วันเสาร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2553

กูกลิเอลโม มาร์โคนี : Guglielmo Marconi


กูกลิเอลโม มาร์โคนี : Guglielmo Marconi


เกิด วันที่ 25 เมษายน ค.ศ.1874 ที่เมืองโบโลญญา (Bologna) ประเทศอิตาลี (Italy)

เสียชีวิต วันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ.1937 ที่กรุงโรม (Rome) ประเทศอิตาลี (Italy)

ผลงาน
- ประดิษฐ์เครื่องรับส่งวิทยุโทรเลข
- ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ในปี ค.ศ.1907 จากผลงานการค้นคว้าวิทยุ

วิทยุโทรเลขเป็นเครื่องมือสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดชนิดหนึ่ง อีกทั้งเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลา เนื่องจากวิทยุโทรเลขไม่จำเป็นต้องใช้สายโทรเลขในการเชื่อมโยงเครื่องโทรเลขจากเครื่องหนึ่งถึงเครื่องหนึ่ง และที่มีประโยชน์อย่างมากก็คือใช้ในกิจการเดินเรือ ที่สามารถส่งข่าวสารต่าง ๆ จากเรือมาสู่บนฝั่งได้ วิทยุสื่อสารชิ้นนี้ยังมีประโยชน์และบทบาทอย่างมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 จากการที่กองทัพได้ไปใช้ในการส่งข่าวสารจากที่ที่ห่างไกลกันมากได้อย่างรวดเร็ว และสะดวกสบาย

มาร์โคนีเกิดเมื่อวันที่ 25 เมษายน ค.ศ.1874 ที่เมืองโบโลญญา ประเทศอิตาลี ในตระกูลที่ร่ำรวย บิดาของเขาชื่อว่า กีเซป มาร์โคนี ส่วนมารดาของเขาชื่อว่า แอนนี เจมส์สัน มาร์โคนีมีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องไฟฟ้ามาตั้งแต่เด็ก ซึ่งบิดาของเขาก็ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี และได้จ้างครูมาสอนวิชาไฟฟ้าให้กับมาร์โคนีอีกด้วย เขาได้รับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนประจำเมืองฟลอเรนซ์ (Florence) ต่อจากนั้นเขาได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเทคนิคเล็กฮอร์น นอกจากการศึกษาภายในโรงเรียนแล้ว เขายังได้ศึกษาตำราไฟฟ้าของนักฟิสิกส์ชาวสก๊อต เจมส์ คลาร์ก แมกเวล (James Clark Maxwell) ผลงานของแมกเวลมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้มาร์โคนีมีความสนใจในวิชาฟิสิกส์ อีกทั้งเขาได้ขอร้องบิดาให้จ้างครูมาสอนวิชาฟิสิกส์
ให้กับเขาที่บ้านอีกด้วย ซึ่งบิดาก็ได้ปฏิบัติตามคำขอร้องของเขา นอกจากนี้เขายังมีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องอีเทอร์ที่เป็นตัวกลางให้คลื่นแห่ง เหล็กไฟฟ้าเดินทมงจากตำแหน่งหนึ่งไปยังอีกตำแหน่งหนึ่งได้


ในปี ค.ศ.1894 มาร์โคนีได้มีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวที่เทือกเขาแอลป์ในประเทศอิตาลีนั่นเอง เขาได้มีโอกาสได้อ่านวารสารทางวิทยาศาสตร์ฉบับหนึ่ง หนังสือเล่มนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับการค้นพบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ในปี ค.ศ.1886 ของไฮน์ริช รูดอล์ฟ เฮิรตซ์ (Hirich Rudolph Hertz) นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน ประกอบกับการมีความรู้เกี่ยวกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นอย่างดี จากอาจารย์สอนพิเศษของเขาหลายท่าน ทำให้มาร์โคนีเกิดความคิดว่าคลื่อนแม่เหล็กไฟฟ้าน่าจะมีประโยชน์ในการส่งสัญญาณโทรเลข โดยไม่ต้องอาศัยสายโทรเลขในการส่งสัญญาณ

ต่อมาในปี ค.ศ.1895 เมื่อมาร์โคนีเดินทางกลับจากการท่องเที่ยว เขาได้เริ่มต้นการค้นคว้าทดลองเรื่องนี้อย่างจริงจังโดยสิ่งประดิษฐ์ทางไฟฟ้าชิ้นแรกของมาร์โคนี คือ กริ่งไฟฟ้าไร้สาย โดยเขาได้ติดตั้งกริ่งไว้ที่ชั้นล่าง ส่วนสวิตช์ไว้ชั้นบนของบ้าน เมื่อกดสวิตช์ที่อยู่นั้นบนกริ่งที่อยู่ชั้นล่างกลับดังขึ้น ทั้งที่ไม่มีสายไฟเชื่อมต่อระหว่างสวิตช์และกริ่ง จากนั้นมาร์โคนีได้นำกระดิ่งออกไปไว้กลางครามและกดสวิตช์ ภายในบ้านกริ่งก็ดังขึ้นอีก สิ่งประดิษฐ์ของเขาชิ้นนี้อาศัยหลักการของเอดูร์ บรองลี นักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศส ซึ่งประดิษฐ์เครื่องรับสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า โดยเครื่องรับสัญญาณประกอบไปด้วยหลอดแก้ว ซึ่งภายในบรรจุผงโลหะสำหรับเป็นตัวนำไฟฟ้า ส่วนเครื่องส่งมาร์โคนีอาศัยหลักการจากเครื่องส่งของเฮิรตซ์ บิดาของมาร์โคนี ชอบสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้มาก และได้มอบเงินให้กับมาร์โคนีถึง 250 ปอนด์

จากความสำเร็จในการสร้างกริ่งไฟฟ้าไร้สาย มาร์โคนีจึงทำการประดิษฐ์เครื่องส่งวิทยุโทรเลขขึ้นในปี ค.ศ.1897 และทำการทดลองส่งวิทยุโทรเลขไร้สาย จากความช่วยเหลือของพี่ชายของเขา แอลฟอนโซ มาร์โคนี ให้พี่ชายคอยรับฟังสัญญาณอยู่ที่บ้าน จากนั้นมาร์โคนีได้เดินห่างจากบ้านไปประมาณ 1 ไมล์ แล้วส่งสัญญาณโทรเลขเข้ามา เขาได้ตกลงกับพี่ชายว่าถ้าได้รับสัญญาณให้ยกธงขึ้น เมื่อทดสอบระยะทาง 1 ไมล์ เป็นผลสำเร็จ มาร์โคนีได้ปรับปรุงวิทยุโทรเลขให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำการทดสอบอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งสามารถส่งได้ระยะไกลกว่าเดิม และได้ทดสอบส่งสัญญาณผ่านภูเขาปรากฏว่าสัญญาณจากวิทยุสามารถส่งผ่านภูเขามาได้

ในเวลาต่อมามาร์โคนีได้นำผลงานของเขาชิ้นนี้เสนอต่อรัฐบาลอิตาลี แต่ทางรัฐบาลไม่สนใจและเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นในปี ค.ศ.1896 เขาและมารดาจึงได้เดินทางไปยังประเทศอังกฤษ เพื่อนำผลงานชิ้นนี้เสนอต่อรัฐบาลอังกฤษ เมื่อมาถึงประเทศอังกฤษมาร์โคนีต้องได้รับความลำบากเมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ตรวจค้นกระเป๋าของเขาอย่างละเอียด อีกทั้งเมื่อเจ้าหน้าที่พบวิทยุโทรเลข เกิดเข้าใจผิดว่าเป็นอาวุธสงคราม ทำให้วิทยุโทรเลขได้รับความเสียหาย มาร์โคนีได้นำผลงานชิ้นนี้เสนอต่อซอร์ วิลเลี่ยม พรีซ (Sir William Preze) นายช่างเอกแห่งกรมไปรษณีย์โทรเลขแห่งอังกฤษ และท่านผู้นี้เองที่ให้การสนับสนุน
มาร์โคนีในเรื่องของห้องทดลอง เป็นผู้ช่วยสำปรับปรุงวิทยุโทรเลข อีกทั้งได้มอบโอกาสให้กับเขาในการสาธิตวิทยุโทรเลขให้กับรัฐบาลอังกฤษได้ชม โดยการทดลองส่งสัญญาณจากโต๊ะหนึ่ง เพื่อให้กริ่งอีกโต๊ะหนึ่งดัง เมื่อทุกคนได้ยินกริ่งดังต่างก็ตื่นเต้น ในผลงานชิ้นนี้ และรับผลงานของมาร์ดคนีไว้ในการสนับสนุน ต่อมามาร์โคนีได้ทำการส่งสัญญาณวิทยุโทรเลขจากอาคารไปรษณีย์โทรเลข ไปยังอาคารของธนาคารออมสิน ซึ่งห่างประมาณ 2 ไมล์ ผลการทดลองประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แม้ว่าการส่งสัญญาณวิทยุโทรเลขในช่วงแรกของมาร์โคนีส่งได้เพียงรหัสมอร์สเท่านั้น แต่ก็ถือได้ว่าวิทยุโทรเลขเป็นเครื่องมือสื่อสาร
ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด จากนั้นเขาได้พัฒนาวิทยุโทรเลขของเขาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในปี ค.ศ.1897 วิทยุโทรเลขของมาร์โคนีสามารถส่งสัญญาณผ่านช่องแคบอังกฤษได้เป็นผลสำเร็จ จากผลงานชิ้นนี้ทำให้เขามีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากขึ้น อีกทั้งรัฐบาลประเทศอิตารลีที่เคยปฏิเสธเขามาก่อนก็หันมาให้ความสนใจและเห็นคุณค่าในความสามารถของมาร์โคนี อีกทั้งทางรัฐบาลอิตาลีได้เชิญให้มาร์โคนีกลับไปยังประเทศอิตาลี มาร์โคนีปฏิบัติตามคำเชิญของทางรัฐบาล เมื่อเขาเดินทางถึงประเทศอิตาลีเขาได้แสดงการส่งสัญญาณจากบนฝั่งไปยังเรือที่อยู่ห่างจากชายฝั่งถึง 12 ไมล์ หลังจากนั้นมาร์โคนีได้เดินทางกลับไปยังประเทศอังกฤษอีกครั้งหนึ่งเพื่อเปิดบริษัทวิทยุโทรเลข โดยใช้ชื่อว่า
บริษัทวิทยุโทรเลขมาร์โคนี (Marcony's Wireless Telegraph Company Limit) กิจการส่งวิทยุโทรเลขของเขามีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้นตามลำดับ เพราะทั้งกิจการเดินเรือทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นเรือรบ เรือเดินสมุทรและหอประภาคารซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการเดินเรือ ต่างก็ติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณวิทยุโทรเลขทั้งสิ้น เนื่องจากเป็นเครื่องมือสื่อสารที่สะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ในปี ค.ศ.1901 มาร์โคนีได้เดินทางไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อตั้งสถานีรับส่งสัญญาณโทรเลข จากนั้นในวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ.1901 ได้ทำการส่งสัญญาณจากสถานีที่ประเทศอังกฤษมายังประเทศสหรัฐอเมริกา รวมระยะทางถึง 3,000 ไมล์ แม้ว่าการสื่อสารด้วยวิทยุโทรเลขจะเป็นการสื่อสารที่มีความทันสมัยที่สุดในสมัยนั้น แต่ก็ส่งสัญญาได้เพียงรหัสมอร์สเท่านั้น ต่อมาในปี ค.ศ.1906 นักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน เรจินาลย์ เฟสเซนเดน สามารถพบวิธีแปลงสัญญาณวิทยุโทรเลขให้เปลี่ยนเป็นเสียงได้สำเร็จ และมีการทดลองส่งสัญญาณเสียงครั้งแรกของโลกในวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ.1906 แม้ว่ามาร์โคนีจะไม่ใช่ผู้ค้นพบ แต่เขาก็มีส่วนสำคัญในการพัฒนากิจการวิทยุกระจายเสียงให้มีความเจริญก้าวหน้า และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในปี ค.ศ.1909 มาร์โคนีได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ร่วมกับคาร์ล เฟอร์ดินานด์ บราวน์ นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน โดยมาร์โคนีได้รับจากผลงานการประดิษฐ์วิทยุโทรเลข ส่วนบราวน์ได้รับจากการปรับปรุงเทคโนโลยีการกระจายเสียง และในปีเดียวกันนี้มาร์โคนีได้รับการแต่งตั้งให้เป็นวุฒิสมาชิก มาร์โคนีเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและได้รับเกียรติจากรัฐบาลอิตาลีอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากในปี ค.ศ.1912 มาร์โคนีได้เป็นตัวแทนรัฐบาลอิตาลีในการเซ็นสัญญาสันติภาพที่กรุงปารีส และในปี ค.ศ.1929 เขาได้รับบรรดาศักดิ์เป็นมาร์ควิส จากพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอล และยศท่านเซอร์จากพระเจ้ายอร์ชที่ 5 ของอังกฤษ (King
George V of England) เนื่องจากในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 เขาได้ติดตั้งสัญญาณวิทยุโทรเลขให้กับกองทัพเรือของอังกฤษ

มาร์โคนีได้พยายามพัฒนากิจการวิทยุให้มีความเจริญมากขั้น ในปี ค.ศ.1917 ได้ออกเดินทางโดยเรือยอร์ชส่วนตัวที่เขาตั้งชื่อว่า อิเลคตรา (Electra) และได้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่กลางทะเล ต่อมาอีก 2 ปี มาร์โคนีได้สร้างสถานีวิทยุกระจายเสียงขึ้นที่เชล์มฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ซึ่งถือว่าเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรกของโลกที่ทำการกระจายเสียงอย่างเป็นรูปแบบกิจการวิทยุโทรเลขและการกระจายเสียงมีความเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก และสามารถส่งสัญญาณไปยังที่ต่าง ๆ ได้ทั่วโลก มาร์โคนีเสียชีวิตในวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ.1937 ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี เพื่อเป็นเกียรติแก่เขาสถานีวิทยุกระจายเสียงได้หยุดการกระจายเสียงเป็นเวลา 2 นาที ในช่วงบั้นปลายชีวิตของมาร์โคนีเขาได้ค้นพบคลื่นวิทยุสั้น ๆ ที่สามารถส่งสัญญาณไปได้ไกลเป็นผลสำเร็จคลื่นวิทยุชนิดนี้รู้จักกันดีในชื่อว่า วิทยุคลื่นสั้น


ในปัจจุบัน กิจการส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงได้พัฒนารูปแบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นสื่อที่มีความจำเป็นอย่างมากต่อการติดต่อสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ เช่น วิทยุกระจายเสียงที่ใช้เป็นสื่อทางด้านความบันเทิง และการส่งข่าวสารต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ การสื่อสารของยานพาหนะชนิดต่าง ๆ เช่น เรือโดยสาร เรือเดินทะเล เครื่องบิน ยานอวกาศ เป็นต้น หรือแม้กระทั่ง การติดต่อสื่อสารระหว่างคน 2 คน ก็ล้วนแต่มีความสำคัญและได้รับประโยชน์จากเครื่องมือสื่อสารชนิดนี้ทั้งสิ้น



ที่มา
http://siweb.dss.go.th/Scientist/Scientist/Guglielmo%20Marcony.html

ฮิปโปเครตีส : Hippocrates



ฮิปโปเครตีส : Hippocrates

เกิด 460 ก่อนคริสต์ศักราช ที่เกาะโคส (Cose) ประเทศกรีซ (Greece)

เสียชีวิต 347 ก่อนคริสต์ศักราช ที่เกาะโคส (Cose) ประเทศกรีซ (Greece)

ผลงาน

- บุกเบิกวิชาแพทย์แผนปัจจุบัน และได้รับการยกย่องให้เป็น บิดาแห่งวิชาการแพทย์ (Father of the Medicine)

การรักษาโรคด้วยวิธีการที่ทันสมัย ได้มีการพัฒนาอย่างจริงจังเมื่อประมาณ 200 กว่าปี มานี้เอง แต่การเริ่มต้นของวิชาการด้านนี้มีมานานกว่า 2,000 ปี มาแล้ว จากความคิดริเริ่มของนายแพทย์ชาวกรีกผู้หนึ่งที่มีนามว่า ฮิปโปเครตีส ผู้ซึ่งเป็นบิดาแห่งวิชาการแพทย์แผนปัจจุบัน

ฮิปโปเครตีสเป็นนายแพทย์คนแรกของโลกที่ทำการรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีการสมัยใหม่ คือ วินิจฉัยถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคก่อน แล้วจึงทำการรักษา ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กันมาจนทุกวันนี้ ก่อนหน้าที่ฮิปโปเครตีสจะบุกเบิกวิธีการรักษาเช่นนี้ ผู้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า เทพเจ้าดลบันดาลให้เกิดความเจ็บป่วย เพราะฉะนั้นวิธีการรักษาอาการป่วยก็คือ การบวงสรวง อ้อนวอน ขอร้องเทพเจ้าให้หายจากอาการ เจ็บป่วยเหล่านี้ ซึ่งผู้ที่ทำการรักษาผู้ป่วยในสมัยนั้นส่วนใหญ่จึงไม่ใช่แพทย์ แต่เป็นนักบวชที่ทำพิธีกรรมบวงสรวงเทพเจ้า

ฮิปโปเครตีสเกิดเมื่อประมาณ 460 ก่อนคริสต์ศักราช ที่เกาะโคส ประเทศกรีซ เขาได้รับการศึกษาจากครูผู้หนึ่งเกี่ยวกับวิชาปรัชญา คณิตศาสตร์ และการแพทย์ ฮิปโปเครตีสต้องการที่จะเปลี่ยนแนวความคิดของคนในสมัยนั้นที่เชื่อว่า อาการเจ็บป่วยเกิดจากการดลบันดาลของเทพเจ้า โดยเขาอธิบายว่าอันที่จริงแล้วอาการเจ็บป่วยอาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เป็นต้นว่า ความผิดปกติ หรือความบกพร่องของร่างกาย อาหาร อากาศ และเชื้อโรค เป็นต้น เพราะฉะนั้นวิธีการรักษาโรคก็ควรจะต้องวินิจฉัยสาเหตุของโรคว่าเกิดจากสาเหตุใด แล้วจึงหาวิธีการรักษาต่อไป ฮิปโปเครตีสใช้เวลาในการศึกษาวิธีการรักษาผู้ป่วยตลอดชีวิตของเขาจากผู้ป่วยนั่นเอง เพราะผู้ป่วยแต่ละคนก็แตกต่างกันไปทั้งอาการของโรคและวิธีการรักษา เขาจะดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และจดบันทึกเกี่ยวกับผู้ป่วยอย่างละเอียด ทั้งประวัติส่วนตัว อาการ สาเหตุของโรค รวมถึงวิธีการรักษาด้วย วิธีการรักษาผู้ป่วยของฮิปโปเครตีสจะเป็นไปอย่างละเอียดทุกขั้นตอน แม้แต่ยาที่รักาผู้ป่วยก็เป็นยาที่ไม่รุนแรงและใช้เฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพราะเขาเชื่อว่าธรรมชาติของคนนั้นสามารถรักษาตัวเองได้ โดยผู้ป่วยทุก ๆ คนต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ ทั้งเรื่องอากาศ ผู้ป่วยควรอยู่ในที่ ที่มี
อากาศบริสุทธิ์ อาหารก็ควรได้รับประทานที่เหมาะสม คืออาหารอ่อนที่รับประทานง่าย เช่น ข้าวต้ม ซุป เป็นต้น เพราะร่างกายของผู้ป่วยอยู่ในภาวะที่อ่อนแอ แม้แต่เรื่องความสะอาดก็เป็นสิ่งสำคัญ ทั้งความสะอาดของร่างกาย และของใช้ทั้งของผู้ป่วยเอง เช่น เสื้อผ้า เครื่องนอน เป็นต้น และอุปกรณ์การแพทย์ยิ่งต้องรักษาความสะอาดมากเป็นพิเศษ ไม่เพียงแต่ผู้ป่วยที่เป็นโรคเท่านั้น ฮิปโปเครตีสยังรักษาผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุจนกระดูกหัก หรือเป็นแผลฉกรรจ์ เขาก็สามารถรักษาได้ เขาเรียนรู้วิธีการรักษาบาดแผลให้สะอาด โดยการใช้น้ำมันดินมาทาที่แผลซึ่งสามารถป้องกันบาดแผลไม่ให้ลุกลามได้เป็นอย่างดี

การรักษาโรคเป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้คนพ้นจากความทุกข์ทรมาน แต่วิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคเป็นสิ่งที่ดีกว่า และฮิปโปเครตีสก็ให้ความสนใจเรื่องการรักษาสุขภาพนี้ด้วยเช่นกัน เขาคิดว่าคนที่มีสุขภาพแข็งแรงก็จะไม่ล่มป่วยได้ง่าย ๆ และวิธีการรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอก็คือการออกกำลังกาย การพักผ่อนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และการทำจิตใจให้ผ่องใสก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน

ฮิปโปเครตีสได้ตั้งโรงเรียนสอนวิชาแพทย์ขึ้นที่เกาะโคส และเขียนตำราแพทย์ไว้มากมายที่เกี่ยวกับการรักษาโรคด้วยวิธีการต่าง ๆ วิธีการใช้ยา วิธีการรักษาบาดแผล กระดูกหัก และวิธีการผ่าตัด แม้แต่วิธีการรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเขาก็ได้เขียนขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่เขาบันทึกจากผู้ป่วยที่เขาทำการรักษา ดังนั้นตำราแพทย์ของเขาจึงเป็นตำราที่น่าเชื่อถือ เพราะเขียนขึ้นจากความจริงทั้งสิ้น

ฮิปโปเครตีสถือว่าเป็นผู้ให้กำเนิดวิชาการแพทย์แผนปัจจุบัน วิธีการรักษาของเขามีระเบียบแบบแผนเป็นที่น่าเชื่อถือ ซึ่งในปัจจุบันผู้ที่จบวิชาแพทย์ก็ยังต้องกล่าวคำปฏิญาณ (Hippocratic Oath) ตามที่ฮิปโปเครตีสเคยกล่าวไว้ต่อหน้าเทพเจ้าแอสเคลปิอุส (Asclepius) ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งการแพทย์ของกรีก และส่วนหนึ่งในคำปฏิญาณนี้ ได้ถูกนำมาเป็นข้อบังคับ หรือ จรรยาบรรณของแพทย์ด้วย ดังจะยกตัวอย่างมาส่วนหนึ่ง "จรรยาและข้อกำหนดที่ข้าพเจ้ายึดถือและประกาศไว้นี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของผู้ป่วยในความดูแล ซึ่งข้าพเจ้าจะใช้พละกำลังของข้าพเจ้าช่วยเหลือผู้ป่วยจนสุดความสามารถ ข้าพเจ้าจะไม่ใช้ความรู้ของข้าพเจ้าให้เป็นอันตรายต่อผู้อื่น หรือรักษาผู้อื่นด้วยวิธีการที่ผิด ข้าพเจ้าจะไม่สั่งจ่ายยาที่ทำให้ต้องเสียชีวิตเป็นอันขาด ข้าพเจ้าจะไปเยี่ยมบ้านเรือน เพื่อประโยชน์สุขของผู้ป่วยเท่านั้น โดยงดเว้นจากการคดโกง และประสงค์ร้าย"



ที่มา
http://siweb.dss.go.th/Scientist/Scientist/Hippocrates.html

รูดอล์ฟ ดีเซล : Rudolph Diesel



รูดอล์ฟ ดีเซล : Rudolph Diesel

เกิด วันที่ 18 มีนาคม ค.ศ.1858 ที่กรุงปารีส (Paris) ประเทศฝรั่งเศส (France)

เสียชีวิต ค.ศ.1913 ที่ลอนดอน (London) ประเทศอังกฤษ (England)

ผลงาน

- ประดิษฐ์เครื่องยนต์แบบดีเซล

ปัจจุบันเครื่องยนต์ประเภทอัดอากาศ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อว่าเครื่องยนต์ดีเซล เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล เพราะทั้งประหยัดและมีประสิทธิภาพในการใช้งานดีมากชนิดหนึ่ง และผลงานชิ้นนี้ก็ได้เกิดจากความทุ่มเทของนักวิศวกรผู้หนึ่งที่ชื่อว่า รูดอล์ฟ ดีเซล

ดีเซลเกิดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ.1858 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แต่อันที่จริงแล้ว เขาเป็นชาวเยอรมัน แต่บิดามารดา ได้อพยพมาอยู่ที่ฝรั่งเศส ดีเซลเกิดมาในตระกูลที่มีฐานะดีพอสมควร ทำให้เขาได้รับการศึกษาทีดีมาก อีกทั้งเขาเป็นคนที่มีความเฉลียวฉลาด สำหรับการศึกษาขึ้นต้นดีเซลได้เดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ หลังจากนั้นเขาได้เดินทางไปศึกษาที่โรงเรียนอาชีวศึกษาที่อ็อกซเบิร์ก ประเทศเยอรมนี ดีเซลสามารถเรียนได้ดีมาก โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และเครื่องกลต่าง ๆ หลังจากจบการศึกษาจากโรงเรียนอาชีวศึกษาด้วยผลการเรียนทีดีเยี่ยม ทำให้เขาได้รับทุนสำหรับศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี กรุงมิวนิค ประเทศเยอรมนี และในระหว่างนี้เองที่ทำให้เขารู้จักเครื่องยนต์ชนิดต่าง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะเครื่องจักรไอน้ำ ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ที่ทันสมัยที่สุดในเวลานั้น แต่ก็ไม่มีประสิทธิภาพในการใช้งานเท่าที่ควร โดยเครื่องจักรไอน้ำนี้ประกอบไปด้วยเตาเผาหม้อน้ำ และปล่องไฟ ซึ่งเมื่อนำมาประกอบกันแล้วดูรุ่มร่ามและใช้การได้ยาก อีกทั้งยังต้องใช้พลังงานจำนวนมากสำหรับให้เครื่องทำงาน

จากนั้นดีเซลก็ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องเครื่องจักรไอน้ำเป็นอย่างมาก อีกทั้งเขายังต้องการที่จะพัฒนาปรับปรุงให้เครื่องกลชนิดนี้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดีเซลเริ่มต้นการศึกษาเครื่องจักรไอน้ำอย่างละเอียดตั้งแต่ประวัติความเป็นมา วิธีการ จุดเด่น และข้อด้อยของเครื่องจักรไอน้ำ ดีเซลได้รับคำแนะนำความรู้เหล่านี้จาก ศาสตราจารย์คาร์ฟอน ลินเด อาจารย์ของเขานั่นเอง ซึ่งท่านได้ศึกษาเรื่องนี้มาเป็นเวลานานแล้ว หลังจากที่ได้ทำการศึกษามาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ทำให้เขารู้ความจริงเกี่ยวกับสิ่งนี้ในข้อที่ว่า เมื่อลดความร้อนลงมาเรื่อย ๆ จะทำให้เกิดพลังงานขึ้นมาได้ ซึ่งเป็นผลจากความร้อนนั่นเอง ทำให้ดีเซลเกิดความคิดที่จะนำพลังงานดังกล่าวมาใช้ในการเดินเครื่องจักรไอน้ำ และนี้คือแนวทางสำคัญในการพัฒนาเครื่องยนต์ของเขาในเวลาต่อมา

หลังจากจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี กรุงมิวนิค ประเทศเยอรมนี ดีเซลได้เดินทางกลับบ้านเกิดที่กรุงปารีสและได้เข้าทำงานในโรงงานประกอบเครื่องทำน้ำแข็งของลินเดในหลายตำแหน่งหน้าที่ ได้แก่ ตัวแทนซื้อขาย คนคุมงาน ประดิษฐ์ซ่อมเครื่องกล ผู้อำนวยการและที่ปรึกษา แม้ว่าเขาต้องทำงานอย่างหนัก และรับหน้าที่ในหลายตำแหน่ง แต่เขาก็ทำงานด้วยความตั้งใจ และแน่วแน่ว่าจะต้องทำงานเหล่านี้ให้ดีในทุกหน้าที่ที่เขารับผิดชอบ ทั้งด้วยเหตุผลหลายประการ ประการแรกลินเดซึ่งเป็นทั้งอาจารย์และนายจ้างของเขา ได้ชี้แจงแก่เขาว่าการทำงานภายในโรงงานแห่งนี้ ถือว่าเหมือนได้เข้าศึกษาในระดับปริญญาเอกทางวิศวกรรมศาสตร์เลยก็ว่าได้เพราะไม่ได้ฝึกทักษะทางด้านวิชาการเท่านั้น ยังได้ประสบการณ์ชีวิตจากด้านอื่นอีกด้วย อีกประการหนึ่งเขาต้องการสร้างเนื้อ สร้างตัวให้ได้เร็วที่สุด เพราะเขาได้แต่งงานกับหญิงชาวเยอรมันผู้หนึ่ง แต่ต้องแยกกันอยู่เพราะดีเซลไม่มีเงิน เพียงพอที่จะเลี้ยงดู ต่อมาเมื่อลินเดเปิดโรงงานประกอบเครื่องทำน้ำแข็งขึ้นในเมืองมิวนิค ดีเซลได้ขอลินเดให้เขาได้ย้ายไปทำงานที่นั่นทันที แต่ลินเดมีข้อแม้ว่า ห้ามไม่ให้ดีเซลยุ่งเกี่ยวกับเครื่องประกอบน้ำแข็งของลินเดอย่างเด็ดขาด แม้ว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่
ดีเซลต้องการแต่เขาก้รับปากลินเด และไม่ยุ่งเกี่ยวกับเครื่องประกอบน้ำแข็งเลยแม้แต่น้อย

แม้ว่าดีเซลจะไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับเครื่องทำน้ำแข็งของลินเดเลย แต่เขาก็มีความคิดที่จะสร้างเครื่องกลชนิดอื่น ๆ และในระหว่างนี้เขาได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับเครื่องจักร ดีเซลสามารถประดิษฐ์เครื่องยนต์ที่ใช้ก๊าซแอมโมเนียแทนการใช้พลังงานไอน้ำได้ และเครื่องยนต์ที่อาศัยหลักการสันดาป ซึ่งเครื่องยนต์ของดีเซลก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก แต่ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับดีเซลมากที่สุดก็คือ เครื่องยนต์แบบใช้อากาศอัด โดยดีเซลเกิดความคิดมาจากขณะที่เขากำลังนั่งสังเกตการณ์เครื่องเปลี่ยนความร้อนเป็นพลังงานซึ่งใช้ในการเดินเครื่องยนต์ผลิตน้ำแข็ง เขาได้นำหลักการเดียวกันนี้มาปรับปรุง และใช้ในเครื่องยนต์ชนิดใหม่ที่เขาเป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นตามลำดับ ต่อมาเขาได้นำเครื่องยนต์แบบอัดอากาศนี้ไปทำการทดลอง แต่ในครั้งแรกนั้นยังไม่ประสบความสำเร็จ อีกทั้งยังเกิดระเบิดขึ้นอีกด้วยซึ่งเกือบทำให้เขาเสียชีวิต แม้ว่าการทดลองในครั้งแรกจะล้มเหลว แต่สิ่งที่เขาได้จากการทดลองในครั้งนี้ก็คือ ทฤษฎีเกี่ยวกับแรงดันอากาศที่ว่า "ความร้อนสามารถทำให้อากาศมีแรงดันเพียงพอสำหรับการจุดไฟให้ติดได้" ดีเซลยังคงพยายามประดิษฐ์เครื่องยนต์ของเขาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการค้นหาสาเหตุระเบิดและหาทางแก้ไขปัญหานั้นได้และในที่สุดเครื่องยนต์เขาสามารถใช้ประโยชน์ได้

แต่เครื่องยนต์ชนิดใหม่ที่ดีเซลได้ประดิษฐ์ขึ้น ก็ยังมีข้อเสียอยู่ที่ผนังกระบอกสูบไม่แข็งแรงพอที่จะต่อความดันอากาศสูง ๆ ได้ ดังนั้นดีเซลจึงหันมาปรับปรุงการประดิษฐ์กระบอกสูบ โดยดีเซลได้ทดลองนำกระบอกสูบขนาดต่าง ๆ กันมาทำการทดลองเพื่อทดสอบแรงดัน และปริมาณที่ว่างระหว่างหัวสูบกับปลายกระบอกสูบ เครื่องยนต์ของดีเซลประสบความสำเร็จในปี ค.ศ.1897 โดยเขาได้ใช้เวลาในการค้นคว้านานถึง 5 ปี ดีเซลได้ตั้งชื่อเครื่องยนต์ตามชื่อของเขาว่า ดีเซล ตามคำแนะนำของภรรยา

เครื่องยนต์ที่ดีเซลเป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นมานั้นได้ใช้หลักการส่งเชื้อเพบิงจำนวนเพียงเล็กน้อยส่งเข้าไปในกระบอกสูบ จนกระทั่งน้ำมันที่ฉีดเข้าไปในกระบอกสูบ ระเหยเป็นไอออกมาจากรูกระบอก เพื่อใช้เป็นพลังงานในการขับเคลื่อนเครื่องยนต์ ซึ่งลักษณะของเครื่องยนต์ดีเซลนี้เป็นการเปลี่ยนพลังงานความร้อนให้เป็นพลังงานกล และด้วยวิธีการเช่นนี้ทำให้สิ้นเปลืองพลังงานน้อยลงถ้าเปรียบเทียบกับเครื่องยนต์ชนิดอื่น

ต่อมาในเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้นเอง ดีเซลได้ตั้งบริษัทขึ้นเพื่อผลิตเครื่องยนต์ดีเซลออกจำหน่าย โดยตั้งชื่อบริษัทแห่งนี้ว่า ไรซิงเกอร์ไมเยอร์ และดีเซล บริษัทของเขาได้ดำเนินกิจการไปได้ด้วยดี นอกจากนี้เขายังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง แต่ในไม่ช้าดีเซลก็ต้องพบกับความเดือดร้อนแสนสาหัส เนื่องจากในขณะนั้นกฎหมายเรื่องสิทธิบัตรยังมีความละหลวมอยู่มาก ทำให้ดีเซลต้องเสียเงินทองเป็นจำนวนมากสำหรับการฟ้องร้องเพื่อเรียกร้องในสิทธิบัตรของเขาอีกทั้งสุขภาพของเขายังเสื่อมโทรมลงเรื่อย ๆ เพราะความเหน็ดเหนื่อยทั้งทางกายและทางใจจากการต่อสู้ในเรื่องของสิทธิบัตร
เครื่องยนต์ของเขาและต่อมาบริษัทของเขาก็ต้องประสบกับภาวะการขาดทุนอย่างรุนแรง

ในช่วงบั้นปลายชีวิตของดีเซล เขาต้องท้อแท้ใจอย่างมากเพราะสิ่งที่เขาทุ่มเทอย่างหนักมาตลอดระยะเวลาต้องล้มเหลวลงอย่างไม่เป็นท่าดังนั้นในปี ค.ศ.1913 เขาได้เดินทางไปยังประเทศอังกฤษ และไม่ได้เดินทางกลับมาอีกเลย ซึ่งภายหลังมีข่าวว่าเขาได้หายไปในช่องแคบอังกฤษ แม้ว่าดีเซลจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่สิ่งที่เขาได้ทิ้งไว้สร้างคุณประโยชน์ให้กับนักประดิษฐ์รุ่นหลังเป็นอย่างมากก็คือ เครื่องยนต์ดีเซลที่มีประสิทธิภาพในการใช้งาน



ที่มา
http://siweb.dss.go.th/Scientist/Scientist/Rudof%20diesel.html

เฮนรี่ คาเวนดิช : Henry Cavendish


เฮนรี่ คาเวนดิช : Henry Cavendish

เกิด วันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1731 ที่เมืองนีซ (Nice) ประเทศอิตาลี (Italy)

เสียชีวิต วันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1810 ที่กรุงลอนดอน (London) ประเทศอังกฤษ (England)

ผลงาน
- ค้นพบสารประกอบน้ำซึ่งมีสูตรทางเคมีว่า H2O หมายถึง ไฮโดรเจน 2 ส่วน ออกซิเจน 1 ส่วน (โดยปริมาตร)
- ค้นพบกฎพื้นฐานทางไฟฟ้า
- ค้นพบก๊าซไฮโดรเจน
- ค้นพบกรดไนตริก หรือกรดดินประสิว

แม้ว่าน้ำจะเป็นสารประกอบธรรมดา ทำให้ไม่มีนักวิทยาศาสตร์ผู้ใดให้ความสนใจ แต่การค้นพบสารประกอบน้ำ และการค้นพบสมบัติของธาตุ นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก สำหรับการค้นคว้างานด้านวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะด้านเคมี และนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบผลงานดังกล่าวก็คือ เฮนรี่ คาเวนดิช

คาเวนดิชเกิดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1731 ที่เมืองนีซ ประเทศอิตาลี ครอบครัวของคาเวนดิชถือว่าร่ำรวยและมีชื่อเสียงมากทีเดียว บิดาของเขาเป็นท่านลอร์ด ชื่อว่า ชาร์ล คาเวนดิช (Lord Charles Cavendish) ส่วนปู่ของเขาก็เป็นดยุคแห่งดีวอนไชร์ที่ 2 (Duke of Devonshire II) จากฐานะที่ร่ำรวย ทำให้คาเวนดิชได้รับการศึกษาที่ดี และมีเงินทุนสำหรับการทดลองวิทยาศาสตร์ คาเวนดิชเริ่มต้นการศึกษาขั้นแรกเมื่ออายุได้ 11 ปีที่โรงเรียนเฮคเนย์ (Hackney) ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษหลังจากจบการศึกษาที่โรงเรียนเฮคเนย์ คาเวนดิชได้เข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยปีเตอร์ (Peter College) ในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University) เมื่อจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์แล้ว คาเวนดิชได้เดินทางกลับบ้านเพื่อทำการทดลองวิทยาศาสตร์ และศึกษางานด้านวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง โดยเขาได้สร้างห้องทดลองขึ้นที่บ้านของเขาเอง ซึ่งเป็นห้องทดลองที่ทันสมัยที่สุดในสมัยนั้นก็ว่าได้

คาเวนดิชทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ให้กับการทดลอง ในปี ค.ศ. 1765 เขาได้ทำการทดลองเกี่ยวกับความร้อน และค้นพบ "กฎพื้นฐานทางไฟฟ้า" ว่าถ้าหากนำประจุไฟฟ้า 2 ขั้ว มาเชื่อมต่อกัน จะมีกระแสไฟฟ้าไหลจากขั้วหนึ่งไปอีกขั้วหนึ่ง จนเกิดสมดุลกระแสไฟฟ้า ไฟฟ้าจึงหยุดไหล จากหลักการอันนี้คาเวนดิชได้ประดิษฐ์หม้อเก็บกระแสไฟฟ้าขึ้น และนำมาใช้ในการทดลองของเขาด้วย จากนั้นเขาได้ทำการทดลองต่อไป จนค้นพบก๊าซไฮโดรเจน (Hydrogen) แต่เขาเรียกก๊าซไฮโดรเจนว่า "Inflammable air" แปลว่า ก๊าซที่สามารถติดไฟได้ ซึ่งเป็นการตั้งชื่อตามสมบัติที่สามารถติดไฟได้ของก๊าซชนิดนี้

ต่อมาคาเวนดิชได้ทำการทดลองตามสมมติฐานของ คาร์ล วิลเฮล์ม เชย์เลอร์ (Karl Wilhem Scheele) ที่ว่า ออกซิเจน 1 ส่วน กับไฮโดรเจน 2 ส่วน (โดยปริมาตร) เผารวมกันแล้วจะเกิดการระเบิดและสลายตัวไป คาเวนดิชได้ทำการทดลองโดยการบรรจุก๊าซไฮโดรเจน และออกซิเจน ไว้ในขวดแก้วอย่างหนาจากนั้นก็ปล่อยกระแสไฟฟ้าลงไปในขวด ปรากฏว่าเกิดการระเบิดขึ้นภายในขวด แต่ขวดไม่เป็นอะไร จากนั้นคาเวนดิชสังเกตเห็นว่าภายในขวดมีละอองน้ำเขาเริ่มสงสัยว่าน้ำมาจากไหน และทำการทดลองซ้ำอีกหลายครั้ง เพื่อค้นหาที่มาของน้ำ ในที่สุดเขาก็พบสมบัติของน้ำว่าไม่ใช่ธาตุ แต่เป็นสารประกอบโดยมีส่วนประกอบ
ของไฮโดรเจน (Hydrogen) และออกซิเจน (Oxygen) โดยเขียนเป็นสัญลักษณ์ทางเคมีได้ดังนี้ H2O ซึ่งหมายถึง ไฮโดรเจน 2 ส่วน ออกซิเจน 1 ส่วน (โดยปริมาตร)

สิ่งที่เขาค้นพบอีกอย่างหนึ่งจากการทดลองครั้งนี้คือ กรดไนตริก (Nitric acid) หรือกรดดินประสิว ว่าประกอบไปด้วยไนโตรเจน และก๊าซอีก 2 ชนิด คือ ออกซิเจน และไฮโดรเจน การพบกรดไนตริกนี้เกิดจากที่คาเวนดิชสังเกตว่าน้ำที่ได้จากการทดลองไม่ได้เป็นน้ำบริสุทธิ์ทุกครั้งไป แต่บางครั้งน้ำมีฤทธิ์เป็นกรด

ในปี ค.ศ. 1803 คาเวนดิชได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของราชสมาคมแห่งกรุงลอนดอน (Royal Society of London) และในปีเดียวกัน เขาก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของราชสมาคมแห่งฝรั่งเศส (Royal Society of Franc) ซึ่งมีชาวต่างประเทศเป็นสมาชิกอยู่เพียง 8 คน เท่านั้น

คาเวนดิชเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1810 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จากผลงานและความสามารถของเขาในปี ค.ศ. 1874 ทางรัฐบาลอังกฤษได้สร้างห้องทดลองที่มีอุปกรณ์อันทันสมัยขึ้นมาในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เพื่อเป็นอนุสรณ์ในความสามารถของเฮนรี่ คาเวนดิชนักฟิสิกส์และเคมีผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ และได้ตั้งชื่อห้องทดลองนั้นว่า ห้องทดลองทางฟิสิกส์ คาเวนดิช (Cavendish Physical Laboratory)


ที่มา
http://siweb.dss.go.th/Scientist/Scientist/Henry%20Cavendish.html

หลุยส์ อักกะซี่ : Louis Johann Rudolph Agassiz


หลุยส์ อักกะซี่ : Louis Johann Rudolph Agassiz

เกิด วันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1809 ที่เมืองมอติเออร์ (Mortier) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (Switzerland)

เสียชีวิต วันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 1873 ที่เมืองมอติเออร์ (Morrtier) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (Switzwrland)

ผลงาน

- การค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ธรรมชาติ

หลุยส์ อักกะซี่ หรือที่มีชื่อเต็มๆ ว่า หลุยส์ จอห์น รูดอล์ฟ อักกะซี่ (Louis Johann Rudolph Agassiz) เป็นนักธรรมชาติวิทยา ผู้ยิ่งใหญ่อีกท่านหนึ่ง ผลงานของเขาส่วนใหญ่เป็นการศึกษาเกี่ยวกับซากสัตว์ดึกดำบรรพ์ อักกะซี่ได้เทุ่มเทเวลาในการศึกษาเรื่องนี้มากที่สุด ซึ่งเป็นการยากที่นักธรรมชาติวิทยาในยุคเดียวกันนั้นจะสามารถทำได้ และทำให้เขาได้รับการยกย่องให้เป็น บิดาแห่งซากหินดึกดำบรรพ์ อักกะซี่เป็นนักธรรมชาติวิทยาที่อยู่ในยุคเดียวกับชาร์ลส์ โรเบิร์ต ดาร์วินนักธรรมชาติวิทยาอันดับหนึ่งของโลก นอกจากนี้อักกะซี่ยังเป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุนทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน

อักกะซี่เกิดเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1809 ที่เมืองมอติเออร์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์บิดาของเขาเป็นพระสอนศาสนาชาวฝรั่งเศส แต่ลี้ภัยทางศาสนาเข้ามาอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หลังจากที่อักกะซี่จบการศึกษาขั้นต้นแล้ว เขาได้เข้าศึกษาต่อในวิชาแพทย์ การที่เขาศึกษาวิชานี้ก็เนื่องมาจากคุณตาของเขาเป็นศัลย์แพทย์ผู้มีชื่อเสียงมากผู้หนึ่ง อีกทั้งบิดามารดาของเขาก็ยังคาดหวังให้เขาเป็นศัลยแพทย์เช่นเดียวกับตาของเขา การศึกษาวิชาแพทย์เป็นโอการที่ดีทำให้เขามีความรู้เกี่ยวกับกายวิภาคดีมากผู้หนึ่ง นอกจากนี้เขายังได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการศึกษาและผ่าตัดสัตว์ที่เสียชีวิตแล้ว เพื่อศึกษาเกี่ยวกับอวัยวะภายในของสัตว์เหล่านั้น อักกะซี่ได้รวบรวมพันธุ์สัตว์ต่าง ๆ ไว้มากมายกว่า 40 ชนิด

ต่อมาในปี ค.ศ. 1926 ได้เดินทางไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยไฮเดนเบิร์ก ณ มหาวิทยาลัยแห่งนี้เขามีโอกาสได้ศึกษาภาษากรีก และโรมัน ทำให้เขามีโอกาสได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ที่มีประโยชน์มากมายหลายเล่ม อีกสิ่งหนึ่งที่เขาได้รับจากการเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็คือ เขาได้รู้จักกับนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงหลายท่าน พร้อมกันนั้นเขายังร่วมก่อตั้งสมาคมวิทยาศาสตร์โดยร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงหลายท่าน สมาคมแห่งนี้มีชื่อว่า The Little Academy

แม้ว่าอักกะซี่จะมีความรู้ทางการแพทย์ดีมากผู้หนึ่ง แต่สิ่งที่เขาสนใจกลับเป็นเรื่องของชีววิทยามากกว่า อักกะซี่ได้ทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้กับการค้นคว้าทางด้านธรรมชาติ ซึ่งต่อมาเขาได้เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งโดยใช้ชื่อว่า ประวัติของธรรมชาติวิทยา ซึ่งเขาเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาจากคำชักชวนของศาสตราจารย์คาร์ล ฟอน มาร์ติอุส (Karl van Matius) ซึ่งเป็นอาจารย์ของเขา ผลงานชิ้นนี้ถือได้ว่าได้สร้างชื่อเสียงให้กับอักกะซี่เป็นอย่างมาก นอกจากนี้เขายังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางปรัชญาศาสตร์อีกด้วย อักกะซั่งได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติวิทยาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งเพราะนี้คือสิ่งที่เขารักมากที่สุด

ต่อมาอักกะซี่ได้หยุดการศึกษาด้านนี้ไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง เขาได้กลับไปค้นคว้าเกี่ยวกับวิชาแพทย์ตามที่เขาได้เล่าเรียนมา เขาได้เขียนหนังสือทางการแพทย์ขึ้นมาหลายเล่มได้แก่โรควิทยาคลอดบุตร หนังสือของเขาประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากซึ่งทำ ให้เขามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วทั้งทวีปยุโรปและอเมริกา และจากผลงานชิ้นนี้เขาได้รับรางวัลดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ในทางการแพทย์ ผลงานชิ้นนี้อักกะซี่สามารถทำให้บิดามารดาของเขารู้สึกภูมิใจในตัวเขาเป็นอย่างมาก

จากชื่อเสียงความรู้ ความสามารถ และความช่วยเหลือของอเล็กซานเดอร์ ฟอน อัมโบลต์ ซึ่งในขณะนั้นได้เป็นผู้ให้การสนับสนุน และให้คำแนะนำต่าง ๆ แก่อักกะซี่ ได้ช่วยเหลือให้เขาได้เข้าเป็นศาสตราจารย์สอนวิชาธรรมชาติวิทยาประจำมหาวิทยาลัยนอยซาเติลประเทศสวิตเซอร์แลนด์ การเรียนการสอนของอักกะซี่ภายในมหาวิทยาลัยเป็นไปได้ด้วยดี แต่สิ่งที่เขาไม่ชอบก็คือการเรียนการสอนที่อยู่ภายในห้องเรียน เขามีคามสุขกับการสอนอย่างมากถ้าได้ออกไปสอนนอกสถานที่ ตามป่าเขาลำเนาไพร ซึ่งทำให้นักเรียนได้เห็นของจริง ดังนั้นเขาจึงเริ่มทำการสอนแบบใหม่ โดยการจัดสวนตามแบบของนักปรัชญาชาวกรีก ในสวนแห่งนี้เขาไม่เป็นเพียงแต่ผู้สอนเท่านั้น เขายังได้มีโอกาสศึกษาเกี่ยวกับปรัชญากรีกโบราณอีกด้วย

สิ่งต่อมาที่อักกะซี่ทำการศึกษาก็คือ ซากพืชซากสัตว์ดึกดำบรรพ์ เขาทำการศึกษาจนมีความชำนาญด้านนี้มากผู้หนึ่งซึ่งทำให้ นักธรรมชาติวิทยาที่มีชื่อเสียงหลายท่านในยุโรป โดยเฉพาะในอังกฤษได้เชิญเขาไปสำรวจตัวอย่างฟอสซิลของสัตว์ต่าง ๆ เท่าที่มีการรวบรวมเอาไว้และจากผลงานการค้นคว้าด้านนี้เขาได้รับรางวัล Wollaston Prize จากประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นโอกาสดีอันหนึ่งของอักกะซี่ เพราะเขากำลังต้องการเงินทุนในการศึกษางานด้านนี้ต่อไป

และเมื่อมีเงินทุน อักกะซี่ได้เดินทางไปยังแม่น้ำโรนเพื่อศึกษาเรื่องธารน้ำแข็ง แม้ว่าเขาจะได้รับคำทัดทานจากเพื่อนฝูงของเขาหลายคน เพราะบริเวณธารน้ำแข็งเป็นสถานที่ที่อันตรายอย่างมาก และเป็นการเสี่ยงชีวิตอย่างมากที่จะลงไปตรงใจกลางธารน้ำแข็ง แต่อักกะซี่ก็ไม่ได้ฟังคำทัดทานของเพื่อเลยแม้แต่น้อย เขายังคงลงไปตรงใจกลางน้ำแข็งที่มีอัตราการเคลื่อนไหลของน้ำแข็งถึงวันละ 40 ฟุต อักกะซี่ได้ลงไปในบ่อและลึกลงไปเรื่อย ๆ เขาพบว่าบริเวณปากบ่อของธารน้ำแข็งเป็นสีฟ้าอ่อนแกมเขียว เมื่อไต่ลึกลงไปอีก
เขาพบว่าสีของผนังบ่อเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ และเปลี่ยนเป็นสีฟ้าในตอนเที่ยงคืน และเมื่อลึกลงไปถึง 120 ฟุต อักกะซี่ต้องพบกับอากาศที่เย็นจัดของธารน้ำแข็ง ทำให้เขาต้องรีบกระตุกเชือกให้คนที่คอยอยู่ด้านบนรีบดึงเขาขึ้นไปในทันที แต่ไม่ถึงคนด้านบนจึงไม่ได้ยินสัญญาณของเขา อักกะซี่จึงต้องร้องตะโกน โชคดีที่คนด้านบนได้ยินจึงรีบดึงเขาขึ้นไป แต่ถึงอย่างนั้นก็เกือบทำให้เขาเสียชีวิต

หลังจากการสำรวจธารน้ำแข็งจบลงอักกะซี่ได้เขียนหนังสือขึ้นมาหลายเล่มโดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับยุคน้ำแข็งที่ชื่อว่า Le Systeme Glaaciaiae หนังสือเล่มนี้ก็ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับหนังสือเล่มที่ผ่าน ๆ มาของเขาหนังสือที่ได้รับการยกย่องอย่างมากอีกเล่มหนึ่งเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับการสำรวจทางธรณีวิทยา และจากผลงานชิ้นนี้คณะกรรมการแห่ง Lowell Institute ได้เชิญเขาไปแสดงปาฐกถาที่บอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งอักกะซี่ก็ตอบรับคำเชิญโดยทันที เขาได้ออกเดินทางไปบอสตันในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1846 นอกจากแสดงปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเขายังมีโอกาสได้รู้จักกับนักธรรมชาติวิทยาผู้มีชื่อเสียงและมีความสามารถหลายท่าน ทำให้อักกะซี่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้กับนักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ ทำให้เขารู้สึกประทับใจจนไม่ต้องการกลับไปที่สวิตแลนด์อีกและเมื่อภรรยาของเขาเสียชีวิต เขาได้แต่งงานใหม่กับหญิงสาวชาวอเมริกัน แต่เขาก็ยังคงส่งเงินสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายแก่บุตรชายทั้งสองของเขา

อักกะซี่ได้มีโอกาสเดินทางไปยังมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เพื่อเก็บรวบรวมตัวอย่างเกี่ยวกับธรรมชาติวิทยา แต่ทำอยู่ได้ไม่นาน เขาก็ต้องเดินทางกลับไปยังมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเพื่อเข้าทำงานในโรงเรียนการแพทย์ที่ชาณ์ลส์ตัน แต่ในระหว่างนี้เขาก็ยังคงเก็บ สะสมซากสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย เพื่อจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ในเวลาต่อมา ซึ่งโชคก็เข้าข้างเขาให้ทำงาน นี้ได้สำเร็จโดยมีเพื่อของเขาผู้หนึ่งได้ทำพินัยกรรมมอบเงินจำนวน 50,000 เหรียญ เพื่อให้เขาได้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์ตามได้ตั้งใจไว้อักกะซี่ได้ใช้พื้นที่บริเวณมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเพื่อจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ซึ่งทางสภาการเมืองแห่งรัฐแมสซาชูเซสได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์ได้ แม้ว่าในครั้งแรกจะมีสมาชิกบางคนไม่เห็นด้วยก็ตาม อักกะซี่ได้ตั้งชื่อพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ว่า Museum of Comparative Zoology

หลังจากที่อักกะซี่ประสบความสำเร็จทั้งชื่อเสียงและเงินทองทำให้เขามีโอกาสได้เดินทางไปศึกษาหาความรู้ด้านธรรมชาติวิทยาตามสถานที่ต่าง ๆ มากขึ้นโดยสถานที่แรกที่เขาได้เดินทางไปสำรวจ คือ ประเทศบราซิล เพื่อรวบรวมพันธุ์ปลาน้ำจืดจากแม่น้ำในอเมริกาใต้ อักกะซี่ได้นำวามรู้จากประสบการณ์การเดินทางไปบรรยายที่ Cooper Union ในนิวยอร์ค ส่วนตัวอย่างที่เขาเก็บมาได้ ได้นำไปไว้ในพิพิธภัณฑ์ของเขานั่นเอง ต่อมาอักกะซี่ได้เดินทางไปสำรวจน่านน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิก และเมื่อเดินทางกลับเขาก็ได้ทำเหมือนกับทุก ๆ ครั้งที่ผ่านมาคือ นำประสบการณ์และความรู้ต่าง ๆมาบรรยายให้กับสาธารณชนได้รับรู้ส่วนสิ่งที่เขาเก็บมาได้ก็ยังคงนำไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์

จากผลงานชิ้นต่าง ๆ ของเขามากมาย ได้มีเศรษฐีผู้หนึ่งที่นิยมชมชอบในผลงานของเขาได้มอบที่ดินที่ Buzzard's Bay พร้อมกับเงินจำนวนหนึ่งสำหรับสร้างโรงเรียนธรรมชาติวิทยาในฤดูร้อนซึ่งอักกะซี่ก็ยอมรับด้วยดี ดังนั้นในวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1873 อักกะซี่ได้เดินทางโดยเรือไปยัง Buzzard's Bay หลังจากนั้นการก่อสร้างโรงเรียนก็เป็นอันสำเร็จ แต่เป็นที่น่าเสียดาย เพราะในปลายปีเดียวกันนั้น อักกะซี่ก็ต้องล้มป่วยเพราะอากาศที่หนาวเย็นจนเขาไม่สามารถทนได้ และเสียชีวิตในวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 1873 แม้ว่าอักกะซี่จะเสียชีวิตไปแล้ว แต่สิ่งที่เขาทิ้งไว้ให้กับคนรุ่นหลังก็คือ พิพิธภัณฑ์ทางธรรมชาติวิทยาที่อักกะซี่ได้เก็บรวบรวมซากพืชซากสัตว์จากที่ต่าง ๆ ที่มีความน่าสนใจไว้เป็นจำนวนมาก



ที่มา
http://siweb.dss.go.th/Scientist/Scientist/Louis%20Johann%20Rudolph%20Agassiz.html

มาดาม มารี คูรี่ : Madam Marie Curie


มาดาม มารี คูรี่ : Madam Marie Curie

เกิด วันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ.1867 ที่เมืองวอร์ซอร์ (Warsaw) ประเทศโปแลนด์ (Poland)

เสียชีวิต วันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1934 ที่กรุงปารีส (Paris) ประเทศฝรั่งเศษ (France)

ผลงาน
- ค้นพบธาตุเรเดียม
- ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ในปี ค.ศ.1903 จากผลงานการพบธาตุเรเดียม
- ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์อีกครั้งหนึ่ง ในปี ค.ศ.1911 จากผลงานการค้นคว้าหาประโยชน์จากธาตุเรเดียม

โรคมะเร็งเป็นโรคที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ของโรคทั้งหมด ทั้งที่โรคมะเร็งไม่ใช่โรคติดต่อ หรือโรคระบาดร้ายแรงอะไรเลย แต่นั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญ สาเหตุที่ทำให้คนต้องเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ก็เพราะว่า โรคมะเร็งเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ หากปล่อยให้ลุกลามไปถึงระยะสุดท้ายแล้ว แต่ถ้าเป็นระยะแรกก็อาจจะรักษาได้ด้วยการแายรังสีเรเดียม และนักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบธาตุชนิดนี้ก็คือ มารี คูรี่ ไม่เฉพาะโรคมะเร็งเท่านั้นที่เรเดียมรักษาได้ เรเดียมยังสามารถรักษาโรคผิวหนังบางชนิดได้ และเนื้องอกได้อีกด้วย

มารีเกิดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ.1867 ที่กรุงวอร์ซอร์ ประเทศโปแลนด์ ก่อนที่เธอจะสมรสกับปิแอร์ คูรี่เธอชื่อว่ามารียา สโคลดอฟสกา (Marja Sklodowska) บิดาของเธอชื่อว่า วลาดิสลาฟ สโคลดอฟสกา เป็นครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์อยู่ที่โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในกรุงวอร์ซอร์ บิดาของเธอมักพาเธอไปห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนด้วยเสมอ ทำให้เธอมีความสนใจวิชาวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก ต่อมารัสเซียได้เข้ามายึดโปแลนด์ไว้เป็นเมืองขึ้น อีกทั้งกดขี่ข่มเหงชาวโปแลนด์ และมีคำสั่งให้ใช้ภาษารัสเซียเป็นภาษาราชการเพียงภาษาเดียวเท่านั้นเพื่อป้องกันการก่อกบฏ ทำให้ครอบครัวของ
มารีและชาวโปแลนด์ต้องได้รับความลำบากมากทีเดียว

หลังจากจบการศึกษาขั้นต้นแล้ว มารีได้เข้าทำงานเป็นครูสอนหนังสือในโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่ง และรับสอนพิเศษให้กับเด็ก ๆ แถวบ้าน มารีและพี่สาวของเธอบรอนยา ซึ่งเป็นครูในโรงเรียนอนุบาลเช่นเดียวกัน ทั้งสองมีความตั้งใจว่าถ้าเก็บเงินได้มากพอเมื่อใดจะไปเรียนต่อที่ประเทศฝรั่งเศส แต่รายได้เพียงน้อยนิด ทำให้ทั้งสองต้องเก็บเงินอยู่เป็นเวลานานก็ยังไม่พอ ดังนั้นทั้งสองจึงตกลงกันว่าจะนำเงินเก็บมารวมกัน โดยให้บรอนยาไปเรียนต่อแพทย์ก่อน เมื่อบรอนยาเรียนจบ แล้วหางานทำจึงส่งมารีไปเรียนต่อวิทยาศาสตร์บ้าง ดังนั้นบรอนยาจึงเดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศสเพื่อเข้าศึกษาต่อในวิชาแพทย์ ที่มหาวิทยาลัยปารีส
(Paris University) หลังจากเรียนจบบรอนยาได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับมารี ในปี ค.ศ.1891 มารีได้เดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศส เพื่อศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยปารีส มารีต้องใช้ความอดทนและพยายามอย่างมากในการอยู่ที่ปารีสเพราะเงินที่บรอนยาส่งมาให้ใช้จ่ายน้อยมาก เพียงพอต่อค่าห้องพักและค่าอาหารเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนเสื้อผ้ามารีไม่มีเงินเหลือพอที่หาซื้อมาใส่ให้ร่างกายอบอุ่นได้ ทำให้เธอเจ็บป่วยอยู่บ่อยครั้ง แต่ถึงอย่างนั้นมารีก็ยังใช้เวลาส่วนใหญ่กับการอ่านหนังสือ และด้วยเหตุนี้ทำให้เธอได้มีโอกาสได้พบกับปิแอร์ คูรี่ ซึ่งเป็นผู้ควบคุมห้องทดลองและอาจารย์สอนอยู่ในมหาวิทยาลัยปารีสด้วยความที่ทั้งสองมีชีวิตที่คล้าย ๆ กัน และมีความรักในวิชาวิทยาศาสตร์เช่นเดียวกัน ปิแอร์และมารีตกลงใจแต่งงานกันในปี ค.ศ.1895 และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข จนกระทั่งปิแอร์เสียชีวิตในวันที่ 19 เมษายน ค.ศ.1906 จากอุบัติเหตุรถชน

ในระหว่างนั้นมีนักวิทยาศาสตร์หลายท่านทำการทดลองและค้นพบรังสีหลายชนิด เช่น ในปี ค.ศ.1879 วิเลี่ยม ครุกส์ (William Crooks) พบรังสีคาโทด (Cathode Ray) ในปี ค.ศ.1895 วิลเฮล์ม คอนราด เรินต์เกน (Wilheim Konrad Roentgen) ค้นพบรังสีเอกซ์ (X- ray) และอังตวน อังรี เบคเคอเรล (Anton Henri Becquere) ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของปิแอร์ และมาได้ค้นพบกัมมันตภาพรังสีจากแร่ยูเรเนียม จากการค้นพบของนักวิทยาศาสตร์หลายท่านทำให้มารีมีความคิดที่จะทดลองหากัมมันตภาพรังสีจากแร่ชนิดอื่นบ้าง การทดสอบหารังสียูเรเนียมทำได้โดยการนำธาตุมาบดให้ละเอียด แล้วนำมาโรยใส่แผ่นฟิล์มถ่ายรูป แต่ต้องทำให้ห้องมืด เพื่อไม่ให้แสงโดนฟิล์ม จากนั้นจึงนำไปล้างถ้าปรากฏจุดสีดำบนแผ่นฟิล์มแสดงว่าธาตุชนิดนั้นสามารถแผ่รังสีได้ นอกจากนี้ยังสามารถทดสอบได้จากเครื่องแสดงกำลังประจุไฟฟ้า (Electroscope)
มารีได้ร่วมมือกับสามีของเธอคือ ปิแอร์ คูรี่ ทำการค้นหารังสียูเรเนียมจากธาตุชนิดอื่น มารีได้นำธาตุเกือบทุกชนิดมาทำการทดสอบหารังสียูเรเนียม ทั้งธาตุที่มีสารประกอบยูเรเนียมผสมอยู่ และธาตุที่ไม่มียูเรเนียมผสมอยู่ จากการทดสอบทั้งสองพบว่าธาตุที่เป็นสารประกอบยูเรเนียมสามารถแผ่รังสียูเรเนียมได้ แต่ก็ให้กำลังน้อยมากอีกทั้งการสกัดยูเรเนียมออกมาก็ทำได้ยาก แต่มารีก็ยังไม่ละความพยายามเธอยังค้นหาและแยกธาตุชนิดต่าง ๆ อีกมากมาย มารีใช้เวลานานหลายปีในการทดสอบแร่ และในที่สุดเธอก็พบว่าในแร่พิทซ์เบลนด์ (Pitchblende) ซึ่งเป็นออกไซด์ชนิดหนึ่งของแร่ยูเรเนียม และสามารถแผ่รังสีได้มากกว่ายูเรเนียมหลายเท่า แต่การที่แร่พิทซ์เบลนด์สามารถแผ่รังสีได้ น่าจะมีธาตุชนิดอื่นผสมอยู่ มารีตั้งชื่อธาตุชนิดนี้ว่า เรเดียม (Radium)

มารีได้นำผลงานการค้นพบธาตุเรเดียมมาทำวิทยานิพนธ์สำหรับรับปริญญาเอก เมื่อคณะกรรมการพิจารณารายงานของเธอ พร้อมกับซักถามเกี่ยวกับรายงานอย่างละเอียด คณะกรรมการได้ลงมติให้รายงานของเธอผ่านการพิจารณา ทำให้เธอได้รับปริญญาเอกจากผลงานชิ้นนี้เองปิแอร์ และมารีได้ทำการค้นคว้าเกี่ยวกับเรเดียมต่อไปเพื่อแยกธาตุเรเดียมออกจากแร่พิทซ์เบลนด์ให้ได้แต่ทั้งสองก็ต้องพบกับอุปสรรคมากมาย ตั้งแต่ห้องทดลองที่คับแคบ อีกทั้งเครื่องมือในการทดลองก็เก่า และล้าสมัย รวมถึงในขณะนั้น มารีได้ให้กำเนิดบุตรสาวคนแรก ทำให้ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด และเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายอีกด้วย แต่ทั้งสองก็ยังคงพยายามแยกเรเดียมให้บริสุทธิ์ ซึ่งก็ยังมีโชคดีอยู่บ้างที่ทางมหาวิทยาลัยปารีสได้อนุญาตให้ทั้งสองใช้ห้องหนึ่งที่อยู่ใกล้ ๆ กับห้องทดลองเป็นสถานที่แยกเรเดียมได้

ดังนั้นในปี ค.ศ.1898 ทั้งสองจึงเริ่มทำการค้นคว้าหาวิธีแยกเรเดียมอย่างจริงจัง โดยมารีได้สั่งซื้อเรเดียมจากออสเตรีย จำนวน 1 ตัน เพื่อใช้สำหรับการทดลอง ทั้งสองพยายามแรกแร่เรเดียมด้วยวิธีการต่าง ๆ หลายวิธี เช่น ใช้สารเคมี บดให้ละเอียดแล้วนำไปละลายน้ำ แยกด้วยไฟฟ้าและใช้เครื่องแสดงกำลังประจุไฟฟ้าบางชนิด เป็นต้น ในที่สุดทั้งสองก็พบวิธีการแยกเรเดียมบริสุทธิ์ ได้สำเร็จในปี ค.ศ.1902 และเรียกเรเดียมบริสุทธิ์นี้ว่า "เรเดียมคลอไรด์ (Radium chloride)" เรเดียมบริสุทธิ์นี้ สามารถแผ่รังสีได้มากกว่ายูเรเนียมถึง 2,000,000 กว่าเท่า ในขณะที่แร่ พิทช์เบลนด์แผ่รังสีได้มากกว่ายูเรเดียมเพียง 4 เท่าเท่านั้น อีกทั้งเรเดียมบริสุทธิ์ยังมีสมบัติสำคัญอีกหลายประการ ได้แก่ สามารถให้แสงสว่าง และความร้อนได้ นอกจากนี้เมื่อเรเดียมแผ่รังสีไปถูกวัตถุอื่น วัตถุนั้นจะเปลี่ยนสภาพเป็นธาตุกัมมันตภาพรังสี และสามารถแผ่รังสีได้เช่นเดียวกันกับเรเดียม

ต่อมาในระหว่างที่ปิแอร์ทำการทดลองเกี่ยวกับธาตุเรเดียมอยู่นี้ บังเอิญรังสีโดนผิวหนังของปิแอร์ ทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนบนผิวหนังบริเวณนั้นอีกทั้งยังมีรอยแดงเกิดขึ้น แม้ปิแอร์จะตกใจเมื่อเห็นเช่นนั้นแต่ด้วยความอยากรู้ เขาจึงทำการค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับเรเดียมที่มีผลกระทบต่อผิวหนัง จากการค้นคว้าทดลองปิแอร์สรุปได้ว่าเรเดียมสามารถรักษาโรคผิวหนังและโรคมะเร็งได้ ทั้งสองได้นำผลงานชิ้นนี้ออกเผยแพร่ให้กับสาธารณชนได้รับรู้ และจากผลงานชิ้นนี้ทั้งสองได้รับมอบรางวัลจากสมาคมวิทยาศาสตร์หลายแห่ง ได้แก่ เหรียญทองเดวี่ จากราชสมาคมแห่งกรุงลอนดอน และ ค.ศ.1903 ทั้งสองได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ รวมกับเบคเคอเรลผู้ค้นพบรังสีจากธาตุยูเรเนียม นอกจากนี้ทั้งสองยังได้รับเงินสนับสนุนจากสภาวิทยาศาสตร์แห่งฝรั่งเศส ในการจัดซื้อแร่พิทช์เบลนด์ ซึ่งทั้งสองเหมาะสมที่จะได้รับรางวัลเหล่านี้เป็นที่สุด เพราะแม้ว่าการแยกแร่เรเดียมออกจากธาตุพิทช์เบลนด์จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก และใช้เวลาในการค้นหานานถึง 4 ปี ก็ตาม แต่ทั้งสองก็ไม่ได้นำผลงานชิ้นนี้ไปจดทะเบียนสิทธิบัตร อีกทั้งยังเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับรู้อย่างละเอียดทุกขั้นตอน ในปี ค.ศ.1906 ปิแอร์ได้ประสบอุบัติเหตุรถชนทำให้เสียชีวิตทันที นำความเศร้าโศกเสียใจมาสู่มารีเป็นอันมาก แต่เธอก็ไม่ได้ละทิ้งการทดลองวิทยาศาสตร์

ต่อมามหาวิทยาลัยปารีสได้อนุมัติเงินก้อนหนึ่งให้กับมารี ในการจัดสร้างสถาบันเรเดียม พร้อมกับอุปกรณ์อันทันสมัย เพื่อทำการทดลองค้นคว้าและแยกธาตุเรเดียม สำหรับประโยชน์ทางการแพทย์ต่อไป จากการค้นคว้าเกี่ยวกับธาตุเรเดียมอย่างจริงจังในปี ค.ศ.1911 มารีได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์อีกครั้งหนึ่งจากผลงานการค้นคว้าหาประโยชน์จากเรเดียมเพิ่มเติม มารีได้ออกแบบสถาบันแห่งนี้ด้วยตัวของเธอเอง สถาบันแห่งนี้สร้างเสร็จในปี ค.ศ.1914 ถึงแม้ว่าจะมีห้องทดลองและอุปกรณ์ที่ทันสมัยแล้ว แต่ก็มีเหตุที่ทำให้การทำงานต้องหยุดชะงัก เพราะได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น ทำให้ผู้ช่วยและคนงานที่ทำงานในสถาบัน
เรเดียม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายต้องถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร เมื่อเป็นเช่นนั้นมารีจึงสมัครเข้าร่วมกับอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือทหารที่บาดเจ็บ อีกทั้งยังนำความรู้ไปใช้ในงานครั้งนี้ด้วย เธอจัดตั้งแผนกเอกซเรย์เคลื่อนที่ขึ้น เพื่อตระเวนรักษาทหารที่บาดเจ็บตามหน่วยต่าง ๆ มารีได้รักษาทหารที่บาดเจ็บด้วยรังสีเอกซ์มากกว่า 100,000 คน

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สงบลง มารีได้กลับมาทำงานอีกครั้งหนึ่ง และผลจากการทดลองค้นคว้าเรเดียมทำให้เธอ ได้รับผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสีของเรเดียม ทำให้ไขกระดูกเธอถูกทำลาย และเสียชีวิตในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1934




ที่มา
http://siweb.dss.go.th/Scientist/Scientist/Madam%20Marie%20Curie.html

วันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

อาร์คิมีดีส : Archimedes



อาร์คิมีดีส : Archimedes

เกิด 287 ก่อนคริสต์ศักราช ที่เมืองไซราคิวส์ (Syracuse) เกาะซิซิลี (Sicily)


เสียชีวิต 212 ก่อนคริสต์ศักราช ที่เมืองไซราคิวส์ (Syracuse) เกาะซิซิลี (Sicily)


ผลงาน

- กฎของอาร์คิมีดีส (Archimedes Principle) ที่กล่าวว่า "ปริมาตรของวัตถุส่วนที่จมลงในน้ำย่อมเท่ากับปริมาตรของน้ำที่ถูกแทนที่ด้วยวัตถุ" ซึ่งกฎข้อนี้ได้นำไปใช้ประโยชน์ในการหาความถ่วงจำเพาะของวัตถุ
- ประดิษฐ์เครื่องทุ่นแรง ได้แก่ คานดีดคานงัด รอก ระหัดวิดน้ำ และล้อกับเพลา
- อาวุธสงคราม ได้แก่ เครื่องเหวี่ยงหิน กระจกเว้ารวมแสง และเครื่องปล่อยท่อนไม้

เมื่อเอ่ยชื่ออาร์คิมีดีส ไม่มีใครที่จะไม่รู้จักนามของนักวิทยาศาสตร์เอกผู้นี้ โดยเฉพาะกฎเกี่ยวกับการหาความถ่วงจำเพาะของวัตถุ หรือการหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมงกุฎทองของกษัตริย์เฮียโร (King Hiero) ซึ่งเรื่องนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเล็กน้อยเท่านั้น ถ้าเทียบกับสิ่งประดิษฐ์ และการค้นพบของเขาในเรื่องอื่น เช่น ระหัดวิดน้ำ คานดีดคานงัด ล้อกับเพลา เป็นต้น อาร์คิมีดีสขึ้นชื่อว่าเป็นบิดา แห่งกลศาสตร์ที่แท้จริงเนื่องจากสิ่งประดิษฐ์ของเขามักจะเป็นเครื่องผ่อนแรงที่มีประโยชน์และใช้กันมาจนถึงปัจจุบันนี้

อาร์คิมีดีสเป็นนักปราชญ์ชาวกรีก เกิดที่ เมืองไซราคิวส์ (Syracuse) บนเกาะซิซิลี (Sicily) เมื่อประมาณ 287 ก่อนคริสต์ศักราชบิดาของเขาเป็นนักดาราศาสตร์ชื่อ ไฟดาส (Pheidias) อาร์คิมีดีสมีความสนใจในวิชาคณิตศาสตร์เป็นอย่างมาก เขาจึงเดินทางไปศึกษาวิชาคณิตศาสตร์กับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์นามว่า ซีนอนแห่งซามอส ซึ่งก็เป็นลูกศิษย์คนเก่งของนักปราชญ์เลื่องชื่อลือนามว่า ยูคลิด (Euclid) ที่เมืองอาเล็กซานเดรีย (Alexandria) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางแห่งวิชาการของกรีกในสมัยนั้น

หลังจากที่อาร์คิมีดีส จบการศึกษาแล้ว เขาได้เข้าทำงานในตำแหน่งนักปราชญ์ประจำราชสำนักของพระเจ้าเฮียโร งานชิ้นเอกที่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป คือกฎของอาร์คิมีดีส (Archimedes Principle) หรือ วิธีการหาความถ่วงจำเพาะของวัตถุ (Specific Gravity) ซึ่งเรื่องเกิดขึ้นจากกษัตริย์เฮียโรทรงมีรับสั่งให้ช่างทำมงกุฎทองคำ โดยมอบทองคำให้ช่างทองจำนวนหนึ่ง เมื่อช่างทองนำมงกุฎมาถวาย ทรงเกิดความระแวงในท่าทางของช่างทำทองว่าจะยักยอกทองคำไป และนำโลหะชนิดอื่นมาผสม แต่ทรงไม่สามารถหาวิธีพิสูจน์ได้ ดังนั้นจึงทรงมอบหมายหน้าที่ การค้นหาข้อเท็จจริงให้กับอาร์คิมีดีส ขั้นแรกอาร์คิมีดีสได้นำมงกุฎทองไปชั่งน้ำหนัก ปรากฏว่าน้ำหนักของมงกุฎเท่ากับทองที่กษัตริย์เฮียโรได้มอบให้ไป ซึ่งช่างทองอาจจะนำโลหะชนิดอื่นมาผสมลงไปได้ อาร์คิมีดีสครุ่นคิดเท่าไรก็คิดไม่ออกสักที จนวันหนึ่งเขาไปอาบน้ำที่อ่างอาบน้ำสาธารณะแห่งหนึ่ง ขณะที่น้ำในอ่างเต็ม อาร์คิมีดีสลงแช่ตัวในอ่างอาบน้ำ น้ำก็ล้นออกมาจากอ่างนั้น เมื่อเขาเห็นเช่นนั้นทำให้เขารู้วิธีพิสูจน์น้ำหนักของทองได้สำเร็จ ด้วยความดีใจเขาจึงรีบวิ่งกลับบ้านโดยที่ยังไม่ได้สวมเสื้อผ้า ปากก็ร้องไปว่า "ยูเรก้า! ยูเรด้า! (Eureka)" จนกระทั่งถึงบ้าน เมื่อถึงบ้านเขารีบนำมงกุฎมาผูกเชือกแล้วหย่อนลงในอ่างน้ำที่มีน้ำอยู่เต็ม แล้วรองน้ำที่ล้นออกมาจากอ่าง จากนั้นจึงนำทองในปริมาตรที่เท่ากันกับมงกุฎหย่อน ลงในอ่างน้ำ แล้วทำเช่นเดียวกับครั้งแรก จากนั้นเขาได้นำเงินในปริมาตรที่เท่ากับมงกุฎ มาทำเช่นเดียวกับมงกุฎและทอง ผลการ
ทดสอบปรากฏว่า ปริมาตรน้ำที่ล้นออกมานั้น เงินมีปริมาตรน้ำมากที่สุด มงกุฎรองลงมา และทองน้อยที่สุด ซึ่งจากผลการทดลองครั้งนี้สามารถสรุปได้ว่า ช่างทองนำเงินมาผสมเพื่อทำมงกุฎแน่นอนมิฉะนั้นแล้วปริมาตรน้ำของมงกุฎและทองต้องเท่ากัน เพราะเป็นโลหะชนิดเดียวกัน อาร์คิมีดีสได้นำความขึ้นกราบทูลกษัตริย์เฮียโรให้ ทรงทราบ อีกทั้งแสดงการทดลองให้ชมต่อหน้าพระพักตร์ เมื่อช่างทองเห็นดังนั้นก็รีบรับสารภาพแล้วนำทองมาคืนให้กับกษัตริย์เฮียโรการค้นพบครั้งนี้ของอาร์คิมีดีส ได้ตั้งเป็นกฎชื่อว่ากฎของอาร์คิมีดีส ต่อมานักวิทยาศาสตร์ได้นำหลักการเช่นเดียวกันนี้มาหาความถ่วงจำเพาะของวัตถุต่าง ๆ

อาร์คิมีดีสไม่เพียงแต่พบวิธีหาความถ่วงจำเพาะของวัตถุได้เท่านั้น งานชิ้นสำคัญอีกชิ้นหนึ่งก็คือ การสร้างระหัดวิดน้ำ หรือ ที่มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ระหัดเกลียวของอาร์คิมีดีส (Archimedes Screw)" เพื่อใช้สำหรับวิดน้ำขึ้นมาจากบ่อหรือแม่น้ำ สำหรับใช้ใน การอุปโภคหรือบริโภค ซึ่งทำให้เสียแรงและเวลาน้อยลงไปอย่างมาก การที่อาร์คิมีดีสคิดสร้างระหัดวิดน้ำขึ้นมานั้น ก็เพราะเขาเห็นความลำบากของชาวเมืองในการนำน้ำขึ้นจากบ่อหรือแม่น้ำมาใช้ ซึ่งต้องใช้แรงและเสียเวลาอย่างมาก ระหัดวิดน้ำ ของอาร์คิมีดีสประกอบ ไปด้วยท่อทรงกระบอกขนาดใหญ่ภายในเป็นแกนระหัด มีลักษณะคล้ายกับดอกสว่าน เมื่อต้องการใช้น้ำ ก็หมุนที่ด้ามจับระหัดน้ำก็จะไหลขึ้นมาตามเกลียวระหัดนั้น ซึ่งต่อมามีผู้ดัดแปลงนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ มากมาย เช่น การลำเลียงถ่านหินเข้าสู่เตา และนำเถ้าออกจากเตา การบดเนื้อสัตว์ เป็นต้น

นอกจากนี้อาร์คิมีดีสได้ประดิษฐ์เครื่องผ่อนแรงขึ้นอีกหลายชิ้น เพื่อสร้างความสะดวกสบายให้กับชาวเมือง ได้แก่ คานดีด คานงัด (Law of Lever) ใช้สำหรับในการยกของที่มีน้ำหนักมาก ซึ่งใช้วิธีการง่าย ๆ คือ ใช้ไม้คานยาวอันหนึ่ง และหาจุดรอง รับคานหรือจุดฟัลครัม (Fulcrum) ซึ่งเมื่อวางของบนปลายไม้ด้านหนึ่ง และออกแรงกดปลายอีกด้านหนึ่ง ก็จะสามารถยกของที่มีน้ำหนักมากได้อย่างสบาย

นอกจากคานดีดคานงัดแล้ว อาร์คิมีดีสได้ประดิษฐ์รอก ซึ่งเป็นเครื่องกลสำหรับยกของหนักอีกชนิดหนึ่ง เครื่องกลผ่อนแรงทั้งสองชนิดนี้ อาร์คิมีดีสคิดค้นเพื่อกะลาสีเรือหลวงที่ต้องยกของหนักเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน เครื่องกลผ่อนแรงของอาร์คิมีดีส มีอีกหลายอย่าง ได้แก่ รอกพวง ซึ่งใช้หลักการเดียวกันกับรอกและล้อกับเพลา ใช้สำหรับเคลื่อนย้ายของที่มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก เช่น ก้อนหิน เป็นต้น เครื่องกลผ่อนแรงของอาร์คิมีดีสถือได้ว่าเป็นรากฐานที่สำคัญของวิชากลศาสตร์ และยังเป็นที่นิยมใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งได้มีการนำเครื่องกลผ่อนแรงเหล่านี้มาเป็นต้นแบบเครื่องกลที่สำคัญในปัจจุบัน เช่น ล้อกับเพลา มาใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนของรถยนต์ เป็นต้น อาร์คิมีดีสไม่ได้เพียงแต่สร้างเครื่องกลผ่อนแรงเท่านั้น เขายังมีความชำนาญเกี่ยวกับคณิตศาสตร์

เขาสามารถคำนวณหาพื้นที่หน้าตัดของทรงกรวย ทรงกลม และทรงกระบอกได้ โดยใช้สูตรทางคณิตศษสตร์ที่เขาเป็นคนคิดค้นขึ้น และหาค่าของ p ซึ่งใช้ในการหาพื้นที่ของวงกลม ในปี 212 ก่อนคริสต์ศักราช กองทัพโรมันยกทัพเข้าตีเมืองไซราคิวส์โดยยกทัพเรือมาปิดล้อมเกาะไซราคิวส์ไว้ อาร์คิมีดีสมีฐานะนักปราชญ์ประจำราชสำนัก จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพบัญชา การรบป้องกัน บ้านเมืองครั้งนี้ อาร์คิมีดีสได้ประดิษฐ์อาวุธขึ้นหลายชิ้นในการต่อสู้ครั้งนี้ ได้แก่ เครื่องเหวี่ยงหิน โดยอาศัยหลักการของคานดีดคานงัด เครื่องเหวี่ยงหินของอาร์คิมีดีสสามารถเหวี่ยงก้อนหินข้ามกำแพงไปถูกเรือของกองทัพโรมันเสียหายไปหลายลำ

อาวุธอีกชนิดหนึ่งที่ อาร์คิมีดีสประดิษฐ์ขึ้น คือ โลหะขัดเงามีลักษณะคล้ายกระจกเว้าสะท้อนแสงให้มีจุดรวมความร้อนที่สามารถทำให้เรือของกองทัพโรมัน ไหม้ไฟได้ นอกจากนี้ยังมีเครื่องกลอีกชนิดหนึ่งมีลักษณะคล้ายกับตอรืปิโดในปัจจุบัน เรียกว่า"เครื่องกลส่งท่อนไม้" ซึ่งใช้ส่งท่อนไม้ขนาดใหญ่ด้วยกำลังแรงให้แล่นไปในน้ำ เพื่อทำลายเรือข้าศึก กองทัพโรมันใช้เวลานานถึง 3 ปี กว่าจะยึดเมืองไซราคิวส์ได้สำเร็จ แต่มิได้แพ้เพราะกำลังหรือสติปัญญา แต่แพ้เนื่องจากความประมาท ด้วยในขณะนั้นภายในเมืองไซราคิวส์กำลังเฉลิมฉลองกันอย่างสนุกสนาน เมื่อตีเมืองไซราคิวส์สำเร็จ แม่ทัพโรมัน มาร์เซลลัส (Marcellus) ได้สั่งให้ทหารนำตัวอาร์คิมีดีสไปพบเนื่องจากชื่นชมในความสามารถของอาร์คิมีดีสเป็นอย่างมาก ในขณะที่ตามหาอาร์คิมีดีส ทหารได้พบกับอาร์คิมีดีสกำลังใช้ปลายไม้ขีดเขียนบางอย่างอยู่บนพื้นทราย แต่ทหารผู้นั้นไม่รู้จักอาร์คิมีดีส เมื่อทหารเข้าไปถามหาอาร์คิมีดีสเขากลับตวาด ทำให้ทะเลาะวิวาทกัน ทหารผู้นั้นใช้ดาบแทงอาร์คิมีดีสจนเสียชีวิต เมื่ออาร์เซลลัสทราบเรื่องก็เสียใจเป็นอย่างมากที่ต้องสูญเสียนักปราชญ์ที่มีความสามารถ อย่างอาร์คิมีดีสไป ดังนั้นเขาจึงรับอุปการะครอบครัวของอาร์คิมีดีสและสร้างอนุสาวรีย์ เพื่อให้ระลึกถึงความสามารถของอาร์คิมีดีส อนุสาวรีย์แห่งนี้มีลักษณะรูปทรงกลมอยู่ในทรงกระบอก

จากผลงานการประดิษฐ์เครื่องกลผ่อนแรงของอาร์คิมีดีส ถือได้ว่าเขาเป็นผู้ให้กำเนิดวิชากลศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาที่มีประโยชน์อย่างมหาศาลทั้งในอดีตและปัจจุบัน




ที่มา
http://siweb.dss.go.th/Scientist/Scientist/Archimedes.html

วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ศาสตราจารย์ ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์


ศาสตราจารย์ ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์
นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาชีวเคมี ประจำปีพุทธศักราช 2527

ศ.ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านชีวเคมี มีผลงานเด่นในเรื่องเกี่ยวกับมาลาเรีย ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาชีวเคมี เมื่อปี พ.ศ. 2527 เป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกของโลกที่ค้นพบโครงสร้าง 3 มิติของโปรตีนของเชื้อมาลาเรีย ที่มีความสำคัญโดยเป็นเป้าหมายของยาต้านมาลาเรีย[1] และค้นพบการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างและคุณสมบัติหลายประการของเยื่อหุ้มเม็ดเลือดแดงที่ติดเชื้อมาลาเรีย และความเกี่ยวโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้กับอาการของโรคนี้ทางโลหิตวิทยา ค้นพบเอนไซม์ใหม่และวิถีปฏิกิริยาใหม่ของเชื้อมาลาเรีย โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการสังเคราะห์และใช้สารโฟเลต อันเป็นแนวทางในการพัฒนายาต้านมาลาเรียชนิดใหม่ วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ได้รับโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในคณะรัฐมนตรีของ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์

ประวัติ
ศาสตราจารย์ ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์เกิดวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2487 ที่จังหวัดลพบุรี เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวน 4 คน ของ พ.อ. สรรค์ และนางระเบียบ ยุทธวงศ์ เนื่องจาก พ.อ.สรรค์ ยุทธวงศ์ ซึ่งเป็นบิดาได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่ท่านยังเล็ก ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้เป็นลุง จึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการเป็นนักวิทยาศาสตร์ของท่านมากที่สุด และให้การสนับสนุนมาโดยตลอด ดังนั้น เมื่อได้รับชักชวนจาก ศ.ดร.สตางค์ มงคลสุข คณบดีวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ ให้เห็นความสำคัญของการเรียนวิทยาศาสตร์ และเห็นว่าเป็นเรื่องที่สนุกสนาน ทำให้คิดตัดสินใจสอบชิงทุนไปเรียนต่อยังต่างประเทศในสาขาวิทยาศาสตร์ในเวลาต่อมา

เกียรติคุณและรางวัล
พ.ศ. 2527 - รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาชีวเคมี จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์
พ.ศ. 2541 - รางวัล ASEAN Science and Technology Meritorious Service Award จากองค์การอาเซียน
พ.ศ. 2545 - รางวัลนักเรียนทุนรัฐบาลดีเด่น
พ.ศ. 2546 - รางวัลผลงานวิจัยเกียรติยศ สกว. จากการที่ได้รับการอ้างอิงผลงานวิจัยสูงสุด
พ.ศ. 2547 - Nikkei Asia Prize for Science, Technology and Innovation จาก Nihon Keizai Shimbun ประเทศญี่ปุ่น
พ.ศ. 2547 - ได้รับการคัดเลือกเป็นบุคคลดีเด่นของชาติ โดยคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ
พ.ศ. 2549 - หนังสือพิมพ์ The Nation ได้จัดให้เป็น 1 ใน 35 คนผู้มีบทบาทสูงต่อประเทศไทย ในช่วง 35 ปีที่ผ่านมา

ผลงานวิจัย
งานวิจัยส่วนใหญ่เป็นงานด้านการพัฒนายาต้านมาลาเรีย โดยเฉพาะกลุ่มของยาที่เรียกว่า แอนติโฟเลต และชีวเคมีพื้นฐานของมาลาเรีย ผลงานที่สำคัญ คือการค้นพบกลไกของการดื้อยาแอนติโฟเลตของเชื้อมาลาเรีย ซึ่งเกิดจากการกลายพันธุ์ของเอ็นไซม์ในเชื้อที่เป็นเป้าหมายของยา ได้ค้นพบโครงสร้างของเอ็นไซม์นี้ ทำให้สามารถออกแบบและสังเคราะห์ยาใหม่ที่มีฤทธิ์ต่อเชื้อที่ดื้อยาเก่าได้ มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ 112 เรื่อง เขียนหนังสือและตำรา 11 เรื่อง สิทธิบัตร 3 เรื่อง

ประวัติการทำงาน
พ.ศ. 2512 - เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2526 - ได้รับโปรดเกล้าฯเป็น ศาสตราจารย์ (เมื่ออายุได้ 39 ปี)
พ.ศ. 2532 - ได้รับโปรดเกล้าฯเป็น ศาสตราจารย์ระดับ 11 (เมื่ออายุ 46 ปี)
พ.ศ. 2516-2518 - ทำงานวิจัยหลังปริญญาเอกที่ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส กับ ศาสตราจารย์พอล บอเยอร์ (นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล)
พ.ศ. 2533 - ได้รับเชิญเป็นศาสตราจารย์อาคันตุกะ ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก
ในด้านนโยบายการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย ศาสตราจารย์ ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เป็นแกนหลักที่นำไปสู่การจัดตั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพลังงาน เมื่อปี พ.ศ. 2522 ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เมื่อปี พ.ศ. 2526 และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2534

พ.ศ. 2535-2541 - เป็นผู้อำนวยการคนแรกของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
พ.ศ. 2528-2534 - เป็นผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
พ.ศ. 2534 – ร่วมยกร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
พ.ศ. 2535 - ร่วมจัดตั้งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กรรมการนโยบายและบริการ
พ.ศ. 2543 - กรรมการธนาคารกสิกรไทย
พ.ศ. 2545 - ประธานมูลนิธิบัณฑิตสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
พ.ศ. 2546 - กรรมการยกร่างที่ปรึกษา Scientific Board, Grand Challenges in Global Health Program, Bill and Melinda Gates Foundation
พ.ศ. 2546 - กรรมการ Drugs for Neglected Diseases Initiative, Geneva



หน้าที่การงานในปัจจุบัน
เป็นนักวิจัยอาวุโสที่ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
เป็นที่ปรึกษาอาวุโสของผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

พ.ศ. 2549-ปัจจุบัน - ได้รับโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี



ที่มา
http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B9%8C_%E0%B8%94%E0%B8%A3._%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98_%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C

ศาสตราจารย์ ดร. ม.ร.ว.พุฒิพงศ์ วรวุฒิ


ศาสตราจารย์ ดร. ม.ร.ว.พุฒิพงศ์ วรวุฒิ

นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น พ.ศ. 2527 สาขาสรีรวิทยาการสืบพันธุ์


ศาสตราจารย์ ดร. ม.ร.ว.พุฒิพงศ์ วรวุฒิ มีผลงานวิจัยอันเป็นงานบุกเบิกที่ช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกการกำเนิดและการคุมกำเนิดในสัตว์ทดลองพวกฟันแทะและลิงหางยาวหรือลิงแสม โดยเน้นหาความสัมพันธ์ในการควบคุมทั้งที่ระดับต่อมใต้สมองและระดับรังไข่ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการควบคุมการ ฝังตัวของบลาสโตซิสที่เยื่อบุผนังมดลูก พร้อมกันนี้ยังสร้างกลุ่มวิจัยในลิงหางยาวที่หน่วยวิจัยไพรเมท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประวัติ
เกิด 4 มกราคม 2475 เป็นบุตรคนที่ 3 ของ ม.จ.วรพงษ์ทัศนาและหม่อมบุญเทียม เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนแสงวิทยา มัธยมศึกษาที่โรงเรียนพันธุ์พิศวิทยา โรงเรียนพระนครวิทยาลัย ระดับเตรียมอุดมที่โรงเรียนพระนครวิทยาลัย เข้าศึกษาที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ สาขาชีววิทยา เข้ารับราชการครั้งแรกแผนกชีววิทยา จุฬาฯ ต่อมาได้รับการศึกษาต่อต่างประเทศระดับปริญญาโทด้านสัตววิทยา มหาวิทยาลัยดคโรราโดและทุนโซโลมอน บี คอล์กเกอร์ ในระดับปริญญาเอก สาขาสรีรวิทยาการสืบพันธุ์ จากสถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์มัน อิสราเอล

ผลงานวิจัย
ในปี พ.ศ. 2527 ได้รับการคัดเลือกจากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาชีววิทยา ผลงานเด่น ๆ หลายชิ้น เช่น ประสบผลสำเร็จในการเลี้ยงและการแพร่พันธุ์หนูขาวพันธุ์วิสตาร์บริสุทธิ์ ซึ่งใช้ในการศึกษา และประสบผลสำเร็จในการสร้างกลุ่มสัตว์ทดลองโกลเด้นแฮมสเตอร์ ริเริ่มสร้างลิงแสมซึ่งเป็นรูปแบบสัตว์ทดลองที่ใกล้เคียงมนุษย์มาก ซึ่งสามารถผสมพันธุ์ได้จนเพียงพอกับการวิจัย เพราะความมุ่งมั่นพัฒนาการวิจัยอย่างต่อเนื่อง อาจารย์จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ริเริ่มบุกเบิกให้มีการศึกษาวิจัยด้านสรีรวิทยาการสืบพันธุ์เป็นคนแรกของไทย




ที่มา
http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B9%8C_%E0%B8%94%E0%B8%A3._%E0%B8%A1.%E0%B8%A3.%E0%B8%A7.%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%92%E0%B8%B4%E0%B8%9E%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C_%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B8%E0%B8%92%E0%B8%B4

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี


ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี
นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น พ.ศ. 2526 สาขาชีววิทยา (พันธุศาสตร์)


ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี เป็นผู้ค้นพบกลไกทางพันธุศาสตร์ของโรคแอลฟ่าธาลัสซีเมีย โดยพบว่ามียีนแอลฟ่าธาลัสซีเมียสองชนิด และได้ให้ชื่อว่า แอลฟ่าธาลัสซีเมีย 1 และแอลฟ่าธาลัสซีเมีย 2

ประวัติ
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี เกิดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2474 จังหวัดกาญจนบุรี

เป็นบุตรนายคลาย และนางกิม วะสี การศึกษาเรียนชั้นประถมและมัธยมต้นที่ จังหวัดกาญจนบุรี และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เตรียมแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

เข้ารับราชการเป็นแพทย์ประจำบ้านเริ่มทำการวิจัยเกี่ยวกับโรคเลือด จนได้รับทุนอานันทมหิดลไปศึกษาต้นโลหิตวิทยา ที่มหาวิทยาลัยโคโรราโด และการวิจัยด้านพันธุศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยลอนดอนและกลับมารับราชการทำการสอนและวิจัยต่อมา

ผลงานวิจัย
อาจารย์ประเวศเป็นผู้ศึกษาและเข้าใจธรรมชาติของเลือดในทุกเรื่องอย่างละเอียด สามารถทำความเข้าใจถึงความผิดปกติของสายลูกโซ่โกลบินในฮีโมโกลบินของเม็ดเลือดแดง ที่ก่อให้เกิดโรคโลหิตจางที่เรียกว่า “โรคธาลัสซีเมีย” โรคนี้เป็นมากในประเทศเทศไทย ลาว กัมพูชา เป็นความผิดปกติ ในสายโซ่ ของฮีโมโกลบิน จนท่านศึกษาจนพบว่า แอลฟ่า-ธาลัสซีเมียสองชนิด คือ แอลฟา-ธาลัสซีเมีย 1 และ แอลฟ่า-ธาลัสซีเมีย 2 ซึ่งมีองค์ประกอบต่างๆ จะทำให้เกิดอาการและการสืบเนื่องทางพันธุกรรมต่างกัน

งานวิจัยชิ้นนี้เป็นที่ยอมรับและยกย่องของวงการวิทยาศาสตร์ทั่วโลก เพราะเป็นการช่วยสร้างพื้นฐานความเข้าใจ ผลงานท่านได้รับการตีพิมพ์ ทั้งในและต่างประเทศ และได้รับเชิญไปเป็นที่ปรึกษาการวิจัยขององค์การอนามัยโลก และเป็นวิทยากรบรรยายยังสถาบันต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ

จากผลงานการทำงานอย่างมุ่งมั่นถึงความสำคัญของโรคที่จะมีผลกระทบต่างๆ มากมายที่จะตามมานายแพทย์ประเวศได้มุ่งมั่น-ทุ่มเททั้งกำลังกายและใจจนเป็นที่ยอมรับของทุกหน่วยงานจนได้รับรางวัลแมกไซไซ และการคัดเลือกให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น จากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ.2526


ที่มา
http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B9%8C_%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%A8_%E0%B8%A7%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B5

ศาสตราจารย์ ดร. วิรุฬห์ สายคณิต


ศาสตราจารย์ ดร. วิรุฬห์ สายคณิต

ศาสตราจารย์ ดร. วิรุฬห์ สายคณิต นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น พ.ศ. 2525 สาขาฟิสิกส์ และ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2529 สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์

ศาสตราจารย์ ดร. วิรุฬห์ สายคณิต เสนอทฤษฎีใหม่อธิบายพฤติกรรมการเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอนในสิ่งแวดล้อมที่ไร้ระเบียบ ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจถึงคุณสมบัติต่างๆ ของสารจำพวกอสัณฐานกึ่งตัวนำ สารผลึกกึ่งตัวนำที่มีสิ่งเจือปนสูง ฯลฯ อันเป็นการก่อให้เกิดวิวัฒนาการในวงการอิเลกทรอนิกส์ เพราะสารเหล่านี้มีประโยชน์ในการใช้ผลิตแสงเลเซอร์ เซลล์แสงอาทิตย์ อุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์

ประวัติ
ศาสตราจารย์ ดร. วิรุฬห์ สายคณิต เกิดวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2483 จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาฟิสิกส์ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์ทฤษฎี จาก Institute of Theoretical Physics, Gothenburg, Sweden

ศาสตราจารย์ วิรุฬห์ สายคณิต เป็นผู้มีจิตใจและวิญญาณของนักวิทยาศาสตร์โดยแท้จริง นอกจากการอุทิศตนทำการศึกษาค้นคว้าอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาและทำการเผยแพร่ผลงานต่อวงวิชาการแล้ว ยังได้ทำการสอนและปลูกฝัง สร้างความสามารถให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ทั้งการสอนในหลักสูตร และการเป็นหัวหน้ากลุ่มงานวิจัย หรือผู้กระตุ้นส่งเสริมงานวิจัยในรูปแบบต่างๆ อีกทั้งเป็นผู้มีอัธยาศัยน่านิยม มีความสุภาพอ่อนน้อมถ่อมตน ในขณะเดียวกันก็สามารถแสดงความเป็นผู้นำทางวิชาการให้เป็นที่เลื่อมใสยอมรับ ทั้งนิสิต อาจารย์ และนักวิทยาศาสตร์อื่นๆ ตลอดจนยอมเสียสละในการผลักดันความก้าวหน้าทางวิชาการ โดยการรับหน้าที่นายกสมาคมฟิสิกส์ไทย และเข้าร่วมในกิจกรรมอื่นๆ ที่มีประโยชน์

ด้วยผลงานวิชาการและจริยธรรมอันดีเด่น ศาสตราจารย์ วิรุฬห์ สายคณิต ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่ตั้งเป็น ศาสตราจารย์ วิชาฟิสิกส์ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 40 ปี เคยได้รับรางวัลรัชดาภิเษกสมโภชประเภทผลงานวิจัยดีเด่น จากจุฬาลงกรณ์ รางวัลวิจัยดีเด่นของสภาวิจัยแห่งชาติ และรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ศาสตราจารย์ วิรุฬห์ สายคณิต ได้รับราชการเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาตั้งแต่ต้น ปัจจุบันนอกจากตำแหน่งศาสตราจารย์วิชาฟิสิกส์แล้ว ยังเป็นผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการวิจัยฟิสิกส์สารกึ่งตัวนำของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาชิกอาวุโสแห่งสถาบันฟิสิกส์ทฤษฎีนานาชาติของสหประชาชาติด้วย


ที่มา
http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B9%8C_%E0%B8%94%E0%B8%A3._%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%AC%E0%B8%AB%E0%B9%8C_%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%84%E0%B8%93%E0%B8%B4%E0%B8%95

วันพุธที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ : Alexander Graham Bell


อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ : Alexander Graham Bell

เกิด วันที่ 3 มีนาคม ค.ศ.1847 ที่เมืองเอดินเบิร์ก (Edinburg) ประเทศสก็อตแลนด์ (Scotland)


เสียชีวิต วันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ.1922 ที่เมืองโนวา สโคเทีย (Nova Scotia)


ผลงาน

- ประดิษฐ์โทรศัพท์ ในปี ค.ศ.1876
- ก่อตั้งสมาคมแนะนำ และสอนคนหูพิการ ชื่อว่า American Association to Promote the Teaching of
Speech to Deaf

การติดต่อสื่อสารถือได้ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากทั้งในอดีต ปัจจุบัน รวมถึงต่อไปอนาคต ในอดีตมนุษย์ใช้วิธีการส่งข่าวสารถึงกันด้วยวิธีต่าง ๆ มากมาย เช่น ใช้นกพิราบ ควันไฟ เป็นสัญญาณ หรือการใช้มนุษย์เดินทางส่งข่าวสาร ซึ่งแต่ละวิธีที่ได้กล่าวมา ล้วนแต่ล่าช้า ไม่สะดวก อีกทั้งเกิดความผิดพลาดได้ง่าย ต่อมาแซมมวล มอร์ส นักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน ได้ประดิษฐ์โทรเลขทำให้การสื่อสารมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้นอีกลำดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่สามารถส่งคำพูดได้ จนกระทั่งเบลล์สามารถประดิษฐ์โทรศัพท์ขึ้นสำเร็จ ทำให้การสื่อสารมีความเจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก ในปัจจุบันโทรศัพท์เป็นเครื่องมือสื่อสารที่มีความสำคัญมากสำหรับการติดต่อสื่อสารเพราะสะดวกรวดเร็ว ประหยัดทั้งค่าใช้จ่าย และเวลา

เบลล์เกิดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ.1847 ที่เมืองเอดินเบิร์ก (Ddinburg) ประเทศสก๊อตแลนด์ (Scotland) บิดาของเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับภาษาที่ใช้สำหรับคนหูพิการ ชื่อว่า อเล็กซานเดอร์ เมลวิน เบลล์ (Alexander Melvin Bell) การที่บิดาของเบลล์ได้ศึกษาเกี่ยวกับคนหูพิการ เพราะปู่ของเบลล์ได้ศึกษาเรื่องนี้มาก่อน อีกทั้งมารดาของเขาก็เป็นคนหูพิการ และเพราะเหตุนี้เองทำให้เบลล์สามารถใช้ภาษาใบ้ อ่านริมฝีปาก และแยกแยะเสียงได้อย่างละเอียด โดยทั้งหมดนี้เบลล์ได้รับการถ่ายทอดมาจากบิดาของเขานั่นเอง เบลล์มีพี่ชายคนหนึ่งซึ่งเสียชีวิตด้วยโรควัณโรค แม้ว่าเบลล์จะโชคดีที่ไม่เสียชีวิต แต่เขาก็ติดโรคมาจากพี่ชายซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ สุขภาพของเบลล์จึงไม่ค่อยดีนัก เบลล์ได้รับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนเอดินเบิร์ก (Edinburg School) จากนั้นเบลล์ได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยลอนดอน (London University) เมื่อจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยลอนดอน เบลล์ได้เดินทางไปประเทศเยอรมนี เพื่อเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยวูซเบิร์ก จนจบการศึกษาระดับปริญญาเอกในปี ค.ศ. 1867



หลังจากจบการศึกษาเบลล์ได้ทำงานเป็นผู้ช่วยของบิดาในการสอนและพัฒนาคนหูพิการ จนกระทั่งในปี ค.ศ.1870 อาการป่วยของเบลล์ได้ทรุดหนักขึ้น เบลล์จึงเดินทางพร้อมกับบิดาไปอยู่ที่เมืองออนตาริโอ (Ontario) ประเทศแคนาดา (Canada) ตามคำแนะนำของแพทย์ว่าควรไปพักในสถานที่ที่มีออนตาริโอ (Ontario) ประเทศแคนนาดา (Canada) ตามคำแนะนำของ แพทย์ว่าควรไปพักในสถานที่ที่มีอากาศดี เมื่อเขารักษาตัวจนอาการทุเลาลง เบลล์ได้เดินทางไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา (United State of America) และเข้าทำงานในตำแหน่งอาจารย์สอนการออกเสียงที่มหาวิทยาลัยบอสตัน (Boston University)

จากความสามารถของเบลล์ เขาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์สอนวิชาสรีรวิทยาว่าด้วยเรื่องเสียง เบลล์ได้พยายามประดิษฐ์เครื่องมือสำหรับคนหูพิการให้มีโอกาสได้ยินเสียงเหมือนเช่นคนปกติ ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นโทรศัพท์

ด้วยความที่เบลล์เป็นคนที่ชอบเล่นเปียโน วันหนึ่งเขาสังเกตว่าเสียงเพลงจากเปียโนเกิดจากการสั่นสะเทือนของเส้นลวดเพราะฉะนั้นเส้นลวดน่าจะเป็นตัวนำเสียงจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้ ในปี ค.ศ.1873 เบลล์ได้ทำงานเป็นครูสอนหนังสือในโรงเรียนคนหูพิการที่เมืองบอสตัน และต่อมาเบลล์ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์สรีรวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านโสตและเสียง และในระหว่างนี้เบลล์ได้ทำการทดลองค้นคว้าเพื่อจะส่งเสียงตามสาย เขาได้ร่วมมือกับโทมัส เอ. วัตสัน (Thomas A. Watson) ผู้ช่วยของเขา ซึ่งเป็นลูกชายเจ้าของร้านขายอุปกรณ์เกี่ยวกับไฟฟ้า ที่เบลล์ได้ซื้ออุปกรณ์เกี่ยวกับการทดลองเป็นประจำ

ทั้งสองประสบความสำเร็จในการประดิษฐ์โทรศัพท์ในปี ค.ศ.1876 โดยการใช้เส้นลวดโยงจากห้องหนึ่งไปยังอีกห้องหนึ่งส่วนปลายทั้งสองข้างจะเป็นหูฟัง ซึ่งภายในประกอบไปด้วยแท่งแม่เหล็กพันด้วยทองแดง ต่อจากนั้นจะเป็นแผ่นเหล็กบาง ๆ เพื่อพูดใส่กระบอกนี้จะเกิดการสั่นสะเทือน ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าในขดลวด แต่ผลการทดลองในครั้งแรกยังไม่ประสบความสำเร็จเพราะไม่สามารถเข้าใจในคำพูดที่ส่งมาทางโทรศัพท์ได้ แต่ก็ประสบความสำเร็จในการส่งเสียง ต่อมาอีก 8 เดือน ทั้งสองได้ปรับปรุงโทรศัพท์ให้ดีขึ้น คำพูดแรกที่ใช้ในการส่งข้อความทางโทรศัพท์ครั้งนี้ คือ "คุณวัตสันมานี้หน่อย ผมต้องการคุณ" การที่เบลล์พูดเช่นนี้ก็เพราะเขาได้ทำกรดแบตเตอรี่หกรดเสื้อ เขาเรียกวัตสันจากห้องหนึ่ง วัตสันได้ยินคำพูดของเบลล์ได้อย่าง
ชัดเจน

ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1876 เบลล์ได้นำโทรศัพท์เข้าประกวดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่เมืองฟิลลาเดลเฟีย (Philadelphia) และได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์ยอดเยี่ยมในครั้งนี้ด้วย ในช่วงแรกไม่มีกรรมการคนใดให้ความสนใจในสิ่งประดิษฐ์ของเบลล์เลย แม้ว่าเบลล์จะพยายามอธิบายถึงประโยชน์ของโทรศัพท์ แต่เบลล์ก็ยังโชคดีอยู่มาก เมื่อมีกรรมการท่านหนึ่งชื่อ โดม ปริโด รู้จักและนับถือเบลล์ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเสียง และครูสอนคนหูพิการ และเมื่อปริโดได้ทดลองเอาหูแนบตรงหูฟัง ซึ่งเมื่อเขาได้ยินเสียงคนพูดออกมาจากหูฟัง เขารู้สึกตื่นเต้นมากพร้อมกับอุทานออกมาด้วยเสียงอันดัง จนกรรมการที่อยู่บริเวณนั้นเดินเข้ามาดู เมื่อทุกคนทดลองเอาหูแนบกับหูฟัง และได้ยินเสียงคนพูดออกมา ต่างก็ตื่นเต้นและประหลาดใจมาก

และในปีเดียวกันเบลล์ได้เปิดบริษัทร่วมกับวัตสันผู้ช่วยของเขา เพื่อดำเนินการติดตั้งสายโทรศัพท์ ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1876 เบลล์ได้ดำเนินการติดตั้งสายโทรศัพท์จากแบรนด์ฟอร์ดถึงออนตาริโอ ประเทศแคนาดา รวมระยะทาง 8 ไมล์ ต่อมาอีก 2 เดือน เบลล์ได้ติดตั้งโทรศัพท์แบบ 2 ทาง ได้เป็นผลสำเร็จ จากนั้นเขาจึงดำเนินการติดตั้งสายโทรศัพท์จากบอสตันไปยังแมสซาชูเซสรวมระยะทาง 2 ไมล์ กิจการของเบลล์ประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี จนกระทั่งปี ค.ศ.1876 บริษัทของเบลล์ได้ถูกฟ้องร้องจากบริษัท เวสเทิร์น ยูเนียน เทเลกราฟ (Western Union Telegraph Company) ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับโทรเลข แต่ในที่สุดศาลได้ตัดสินให้เบลล์ชนะคดี เบลล์ได้นำโทรศัพท์ของเขาไปจดทะเบียนสิทธิบัตร และก่อตั้งบริษัทขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้ชื่อว่า บริษัท อเมริกันเบลล์ เทเลโฟน (American Bell Telephone Company)

จากผลงานชิ้นนี้ทำให้เบลล์มีชื่อเสียง และเงินทองมากขึ้น เบลล์ได้บริจาคเงินส่วนหนึ่งในการก่อตั้งสมาคมเพื่อคนหูพิการ ชื่อว่า American Association to Promote the Teaching of Speech of Deaf นอกจากนี้เขายังให้การสนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับการบิน ต่อมาในปี ค.ศ.1915 เบลล์ได้รับเชิญไปเปิดผลงานในโอกาสที่ดำเนินการติดตั้งสายโทรศัพท์ข้ามทวีปเป็นครั้งแรก โดยเบลล์ได้พูดสนทนากับวัตสันในคำพูดเดิม คือ "คุณวัตสันมานี้หน่อย ผมต้องการคุณ"

เบลล์ย้ายไปอยู่ที่เมืองโนวา สโคเทีย และอยู่ที่นั่นจนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ.1922





ที่มา
http://siweb.dss.go.th/Scientist/Scientist/Alexander%20Graham%20Bell.html

จอร์จ เวสติงเฮาส์ : George Westinghouse


จอร์จ เวสติงเฮาส์ : George Westinghouse

เกิด วันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ.1845 ที่รัฐนิวยอร์ค (New York) ประเทศสหรัฐอเมริกา (United State of America)


เสียชีวิต วันที่ 12 มีนาคม ค.ศ.1914 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา (United State of America)


ผลงาน

- ปรับปรุงระบบการหยุดรถของรถไฟ
- ออกแบบระบบการส่งก๊าซธรรมชาติ

เวสติงเฮาส์เกิดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ.1845 ที่รัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา บิดาของเขาเป็นชาวยุโรปชื่อว่า จอร์จ เวสติงเฮาส์ ซีเนียร์ (George Westinghouse Senior) แต่ได้อพยพมาอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา บิดาของเขาได้เปิดบริษัทผลิตเครื่องมือกสิกรรมขึ้นชื่อว่า จึ.เวสติงเฮาส์ (G. Westinghouse and Company Limit) และด้วยเหตุนี้เวสติงเฮาส์จึงมีความสนใจและศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเครื่องยนต์กลไกมาตั้งแต่เด็ก ต่อมาในปี ค.ศ.1855 บิดาของเขาได้ย้ายไปสร้างโรงงานที่เมืองสเชเนคทาดี (Schenectady) เวสติงเฮาส์จึงเข้าเรียนขั้นต้นที่โรงเรียนในเมืองแห่งนี้


หลังจากนั้นเขาได้เข้าศึกษาที่วิทยาลัยยูเนียม (Union College) แต่เรียนอยู่ได้ไม่นานเขาก็ลาออกจากโรงเรียน เพราะต้องการศึกษาภาคปฏิบัติมากกว่าการนั่งเรียนทฤษฎีอย่างน่าเบื่อหน่ายในชั้นเรียน หลังจากลาออกจากโรงเรียนแล้วเขาได้เข้าทำงานในบริษัทของบิดาในตำแหน่งชางเครื่อง นอกจากนี้เขาได้ใช้เวลาว่างออกแบบเครื่องจักรขึ้นมาเครื่องหนึ่ง เมื่อเขาออกแบบเสร็จเวสติงเฮาส์ได้ร่วมหุ้นกับเพื่อน ๆ ตั้งบริษัทสร้างเครื่องยนต์ยกรถไฟตกราง ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี บริษัทรถไฟต่างก็สั่งซื้อไว้ใช้งาน

หลังจากนั้น จอร์จ สตีเฟนสัน (George Stepenson) สามารถสร้างและพัฒนาหัวจักรรถไฟให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จนกระทั่งกิจการรถไฟมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งสำคัญที่เป็นปัญหาอย่างหนึ่งของการเดินรถไฟก็คือ การหยุดขบวนรถไฟ ซึ่งในขณะนั้นต้องใช้พนักงานห้ามล้อในแต่ละขบวนดึงโซ่ให้ตึง ก่อนที่รถจะถึงสถานีประมาณ 1/2 ไมล์ ซึ่งอาจจะไม่ พร้อมกันเลยทีเดียว ทำให้เกิดการชนกระแทกกันระหว่างขบวนได้ง่าย เป็นอันตรายต่อผู้โดยสารมาก และทำให้พนักงาน ห้ามล้อต้องเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ เนื่องจากที่ห้ามล้อของรถไฟขบวนสุดท้ายอยู่บนหลังคา พนักงานห้ามล้อต้องปีนขึ้นไปบนหลังคา บางครั้งก็ตกลงมา โดยเฉพาะในฤดูหนาวและฤดูฝน การปีนขึ้นหลังคาเป็นไปด้วยความยากลำบาก นอกจากนี้ยังมีอุโมงค์ สะพาน ที่เป็นอุปสรรค และก่อให้เกิดอันตรายได้อีก แม้ว่าจะมีบริษัทรถไฟหลายแห่งพยายามหาวิธีสร้างระบบห้ามล้อให้มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยมากกว่า แต่ก็ยังไม่มีผู้ใดทำสำเร็จ

เวสติงเฮาส์ก็เป็นผู้หนึ่งที่ให้ความสนใจในเรื่องนี้ แต่ในขณะนั้นเวสติงเฮาส์ได้เกิดความขัดแย้งกับหุ้นส่วน เขาจึงแยกออกมาตั้งบริษัทของตนเองที่เมืองพิทซเบิร์ก รัฐเพนน์ซิลวาเนีย ในระหว่างนี้เขาได้ทำการศึกษาระบบห้ามล้ออย่างละเอียด เวสติงเฮาส์ สามารถคิดระบบห้ามล้อด้วยแรงดันอากาศ ซึ่งเขาได้แรงบันดาลใจมาจากการใช้อากาศอัดในการขุดอุโมงค์รถไฟลอดใต้ภูเขาเซนิส ระบบห้ามล้อของเวสติงเฮาส์ประกอบไปด้วยลูกสูบที่ใช้พลังงานไอน้ำ สำหรับอันอากาศแล้วส่งไปตามท่อลงไปนี้ล้อรถไฟทุกล้อในขบวน วิธีนี้ไม่ต้องใช้พนักงานห้ามล้อไปเสี่ยงอันตรายอีกต่อไป เพราะคนขับรถไฟสามารถบังคับรถไฟให้หยุดโดยตรง
ผลงานของเขาชิ้นนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เวสติงเฮาส์ได้ก่อตั้งบริษัทขึ้นเพื่อผลิตระบบห้ามล้อโดยใช้ชื่อว่า "บริษัทห้ามล้อลมเวสติงเฮาส์" บริษัทของเวสติงเฮาส์ได้ขยายสาขาออกไปตามประเทศต่าง ๆ หลายแห่ง ได้แก่ ฝรั่งเศส อังกฤษ และ รัสเซีย


ต่อมาเวสติงเฮาส์ได้พัฒนาและปรับปรุงระบบห้ามล้อของเขา จนสามารถใช้ได้ในรถไฟบรรทุกสินค้าที่มีขบวนยาว ๆ ถึง 50 ตู้ ได้ นอกจากนี้เขายังทำให้การหยุดรถไฟมีความนิ่มนวลมากขึ้น ทำให้มีผู้คนหันมานิยมการโดยสารรถไฟมากขึ้นกว่าแต่ก่อน นอกจานี้เขายังประดิษฐ์อุปกรณ์ควบคุมการเดินรถไฟ หรือเครื่องสับรางรถไฟโดยใช้อากาศอัด และควบคุมด้วยไฟฟ้า

ในขณะนั้นได้มีการขุดพบบ่อก๊าซธรรมชาติบริเวณใกล้ ๆ กับบ้านของเวสติงเฮาส์ เขาจึงทดลองขุดหาก๊าซธรรมชาติภายในบริเวณบ้านของเขาดูบ้าง ปรากฏว่าบริเวณนั้นเป็นบ่อก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่มาก ดังนั้นเวสติงเฮาส์จึงได้ออกแบบวาล์วเปิด-ปิดบ่อก๊าซธรรมชาติ และออกแบบวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติไปยังโรงงานภายในเมืองพิทซเบิร์ก เขาได้ตั้งบริษัทชื่อว่า "บริษัทฟิลลาเดเฟีย" เพื่อจัดจำหน่ายก๊าซ แม้ว่าในตอนแรกทางผู้บริหารรัฐไม่ยินยอม เพราะเกรงว่าจะเกิดอันตราย แต่ในที่สุดก็ต้องยอมเพราะประโยชน์ของก๊าซธรรมชาติ ทำให้เมืองพิทซเบิร์กกลายเป็นศูนย์กลางในการถลุงแร่เหล็กที่ใหญ่ที่สุด นอกจากนี้เขายังได้ปรับปรุงเครื่องวัดปริมาณก๊าซเครื่องเจาะบ่อก๊าซ และปรับปรุงระบบส่งก๊าซ

ในขณะนั้นโทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) ได้ก่อตั้งบริษัทผลิตกระแสไฟฟ้าขึ้นมา และจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับประชาชนใช้ได้ทั่วไปแล้วก็ตาม แต่ก็ยังประสบปัญหาค่าไฟฟ้าแพงอยู่ เนื่องจากต้องใช้สายไฟขนาดใหญ่ และต้องสร้างโรงงาผลิตกระแสไฟฟ้าขึ้นทุก ๆ 2,000-8,000 ไมล์ เพราะแรงดันไฟฟ้าต่ำ เวสติงเฮาส์จึงได้ตั้งบริษัทขึ้นเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และจัดจำหน่ายกระแสไฟฟ้าชื่อว่า "บริษัทไฟฟ้าเวสติงเฮาส์" โดยเขาได้ดัดแปลงระบบการส่งไฟฟ้าจากกระแสตรงมาเป็นกระแสสลับ ซึ่งทำให้ไม่ต้องใช้สายไฟขนาดใหญ่ และสร้างโรงงานไฟฟ้าหลายแห่ง ทำให้ราคาค่าไฟถูกลง ในปี ค.ศ.1886 ได้มีการส่งไฟฟ้ากระแสสลับไปยังเมืองบัฟฟาโลเป็นครั้งแรก ต่อมาระบบนี้ก็เป็นที่นิยมกันมาก ทำให้เกิดความขัดแย้งกับริษัทผลิตไฟฟ้าของเอดิสัน แต่ในที่สุดเรื่องก็ต้องยุติลงเมื่อเวสติงเฮาส์นำโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากน้ำตกไนแองการาไปแสดงในงานสินค้าโลกที่เมืองชิคาโก และแสดงให้เห็นว่าไฟฟ้ากระแสสลับมีประสิทธิภาพในการส่งมากกว่ากระแสตรง

แม้ว่าเขาจะประสบความสำเร็จทั้งชื่อเสียงและเงินทอง เขาก็ยังค้นคว้าและปรับปรุงงานด้านผลิตกระแสไฟฟ้าอยู่ตลอดรวมถึงประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ออกมาอีกหลายชนิด ในปี ค.ศ.1913 เวสติงเฮาส์ได้ล้มป่วยและอาการของเขาทรุดหนักลงเรื่อย ๆ จนไม่สามารถเดินได้ และเสียชีวิตในวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ.1914 ศพของเขาถูกฝังอยู่ที่สุสานแห่งชาติอาร์ลิงตัน รัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งเป็นสุลานที่ฝังศพบุคคลสำคัญของประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ในปี ค.ศ.1930 พนักงานของบริษัทเวสติงเฮาส์ ได้ร่วมใจกันบริจาคเงินเพื่อสร้างอนุสาวรีย์ของเวสติงเฮาส์ขึ้นที่สวนสาธารณะเชเฮนเลย์ (Schenley Park) และในปี ค.ศ.1935 ทางมหาวิทยาลัยนิวยอร์คได้หล่อรูปครึ่งตัวของเวสติงเฮาส์ตั้งไว้ที่ Hall of Fame for Great America ร่วมกับบุคคลสำคัญท่านอื่นของประเทศ



ที่มา
http://siweb.dss.go.th/Scientist/Scientist/George%20Westinghouse.html

ปีทาโกรัส : Pythagoras


ปีทาโกรัส : Pythagoras

เกิด 582 ก่อนคริสต์ศักราช ที่เมืองซามอส (Samos) ประเทศกรีซ (Greece)

เสียชีวิต 507 ก่อนคริสต์ศักราช ที่เมืองเมตาปอนตัม (Metapontum)

ผลงาน
- สร้างสูตรคูณหรือตารางปีทาโกเรียน (Pythagorean Table)
- ทฤษฎีบทเรขาคณิตที่ว่า "ในรูปสามเหลี่ยมมุมฉากใด ๆ กำลังสองของความยาวของด้านตรงข้ามมุมฉาก
เท่ากับผลบวกของกำลังสองของความยาวของด้านประกอบมุมฉาก"
- สมบัติของแสง และการมองวัตถุ
- สมบัติของเสียง

ปีทาโกรัส เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะของนักคณิตศาสตร์ผู้คิดค้นสูตรคูณ หรือตารางปีทาโกเรียน (Pythagorean Table) และทฤษฎีบทในเรขาคณิตที่ว่า "ในรูปสามเหลี่ยมมุมฉากใด ๆ กำลังสองของความยาวของด้านตรงข้ามมุมฉาก เท่ากับผลบวกของกำลังสองของความยาวของด้านประกอบมุมฉาก" ซึ่งทฤษฎีทั้งสองนี้เป็นที่ยอมรับ และใช้กันมาจนปัจจุบันนี้

ปีทาโกรัสเกิดเมื่อประมาณ 582 ก่อนคริสต์ศักราช ที่เมืองซามอส (Samos) ประเทศกรีซ ปีทาโกรัสเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์ ทฤษฎีของเขาได้นำมาพิสูจน์และพบว่าถูกต้องน่าเชื่อถือและใช้กันมาจนถึงปัจจุบันนี้ เนื่องจากปีทาโกรัสเป็นนักปราชญ์ที่เกิดก่อนคริสต์ศักราชถึง 500 ปี ดังนั้นประวัติชีวิตส่วนตัวของเขาจึงไม่มีการบันทึกไว้มากนัก เท่าที่มีการบันทึกไว้พบว่า เขาเป็นคนฉลาดหลักแหลม มีความสามารถ และเป็นที่นับถือของชาวเมืองมากทีเดียว

เมื่อปีทาโกรัสอายุได้ 16 เขาได้เดินทางไปศึกษาวิชากับเทลีส (Thales) นักปราชญ์เอกคนแรกของโลก แม้ว่าเทลีสจะเป็นผู้ที่มีความรู้กว้างขวางในหลายสาขาวิชา และได้ถ่ายทอดความรู้เหล่านั้นให้กับปีทาโกรัสจนหมดสิ้น แต่ปีทาโกรัสก็ยังต้องการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอีก ดังนั้นในปี 529 ก่อนคริสต์ศักราช ปีทาโกรัสจึงออกเดินทางไปตามเมืองต่าง ๆ เช่น อาระเบีย เปอร์เซีย อินเดีย และอียิปต์ตามลำดับ เขาได้กลับจากการ
เดินทางกลับเกาะซามอส และพบว่าเกาะซามอสได้อยู่ในความปกครองของโพลีเครตีส (Polycrates) และอีกส่วนหนึ่งได้ตกเป็นของเปอร์เซีย เมื่อปีทาโกรัสเห็นเช่นนั้น จึงเดินทางออกจากเกาะซามอสไปอยู่ที่เมืองโครตอน (Croton) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอิตาลี

และที่เมืองโครตอนนี้เองปีทาโกรัสได้ตั้งโรงเรียนขึ้น โรงเรียนของปีทาโกรัสจะสอนเน้นหนักไปในเรื่องของปรัชญาคณิตศาสตร์ และดาราศาสตร์ เกี่ยวกับคณิตศาสตร์ปีทาโกรัสได้กล่าวว่า "คณิตศาสตร์เป็นพื้นฐานของทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าไม่มีคณิตศาสตร์แล้ว ทุกอย่างก็จะไม่เกิดขึ้น"

ข้อเท็จจริงข้อนี้ถือว่าถูกต้องที่สุด เพราะไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้าง การคำนวณหาระยะทางหรือแม้กระทั่งการประดิษฐ์เครื่องใช้ การค้นพบเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ของเขา ได้แก่ การพบเลขคี่ โดยเลข 5 เป็นเลขคี่ตัวแรกของโลกและเลขยกกำลังสอง นอกจากนี้ปีทาโกรัสยังแบ่งคณิตศาสตร์ออกเป็น 2 สาขา คือ

1. เลขคณิต ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเลข
2. เรขาคณิต เป็นเรื่องเกี่ยวกับรูปทรงต่าง ๆ เช่น สี่เหลี่ยม วงกลม สามเหลี่ยม และหกเหลี่ยม เป็นต้น

ซึ่งวิชานี้มีประโยชน์อย่างมากในทางสถาปัตยกรรม และทฤษฎีบทเรขาคณิตที่มีชื่อเสียงที่สุดของปีทาโกรัสก็คือ "ในรูปสามเหลี่ยมมุมฉากใด ๆ กำลังสองของความยาวของด้านตรงข้ามมุมฉาก เท่ากับผลบวกของกำลังสองของความยาวของด้านประกอบมุมฉาก"

โรงเรียนของปีทาโกรัสมีผู้ให้ความสนใจส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนจำนวนมาก ทั้งพระมหากษัตริย์ ขุนนางราชสำนักและพ่อค้าคหบดีที่มั่งคั่ง ผู้ที่จบการศึกษาจากโรงเรียนแห่งนี้ได้มีการตั้งชุมนุม โดยใช้ชื่อว่า "ชุมนุมปีทาโกเรียน (Pythagorean)" ซึ่งผู้ที่จะสมัครเข้าชุมนุมปีทาโอกเรียนจะต้องมีความรู้ด้านคณิตศาสตร์เป็นอย่างดี อีกทั้งจะไม่เผยแพร่ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ให้กับผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของชุมนุมชุมนุมปีทาโกเรียนมีบทบาทอย่างมากในเรื่องของวิทยาศาสตร์ในยุคนั้น อีกทั้งเป็นชุมนุมแรกที่มีความเชื่อว่า โลกกลมและไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาลอีกทั้งต้องโคจรอีกด้วย

ปีทาโกรัสเป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกที่ตั้งทฤษฎีเกี่ยวกับโลกกลม และหมุนรอบตัวเองรวมถึงดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ ก็หมุนรอบตัวเองเช่นกัน ซึ่งทฤษฎีนี้ในเวลาต่อมานักดาราศาสตร์อย่างโคเปอร์นิคัส และกาลิเลโอ ได้นำมาพิสูจน์แล้วพบว่าทฤษฎีนี้ถูกต้อง

ไม่เพียงแต่งานด้านคณิตศาสตร์เท่านั้นที่ปิทาโกรัสให้ความสนใจ เขายังมีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องแสงด้วย การค้นคว้าของปีทาโกรัสทำให้เขารู้ความจริงว่า มนุษย์ไม่สามารถมองเห็นแสงสว่างได้ เพราะแสงสว่างเป็นเพียงอนุภาคเล็ก ๆ เท่านั้น แต่แสงสว่างเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เรามองเห็นวัตถุ เนื่องจากแสงตกกระทบไปที่วัตถุ ทำให้วัตถุนั้นสะท้อนแสงมากระทบกับตาเราดังเช่นที่เราสามารถมองเห็นดวงจันทร์มีแสง ก็เพราะแสงจากดวสงอาทิตย์ที่ส่องไปยังดวงจันทร์และสะท้อนกลับมายังโลกทั้งที่ดวงจันทร์ไม่มีแสง แต่เราก็สามารถมองเห็นดวงจันทร์ได้

นอกจากเรื่องแสงแล้ว ปิทาโกรัสได้ค้นพบเกี่ยวกับเรื่องเสียงด้วย การค้นพบของเขาสรุปได้ว่าเสียงเกิดจากการสั่นสะเทือนของวัตถุ การพบความจริงข้อนี้เนื่องจากวันหนึ่งเขาได้เดินผ่านร้านตีเหล็กแห่งหนึ่ง ปีทาโกรัสได้ยินเสียงที่เกิดจากช่างตีเหล็กใช้ค้อนตีแผ่นเหล็กแผ่นเหล็กนั้นสั่นสะเทือน ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เกิดเสียง

ปีทาโกรัสเสียชีวิตเมื่อประมาณ 507 ก่อนคริสต์ศักราช ที่เมืองเมตาปอนตัม (Metapontum)





ที่มา
http://siweb.dss.go.th/Scientist/Scientist/Pythagorus.html

วันอังคารที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ปิแอร์ คูรี่ : Pierre Curie


ปิแอร์ คูรี่ : Pierre Curie

เกิด วันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ.1859 ที่กรุงปารีส (paris) ประเทศฝรั่งเศส (France)


เสียชีวิต วันที่ 19 เมษายน ค.ศ.1906 ที่กรุงปารีส (Paris) ประเทศฝรั่งเศส (France)



ผลงาน

- ค้นพบคลื่นเสียง
- ค้นพบธาตุเรเดียม

เมื่อพูดถึงปิแอร์ คูรี่ แล้วอาจโด่งดังไม่เท่ากับมารี คูรี่ ภรรยาของเขา แต่ปิแอร์ก็เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการค้นพบธาตุเรเดียมด้วยเพียงแต่เขาเสียชีวิตไปก่อน การค้นพบของเขาทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลร่วมกับมารี อีกทั้งเขายังเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญมากในการค้นพบประโยชน์ของธาตุเรเดียม

ปิแอร์เกิดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ.1859 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส บิดาของเขาเป็นนายแพทย์ หลังจากจบการศึกษาขั้นต้นแล้ว เขาได้เข้าศึกษาต่อวิชาเคมี ที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ (Sorbonn University) หลังจากที่เขาจบการศึกษาแล้วได้เข้าฝึกงานกับคณะผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ของทางมหาวิทยาลัย ซึ่งเขาก็สามารถสร้างผลงานเป็นที่น่าพอใจ และในปี ค.ศ.1878 ปิแอร์ก็ได้รับรางวัลไซแอนซิเอท (Scienciate Award) ทางฟิสิกส์ และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการห้องทดลองประจำมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ และในระหว่างนี้เขาได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษาในโรงเรียน โรงงานอุตสาหกรรม และงานทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ

ต่อมาในปี ค.ศ.1880 ปิแอร์ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับความต่างศักย์ของไฟฟ้าระหว่างผลึกหินควอทซ์ กับเกลือโรเชลลี ภายใต้ความกดดันสูง จากผลการทดลองเขาพอว่า ความกดดันมีผลกระทบต่อความต่างศักย์ ซึ่งปิแอร์เรียกสั้น ๆ ว่า "ปิแอร์โซ อิเล็กทริคซิตี้ (Pierre so Electricity)" และเขาได้พบเพิ่มเติมอีกว่า ถ้าเพิ่มค่าความต่างศักย์ของไฟฟ้าให้มากขึ้น จะทำให้พื้นผิวของผลึกเกิดการสั่นสะเทือน ทำให้เกิดคลื่นเสียงที่มีความถี่สูงเกินกว่าที่คนปกติจะได้ยิน แต่ก็มีประโยชน์ เพราะต่อมานักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังได้นำหลักการเดียวกันนี้มาประดิษฐ์อุปกรณ์เกี่ยวกับเสียงหลายชนิดได้แก่ ไมโครโฟน และเครื่องบันทึกเสียง เป็นต้น

ในปี ค.ศ.1895 ปิแอร์ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับความร้อนที่เกิดขึ้นกับแม่เหล็ก จากผลการทดลองปิแอร์พบว่าที่อุณหภูมิระดับหนึ่ง แม่เหล็กไม่สามารถแสดงสมบัติออกมาได้ โดยปิแอร์เรียกอุณหภูมิระดับนี้ว่า "คูรีพอยท์ (Cury Point)" และจากการทดลองครั้งนี้ เขาได้สร้างเครื่องมือขึ้นมาชิ้นหนึ่งชื่อว่า อิเล็กโทรมิเตอร์ (Electrometer) สำหรับใช้ในการทดลองครั้งนี้ด้วย จากผลงานชิ้นนี้เขาได้รับมอบปริญญาเอกจากมหาวิmยาลัยซอร์บอนน์ และได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการประจำห้องทดลองเคมี และฟิสิกส์ ประจำมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ ซึ่งทำให้เขามีโอกาสได้พบกับมารียา สโคลดอฟสกา (Marja Sklodowskaป และแต่งงานกัน
ในปี ค.ศ.1895

ในขณะที่ปิแอร์มีชื่อเสียง และประสบความสำเร็จทั้งด้านการงานและครอบครัวเหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น ในขณะที่เขากำลังเดินไปยังสำนักพิมพ์ เพื่อตรวจต้นฉบับ ได้มีรถบรรทุกคันหนึ่งวิ่งเข้ามาชนเขาล้มลง และทับศีรษะ ทำให้ปิแอร์เสียชีวิตทันที ในวันที่ 19 เมษายน ค.ศ.1906 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส



ที่มา
http://siweb.dss.go.th/Scientist/Scientist/Pierre%20Curie.html

คาโรลุส ลินเนียส : Carolus Linnaeus


คาโรลุส ลินเนียส : Carolus Linnaeus

เกิด วันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1707 ที่ประเทศสวีเดน (Sweden)


เสียชีวิต วันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1778 ที่ประเทศสวีเดน (Sweden)


ผลงาน

- จำแนกสัตว์และพืชออกเป็นหมวดหมู่
- ตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ให้กับพืช และสัตว์

ลินเนียสเป็นนักพฤกษศาสตร์ชาวสวีเดน ที่จำแนกพืชและสัตว์ออกเป็นหมวดหมู่ได้อย่างชัดเจนที่สุด ซึ่งทำให้วิทยาศาสตร์ ชีวภาพมีความชัดเจน และสะดวกสำหรับการศึกษาต่อไป

ลินเนียสเกิดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1707 ที่ประเทศสวีเดน บิดาของเขาเป็นพระสอนศาสนา ลินเนียสเป็นคนรักต้นไม้ เขามักใช้เวลาส่วนใหญ่ในการศึกษาธรรมชาติ อีกทั้งลินเนียสยังได้รับการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับพืชชนิดต่าง ๆ มาจากบิดาอีกด้วย ทำให้เขายังมีความสนใจเกี่ยวกับพืชมากขึ้น ลินเนียสได้รับการศึกษาขั้นแรกจากครูที่บิดาของเขาจ้างให้มาสอนที่บ้าน แต่เรียนอยู่ได้เพียง 2 ปี เท่านั้น ก็ต้องเลิกไป


หลังจากนั้นบิดาจึงส่งลินเนียสไปเรียนในตัวเมืองซึ่งห่างออกไปจากบ้านเขาประมาณ 25 ไมล์ ต่อจากนั้นลินเนียสได้เข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยลุนด์ ในคณะแพทย์ เขาเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยลุนด์ได้เพียง 1 ปี ก็ย้ายไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์ดวิก ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ และได้รับปริญญาแพทยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งนี้เอง ในระหว่างที่ลินเนียสศึกษาวิชาแพทย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์ดวิก เขาได้ใช้เวลาว่างส่วนหนึ่งค้นคว้าเกี่ยวกับพืชและสัตว์

ในปี ค.ศ. 1730 ลินเนียสได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยของศาสตราจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ ซึ่งศาสตราจารย์ท่านนี้ได้มอบทุนให้กับลินเนียสเพื่อเดินทางออกสำรวจดินแดน แลป แลนด์ (Lap Land) ลินเนียสได้ออกเดินทางในปี ค.ศ. 1732 เขาใช้เวลาในการสำรวจประมาณ 1 ปี โดยเดินทางสำรวจตลอดคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย (Scandinavia) รวมระยะทาง 4,600 ไมล์ ซึ่งลินเนียสได้พบกับพันธุ์พืชใหม่ ๆ กว่า 100 ชนิด ต่อมาในปี ค.ศ. 1737 ลินเนียสได้เขียนสิ่งที่เขาพบเห็นจากการ สำรวจครั้งนี้ลงในหนังสือชื่อว่า Flora Laponida ไปตามสถานที่ต่าง ๆ อีก

ต่อมาในปี ค.ศ. 1735 ลินเนียสได้ตีพิมพ์หนังสือออกมาเล่มหนึ่ง ชื่อว่า Systema Nationra ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการจำแนก ลักษณะและแบ่งชั้นทั้งของพืชและสัตว์ ออกเป็นตระกูลต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ ซึ่งลินเนียสได้ทำพันธุ์พืชและสัตว์ทุกชนิดรวมถึงที่สูญพันธุ์ไปแล้ว หรือสัตว์ในยุคดึกดำบรรพ์ด้วย โดยเขาใช้วิธีการที่เรียกว่า "Linnaean Classification"

ลินเนียสได้ออกเดินทางสำรวจไปตามสถานที่ต่าง ๆ อีกทั้งเขียนหนังสือเกี่ยวกับธรรมชาติอีกหลายเล่ม ได้แก่ ในปี ค.ศ. 1736 ลินเนียสได้พิมพ์หนังสือชื่อว่า Biologica Botanica ในปีต่อมาเขาได้เขียนหนังสืออีกเล่มหนึ่งชื่อว่า General Plantarum หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการวิเคราะห์พืช ตามลักษณะของพันธุ์พืช และในปีต่อมาเขาได้ตีพิมพ์หนังสืออีกเล่มหนึ่งชื่อว่า Classes Plantarum ในปี ค.ศ. 1738 ลินเนียสได้เดินทางกลับบ้านที่ประเทศสวีเดน และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอนวิชาแพทย์ และประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ประจำมหาวิทยาลัยอัปซาลา (Upsala University) อีกทั้งยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของกษัตริย์แห่งสวีเดนอีกด้วย ต่อมาในปี ค.ศ. 1742 ลินเนียสได้รับเชิญให้ดำรงตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ และรัฐบาลสวีเดนได้ส่งลินเนียสไปสำรวจ ทิโอแลนด์(Tio Land) และสก็อตแลนด์ (Scotland) หลังจากเดินทางกลับ ลินเนียสได้เขียนหนังสือขึ้นเล่มหนึ่งชื่อว่า Olandscatoch Cortland Skatesa ซึ่งตีพิมพ์ออกเผยแพร่ในปี ค.ศ. 1745 พร้อมกับหนังสืออีกเล่มหนึ่งชื่อว่า Flora Suecica

ในปี ค.ศ. 1746 ลินเนียสได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสวนพฤกษศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยอัปซาลา ในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ เขาได้นำพันธุ์พืชชนิดใหม่ ๆ มาปลูกไว้ในสวนจำนวนมากกว่า 1,200 ชนิด พร้อมกับเขียนอธิบายถึงพันธุ์พืชภายในสวนพฤกษศาสตร์อย่างละเอียด ลงในหนังสือชื่อว่า Hortus Upsaliensis

ต่อมาในปี ค.ศ. 1753 ลินเนียสได้ตีพิมพ์หนังสือขึ้นอีกเล่มหนึ่งชื่อว่า Species Plantarum ตั้งชื่อพืชและสัตว์เหล่านี้เป็นภาษาละติน ซึ่งรู้จักกันในปัจจุบันว่าชื่อทางวิทยาศาสตร์ แบ่งออกเป็น 2 ชื่อ ชื่อแรกบอกตระกูล (Genus) ส่วนชื่อหลังบอกชนิด (Species) วิธีการจัดหมวดหมู่ของลินเนียสทำให้นักชีววิทยาสามารถจดจำชื่อชนิดของสัตว์ และของพืชได้ง่ายขึ้น อีกทั้งสะดวกต่อการค้นค้าต่อไป วิธีการนี้ต่อมาเป็นที่นิยมแพร่หลายในทวีปยุโรปอย่างรวดเร็ว และนิยมต่อมาจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งเขายังเป็นผู้ที่กำหนดสัญลักษณ์แทนเพศ คือ หมายถึง เพศผู้ และ หมายถึง เพศเมีย

ลินเนียสเดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อเก็บสะสมพืช และสัตว์พันธุ์ต่าง ๆ ต่อมาเมื่อลินเนียสเสียชีวิตในวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1778 สิ่งที่เขาสะสมไว้คือ พันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ รวมทั้งหนังสือ ได้ถูกขายให้กับนักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษผู้หนึ่ง ซึ่งนักพฤกษศาสตร์ท่านนี้ได้นำไปทำการศึกษาเกี่ยวกับพืชและสัตว์ โดยตั้งชื่อสถาบันแห่งนี้ว่า English Biological Association หรือ Linnaeus Society สถาบันแห่งนี้ตั้งอยู่ในประเทศอังกฤษ



ที่มา
http://siweb.dss.go.th/Scientist/Scientist/Carolus%20Linnaeus.html

กาลิเลโอ กาลิเลอี : Galileo Galilei


กาลิเลโอ กาลิเลอี : Galileo Galilei

เกิด วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1564 ที่เมืองปิซา (Pisa) ประเทศอิตาลี (Italy)


เสียชีวิต วันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1642 ที่เมืองฟลอเรนซ์ (Florence) ประเทศอิตาลี (Italy)


ผลงาน

- ค.ศ. 1584 ตั้งกฎเพนดูลัม (Pendulum) หรือกฎการแกว่างของนาฬิกาลูกตุ้ม
- ค.ศ. 1585 ตีพิมพ์หนังสือชื่อว่า Kydrostatic Balance และ Centre of Gravity
- ค.ศ. 1591 พิสูจน์ทฤษฎีของอาริสโตเติลที่ว่าวัตถุที่มีน้ำหนักเบาว่าผิด อันที่จริงวัตถุจะตกถึงพื้นพร้อมกันเสมอ
- พัฒนากล้องโทรทรรศน์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถส่องดูดาวบนจักรวาลได้
- พบลักษณะพื้นผิวของดวงจันทร์
- พบว่าดาวมีหลายประเภท ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกัน ได้แก่ ดาวเคราะห์ และดาวฤกษ์
- พบทางช้างเผือก (Milky Way)
- พบบริวารของดาวพฤหัสบดี ว่ามีมากถึง 4 ดวง
- พบวงแหวนของดาวเสาร์ ซึ่งปากฎว่ามีสีถึง 3 สี
- พบว่าพื้นผิวของดาวศุกร์มีลักษณะคล้ายกับดวงจันทร์
- พบจุดดับบนดวงอาทิตย์ (Sun Spot)
- พบดาวหาง 3 ดวง

กาลิเลโอเป็นนักวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และดาราศาสตร์ ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของโลก โดยเฉพาะผลงานด้านดาราศาสตร์เป็นผลงานที่มีชื่อเสียงมากที่สุด การทดลองและการค้นพบของเขามีประโยชน์มากมายหลายด้าน โดยเฉพาะทางด้านดาราศาสตร์ เช่น พบจุดดับบนดวงอาทิตย์ พบบริวารของดาวพฤหัสบดี เป็นต้น การพบลักษณะการแกว่งของวัตถุซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นเครื่องจับเวลา และนาฬิกาลูกตุ้ม อีกทั้งการที่เขาสามารถพัฒนาสร้างกล้องโทรทรรศน์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้วิชาการด้านดาราศาสตร์มีความเจริญก้าวหน้า อีกทั้งเขายังเป็นบุคคลที่มีความกล้าหาญอย่างมากในการเสนอแนวความคิด ต่าง ๆ เกี่ยวกับทฤษฎีดั้งเดิมที่ผิดของอาริสโตเติล ซึ่งนำความเดือดร้อนมาให้กับเขาเอง ทั้งการถูกต้องขังและถูก กล่าวหาว่าเป็นพวกนอกรีตต่อต้านคำสั่งสอนทางศาสนา ซึ่งเกือบจะต้องเสียชีวิตถ้าเขาไม่ยอมรับความผิดอันนี้


แม้ว่าเขาจะต้อง ยอมรับผิด แต่เขาก็ไม่หยุดทำการค้นคว้าและการทดลองทางวิทยาศาสตร์ต่อไป กาลิเลโอมักมีแนวความคิดที่แตกต่างไปจากคนอื่นเสมอ เขาจะไม่ยอมเชื่อทฤษฎีต่าง ๆ ที่ได้รับการเผยแพร่ออกมาทั้งในอดีตและในยุคนั้น กาลิเลโอต้องทำการทดลอง เสียก่อนที่จะเชื่อถือในทฤษฎีข้อนั้น และด้วยนิสัยเช่นนี้ทำให้เขาได้รับฉายาว่า The Wrangler ฉายาของกาลิเลโออันนี้ในปัจจุบัน ได้ใช้หมายถึง "ผู้เชี่ยวชาญ" ในมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด (Oxford University) และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์(Cambridge University)

กาลิเลโอเกิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1564 ที่เมืองปิซา ประเทศอิตาลี บิดาของเขาเป็นขุนนาง นักคณิตศาสตร์ นักดนตรีและนักเขียน ที่มีชื่อเสียงอยู่พอสมควร บิดาของเขามีชื่อว่า วินเซนซิโอ กาลิเลอี (Vincenzio Galilei) กาลิเลโอเข้ารับการศึกษาขั้นต้นที่เมืองปิซานั่นเอง กาลิเลโอเป็นนักเรียนที่เฉลียวฉลาด และมีความสามารถหลายด้าน ทั้งวาดภาพ เล่นดนตรี และคณิตศาสตร์ บิดาของกาลิเลโอต้องการให้เขาศึกษาต่อในวิชาแพทย์ ด้วยเป็นอาชีพที่ได้รับการยกย่อง กาลิเลโอได้ปฏิบัติตามที่บิดาต้องการ คือ เข้าเรียนในวิชาการแพทย์ ณ มหาวิทยาลัยปิซา (Pisa University)


แต่กาลิเลโอมีความสนใจในวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์มากกว่า จนกระทั่งครั้งหนึ่งกาลิเลโอมีโอกาสได้เข้าฟังการบรรยายวิชาคณิตศาสตร์ ทำให้เขาเลิกเรียนวิชาแพทย์ และไปเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์แทน

การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ครั้งแรกของกาลิเลโอเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1584 เมื่อเขากำลังนั่งฟังสวดมนต์อยู่ในโบสถ์แห่งหนึ่ง เขาสังเกตเห็นโคมแขวนบนเพดานโบสถ์แกว่างไปแกว่างมา เขาจึงเกิดความสงสัยว่าการแกว่งไปมาของโคมในแต่ละรอบใช้เวลาเท่ากันหรือไม่


ดังนั้นเขาจึงทดลองจับเวลาการแกว่งไปมาของโคม โดยเทียบกับชีพจรของตัวเอง เนื่องจากเขาเคยเรียนวิชาแพทย์ ทำให้เขารู้ว่าจังหวะการเต้นของชีพจรของคนในแต่ละครั้งนั้นใช้เวลาเท่ากัน ผลปรากฎว่าไม่ว่าโคมจะแกว่งในลักษณะใดก็แล้วแต่ ระยะเวลาในการแกว่งไปและกลับครบ 1 รอบ จะเท่ากันเสมอ เมื่อเขากลับบ้านได้ทำการทดลองแบบเดียวกันนี้อีกหลายครั้ง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าทฤษฎีที่เขาจะตั้งขึ้นถูกต้องที่สุด ซึ่งผลการทดลองก็เหมือนกันทุกครั้ง กาลิเลโอได้ตั้งชื่อทฤษฎีนี้ว่า กฎเพนดูลัม (Pendulum) หรือ กฎการแกว่งของนาฬิกาลูกตุ้ม กาลิเลโอได้นำหลักการจากการทดลองครั้งนี้มาสร้างเครื่องจับเวลา ซึ่งต่อมาในปี ค.ศ. 1656 คริสเตียน ฮฮยเกนส์ (Christian Huygens) ได้นำทฤษฎีนี้มาสร้างนาฬิกาลูกตุ้ม

ต่อมาในปี ค.ศ. 1585 กาลิเลโอได้ลาออกจากมหาวิทยาลัย เพราะไม่มีเงินพอสำหรับการเรียนต่อ เขาได้เดินทางกลับบ้านเกิดที่เมืองฟลอเรนซ์ (Florence) และได้เข้าศึกษาต่อที่สถาบันฟลอเรนทีน (Florentine Academy) ในระหว่างนี้กาลิเลโอได้เขียนหนังสือขึ้นมา 2 เล่ม เล่มแรกชื่อว่า Hydrostatic Balance เป็นเรื่องเกี่ยวกับตาชั่ง ส่วนอีกเล่มหนึ่งชื่อว่า Centre of Gravity เป็นเรื่องเกี่ยวกับจุดศูนย์ถ่วงของของแข็ง เล่มที่ 2 นี้เขาเขียนเนื่องจากมาร์เชส กวิดูบาลโด เดล มอนเต แห่งเปซาโร (Marchese Guidubald Del Monte of Pasaro) ซึ่งเป็นผู้ที่มีพระคุณต่อเขา ขอร้องให้เขียนขึ้น จ


ากหนังสือทั้ง 2 เล่มนี้เอง ทำให้เขามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากขึ้น และในปี ค.ศ. 1588 กาลิเลโอได้รับการติดต่อให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์สอนวิชาคณิตศาสตร์ในมหาวิทยาลัยปิซา ในปี ค.ศ. 1591 ระหว่างที่กาลิเลโอเข้าทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัยปิซา เขาได้นำทฤษฎีของอาริสโตเติล มาทดสอบเพื่อหาข้อเท็จจริง ทฤษฎีที่ว่านี้ คือ ทฤษฎีที่มีน้ำหนักมากกว่าจะตกถึงพื้นก่อนวัตถุที่มีน้ำหนักเบา

แต่เมื่อกาลิเลโอทดลองแล้วปรากฏว่าวัตถุที่มีน้ำหนักมากและวัตถุที่มีน้ำหนักเบา จะตกถึงพื้นพร้อมกัน แต่การที่อาริสโตเติลสรุปทฤษฎีเช่นนี้เป็นผลเนื่องมาจากอากาศได้ช่วยพยุงวัตถุที่มีน้ำหนักเบาได้มากกว่าวัตถุที่มีน้ำหนักมากกว่า แต่ถ้าทำการทดลองในสุญญากาศจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าวัตถุตกถึงพื้นพร้อมกัน กาลิเลโอได้นำความจริงข้อนี้ไปชี้แจงกับทางมหาวิทยาลัย ผลปรากฏว่า มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย


เขาจึงทำการทดลองอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้ทุกคนเห็นอย่างชัดเจน โดยนำก้อนตะกั่ว 2 ก้อน ก้อนหนึ่งหนัก 10 ปอนด์ อีกก้อนหนึ่งหนัก 20 ปอนด์ ทิ้งลงมาจากหอเอนปิซาพร้อมกัน ผลปรากฏว่าก้อนตะกั่วทั้ง 2 ก้อนตกถึงพื้นพร้อมกัน จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าทฤษฎีของอาริสโตเติลผิด และของกาลิเลโอถูกต้อง แต่ถึงอย่างนั้นกลุ่มคนที่ยึดถือทฤษฎีของ อาริสโตเติลอย่างเหนียวแน่นก็ยังไม่เชื่อกาลิเลโออยู่ดี อีกทั้งหาทางกลั่นแกล้งจนกาลิเลโอ ต้องลาออกจากมหาวิทยาลัยปิซา

หลังจากที่กาลิเลโอลาออกจากมหาวิทยาลัยปิซาแล้ว เขาได้เข้าทำงานในตำแหน่งศาสตราจารย์สอนวิชาคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย ปาดัว (Padua University) ในระหว่างนี้กาลิเลโอได้ทำการทดลองเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์หลายเรื่อง เริ่มตั้งแต่ทำการทดลองเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตกของวัตถุ ซึ่งเขาพบว่าในระหว่างที่วัตถุตกลงสู่พื้นนั้น ความเร็วของวัตถุจะเพิ่มขึ้นทุกวินาที การทดลองนี้ทางการทหารได้นำไปใช้ในการคำนวณหาเป้าหมายของลูกปืนใหญ่ หลักเกณฑ์ทั้งหมดที่เกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของวัตถุนี้ทำให้ เกิดวิชาที่เรียกว่า "พลศาสตร์ (Dynamic)" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิชากลศาสตร์

กาลิเลโอมีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องดาราศาสตร์อย่างมาก แต่ไม่สามารถศึกษาได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากขาดอุปกรณ์ในการศึกษาค้นคว้า ต่อมาในปี ค.ศ. 1608 มีข่าวว่าช่างทำแว่นตาชาวฮอลแลนด์ สามารถประดิษฐ์กล้องส่องทางไกลขนาดเล็กได้เป็นผลสำเร็จ


ต่อมาในปี ค.ศ. 1610 กาลิเลโอจึงนำหลักเกณฑ์เดียวดันนี้มาสร้างเป็นกล้องโทรทรรศน์ขึ้นเป็นครั้งแรกแต่กล้องโทรทรรศน์ที่เขาประดิษฐ์ขึ้นในครั้งแรกมีกำลังขยายเพียง 3 เท่า เท่านั้น ต่อมาเขาได้ปรับปรุงกล้องโทรทรรศน์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีกำลังขยายมากถึง 32 เท่า ซึ่งกล้องอันนี้สามารถส่องดูดวงดาวต่าง ๆ ในจักรวาลได้อย่างชัดเจน


สิ่งที่กาลิเลโอได้พบเห็นจากกล้องโทรทรรศน์ เขาได้บันทึกลงในหนังสือเล่มหนึ่ง และตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาในปีเดียวกัน โดยใช้ชื่อหนังสือว่า Sederieus Nuncius หมายถึง ผู้นำสารจากดวงดาว ภายในหนังสือเรื่องนี้มีรายละเอียดดังนี้
- ผิวของดวงจันทร์ ซึ่งปรากฏว่าไม่เรียบเหมือนอย่างที่มองเห็น แต่มีหลุม หุบเหว และภูเขาใหญ่น้อยจำนวนมาก
- พบว่าดาวมีหลายประเภท ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกัน ได้แก่ ดาวเคราะห์ คือ ดาวที่ไม่มีแสงสว่างในตัวเอง เช่น โลก ดาวพุธและดวงจันทร์ เป็นต้น และดาวฤกษ์ คือ ดาวที่มีแสงสว่างในตัวเอง เช่น ดวงอาทิตย์ เป็นต้น
- พบทางช้างเผือก (Milky Way) ซึ่งมีลักษณะเป็นทางขาว ๆ ดูคล้ายหมอกบาง ๆ พาดผ่านไปบนท้องฟ้า ทางช้างเผือกเกิดจากแสงของกลุ่มดาวฤกษ์ซึ่งมีความหนาแน่นมาก
- เนบิวลา (Nebula) คือ กลุ่มก๊าซ และวัตถุต่าง ๆ ซึ่งมีการรวมตัวกันอย่างหนาแน่น
- พบวงแหวนของดาวเสาร์ แต่กาลิเลโอไม่ได้เรียกว่าวงแหวน ต่อมาในปี ค.ศ. 1655 ฮอยเกนส์ได้พิสูจน์ว่าเป็นวงแหวน และเรียกว่า "วงแหวนของดาวเสาร์ (Saturn's Ring)"
- พบบริวารของดาวพฤหัสบดีว่ามีมากถึง 4 ดวง กาลิเลโอได้ตั้งชื่อดาวบริวารของดาวพฤหัสบดีว่า ซีเดรา เมดิซี (Sidera Medicea) เพื่อเป็นเกียรติแก่ ดยุคแห่งทัสคานี คอซิโมที่ 2 (Duke of Tuscany Cosimo II) ผู้ซึ่งเป็นทั้งลูกศิษย์และเจ้านายของเขาในเวลาต่อมา และจากการค้นพบครั้งนี้ กาลิเลโอได้ตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ และภายหลังจากการศึกษา กาลิเลโอได้ตั้งทฤษฎีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของสุริยจักรวาล และโลกต้องโคจรรอบดวงอาทิตย์
- พบว่าพื้นผิวของดาวศุกร์มีลักษณะคล้ายกับดวงจันทร์
- พบจุดดับบนดวงอาทิตย์ (Sun Spot)

จากการค้นพบครั้งนี้กาลิเลโอได้เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งชื่อว่า Letter on the Solar Spot ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับจุดดับบนดวงอาทิตย์ และข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการโคจรของดวงดาวในระบบสุริยจักรวาล ว่าอันที่จริงแล้วดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของสุริยจักรวาล อีกทั้งโลกและดาวดวงอื่น ๆ ต้องโคจรรอบดวงอาทิตย์การค้นพบทางดาราศาสตร์ของกาลิเลโอครั้งนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีนั้นก็คือทำให้วิชาการด้านดาราศาสตร์มีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้นไปอีกก้าวหนึ่ง อีกทั้งชื่อเสียงของกาลิเลโอก็เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากขึ้น


เขาได้รับเชิญให้ดำรงตำแหน่งนักปราชญ์ประจำราชสำนักของท่านแกรนด์ดยุคแห่งทัสคานี (Grand Duke of Tuscany) ส่วนข้อเสียเป็นสิ่งที่ส่งผลร้ายอย่างมากต่อกาลิเลโอ คือ ทฤษฎีของกาลิเลโอขัดแย้งกับหลักศาสนา และทฤษฎีของอาริสโตเติลที่มีผู้เชื่อถือมากในขณะนั้น แม้ว่ากาลิเลโอจะนำกล้องโทรทรรศน์มาตั้งให้ทุกคนได้ทดลองส่องดู ซึ่งทุกคนก็เห็นเช่นเดียวกับที่กาลิเลโอบอกไว้ แต่ถึงอย่างนั้นกลุ่มคนที่มีความเชื่อถือในทฤษฎีของอาริสโตเติลก็ยังไม่เห็นด้วยกับกาลิเลโอ และกล่าวหากาลิเลโอว่าต่อต้านศาสนา ทำให้กาลิเลโอได้รับคำสั่งจากศาสนจักรให้หยุดแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้งต่อหลักศาสนา


หลังจากนั้นกาลิเลโอได้เดินทางไปยังเมืองฟลอเรนซ์ และอยู่ที่นี่เป็นเวลานานถึง 7 ปี และในระหว่างนี้ เขาได้ทำการค้นคว้าเกี่ยวกับดาราศาสตร์ และในปี ค.ศ. 1618 กาลิเลโอได้พบดาวหางถึง 3 ดวง และได้พบ
ความจริง เกี่ยวกับดาวหางที่ว่า ดาวหางเป็นดาวฤกษ์ชนิดหนึ่งเช่นกัน แสงที่เกิดนี้เกิดจากแสงของดวงอาทิตย์เช่นเดียวกับรุ้งกินน้ำ กาลิเลโอได้ตีพิมพ์ผลงานชิ้นนี้ลงในหนังสือชื่อว่า Saggiatore แต่ทฤษฎีข้อนี้ของกาลิเลโอ ผิดพลาด

ใน ปี ค.ศ. 1632 กาลิเลโอได้เขียนหนังสือขึ้นมาอีกเล่มหนึ่งชื่อว่า Dialogo Del Due Massimi Sistemi Del Mondo แต่เพื่อหลีกเลี่ยงข้อความที่ต่อต้านกับหลักศาสนา กาลิเลโอจึงเขียนขึ้นในเชิงบทละคร ซึ่งมีตัวเอก 2 ตัว สนทนา เกี่ยวกับทฤษฎีของปโตเลมี และโคเปอร์นิคัส แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนทฤษฎีของโคเปอร์นิคัสอยู่ดี ทำให้เขาถูกต่อต้านอย่างหนักอีกทั้งหนังสือเล่มนี้ก็ถูกห้ามมิให้จำหน่ายในประเทศอิตาลีอีกด้วย ส่วนตัวเขาถูกสอบสวนและต้องโทษจำคุกเพื่อให้สำนึกบาปที่ คัดค้านคำสอนในคริสต์ศาสนา ต่อมาเขาถูกบังคับให้กล่าวคำขอโทษ เพื่อแลกกับอิสระและชีวิตของเขา แม้ว่าเขาจะถูกปล่อยตัวออกจากคุก แต่เขาก็ยังต้องอยู่ในความควบคุมของอัสคานิโอ ปิคโคโรมินิ (Ascanio Piccoromini) บาทหลวงผู้หนึ่งซึ่งในระหว่างนี้เขาได้ทำการทดลองเกี่ยวกับฟิสิกส์ และตีพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า Disorsi

เมื่อการค้นคว้าทางดาราศาสตร์ของเขามีอุปสรรค เขาจึงหันมาทำการค้นคว้าเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์แทนกาลิเลโอได้ประดิษฐ์เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ขึ้นหลายชิ้น ได้แก่ นาฬิกาน้ำ ไม้บรรทัด และเทอร์มอมิเตอร์ (Thermometer) เป็นต้น และในปี ค.ศ. 1636 กาลิเลโอได้เขียนหนังสือขึ้นเล่มหนึ่งชื่อว่า Dialoghi Della Nuove Scienze แต่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1638 โดยเอสเซฟเวียร์ (Elzavirs) ที่เมืองเลย์เดน (Leyden) หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวิชากลศาสตร์


หลังจากหนังสือเล่มนี้เผยแพร่ออกไปกลับได้รับความนิยมมากกว่าหนังสือดาราศาสตร์ของเขา อีกทั้งไม่ถูกต่อต้านจากศาสนาจักรอีกด้วย

ในช่วงสุดท้ายของชีวิต กาลิเลโอได้ค้นคว้า และเฝ้ามองดูการเคลื่อนไหวของดวงดาวบนท้องฟ้า รวมถึงดวงจันทร์ด้วยกาลิเลโอได้เฝ้าดูการเคลื่อนไหวของดวงจันทร์จนพบว่า ดวงจันทร์ใช้เวลา 15 วัน ในการโคจรรอบโลก ซึ่งถือว่าเป็นการค้นพบครั้งสุดท้ายของเขา เพราะหลังจากนั้นประมาณ 2 - 3 เดือน เขาก็ตาบอดและสุขภาพอ่อนแอลงเรื่อย ๆ เนื่องจากความชรา และเสีย ชีวิตในวันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1642 ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี






ที่มา
http://siweb.dss.go.th/Scientist/Scientist/Galileo%20Galilei.html