาราช (Peter the Great) กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของรัสเซีย ทรงเสด็จมาหาเลเวนฮุคที่เมืองเดลฟท์ และใช้เวลาหลายชั่วโมงในการทอดพระเนตรผลงานของเลเวนฮุคผ่านทางกล้องจุลทรรศน์ เป็นต้นว่า ระบบการไหลเวียนโลหิตในส่วนหางของปลาไหล แบคทีเรีย และแมลง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีบุคคลสำคัญอย่างพระเจ้าจักรพรรดิแห่งเยอรมนีและพระราชินีแห่งอังกฤษ มาเยี่ยมชมผลงานของเขาที่บ้านอีกด้วย

เลเวนฮุคใช้เวลาตลอดทั้งชีวิตของเขาในการศึกษา ค้นคว้า และเฝ้าสังเกตสิ่งต่าง ๆ ผ่านทางกล้องจุลทรรศน์ที่เขาเป็นผู้สร้างขึ้น ซึ่งมากมายจนไม่สามารถบรรยายได้หมด ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างคุณประโยชน์ให้กับวงการวิทยาศาสตร์ แพทย์ และชีววิทยาทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้รับการศึกษาสูงนัก อีกทั้งไม่มีความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เลย แต่ด้วยความขยัน พยายาม และมุ่งมั่น ในที่สุดเขาก็ประสบความสำเร็จและได้รับการยกย่องจากสมาคมที่มีชื่อเสียงอย่างราชสมาคมแห่งกรุงลอนดอน ซึ่งมีสมาชิกล้วนแต่เป็นนักวิทยาศาสตร์
ที่มีความสามารถ รวมถึงสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศฝรั่งเศสด้วย

เลเวนฮุคเสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1723 ด้วยโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ หลังจากที่เลเวนฮุคเสียชีวิตไปแล้ว ชาวเมืองเดลฟท์ได้สร้างอนุสาวรีย์ไว้ ณ โบสถ์แห่งหนึ่งใจกลางเมืองเดลฟท์ ทั้งนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่เขาที่สร้างคุรประโยชน์อย่างมหาศาลให้กับชาวเมืองเดลฟท์ และสาธารณชนอย่างมหาศาล

ที่มา
http://siweb.dss.go.th/Scientist/Scientist/Anton%20Van%20Leeuwenhook.html