วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เลโอนาร์โด ดา วินซี : Leonardo da Vinci

เลโอนาร์โด ดา วินซี : Leonardo da Vinci

เกิด วันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1452 ที่แคว้นทัสคานี (Tuscany) เมืองวินชี (Vinci) ประเทศอิตาลี (Italy)


เสียชีวิต วันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1519 ที่เมืองอัมบัวส์ (Amboise) ประเทศฝรั่งเศส (France)


ผลงาน

- ศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างของมนุษย์
- สร้างประตูน้ำแบบบากมุม 45 องศา (Mitre Lock Gate)
- ออกแบบเครื่องมือหลายชนิด เช่น เฮลิคอปเตอร์ เรืองท้องแบน เรือดำน้ำ เครื่องแต่งกายมนุษย์กบและปืนกล เป็นต้น
- ประดิษฐ์เครื่องดนตรี 21 ชนิด ได้แก่ พิณ และ วิโอล่า
- ประดิษฐ์ไฮโกรมิเตอร์

เลโอนาร์โดไม่ได้เป็นเพียงจิตรกรเอกของโลกเท่านั้น เขายังมีความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์หลายแขนง ได้แก่ ดาราศาสตร์คณิตศาสตร์ และชีววิทยา และการออกแบบประดิษฐกรรมใหม่หลายอย่าง ผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์ของเขาส่วนใหญ่มักเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่แปลกใหม่ และเป็นพื้นฐานของสิ่งประดิษฐ์ในปัจจุบันนี้ด้วย เช่น เฮลิคอปเตอร์ เรือดำน้ำ เป็นต้น ผลงานที่สำคัญที่สุดของเขาน่าจะเป็นการบุกเบิกเรื่องการบินเป็นคนแรก ถึงแม้ว่าเขาจะไม่สามารถขึ้นบินได้สำเร็จก็ตาม แต่ก็มีส่วนพัฒนางานด้านนี้
ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ในยุคเดียวกันกับเขาไม่มีผู้ใดเลยที่ให้ความสนใจ

เลโอนาร์โด เกิดเมื่อวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1452 ที่แคว้นทัสคานี เมืองวินชี ประเทศอิตาลี บิดาของเขาเป็นนักกฎหมายชื่อว่า เปียโร เลโอนาร์โด (Piero Leonardo) เลโอนาร์โดมีความสนใจเรื่องวาดภาพมาตั้งแต่เด็ก เขามักวาดภาพเหมือนสัตว์ต่าง ๆ ที่เขาได้เก็บสะสมไว้ เช่น จิ้งจก ตุ๊กแก งู หนอน ค้างคาว มอด และตั๊กแตน เป็นต้น เขามีพรสวรรค์ในการวาดภาพ และฉายแววให้เห็นมาตั้งแต่เด็ก



ต่อมาในปี ค.ศ. 1466 ครอบครัวของเขาต้องย้ายไปอยู่ที่เมืองฟลอเรนซ์ (Florence) เมื่อเลโอนาร์โดอายุได้ 18 ปี บิดาของเขาได้ส่งเขาไปทำงานในห้องปฏิบัติงานศิลปะของศิลปินผู้มีชื่อเสียง อันเดรีย เวอร์รอกคิโอ ซึ่งทำให้เลโอนาร์โดมีความชำนาญในเรื่องการวาดรูป อีกทั้งความสามารถในเรื่องการหล่อสำริดเพิ่มขึ้นอีกด้วย เลโอนาร์โดได้ฝึกฝนศิลปะอยู่ที่นี่เป็นเวลา 6 ปี และในปี ค.ศ. 1472 เขาได้เข้าเป็นสมาชิกของสโมสรช่างแห่งเซนต์ลุก ซึ่งเป็นสมาคมของพวกจิตรกร นอกจากงานศิลปะแล้ว เลโอนาร์โดยังให้ความสนใจในเรื่องคณิตศาสตร์และภูมิศาสตร์อีกด้วย

ด้วยความสามารถทางด้านศิลปะของเลโอนาร์โด ทำให้เขาวาดภาพเหมือนของโครงสร้างต่าง ๆ ของมนุษย์ สัตว์ และพืชได้อย่างเหมือนจริง ซึ่งเป็นประโยชน์ในการศึกษามาก เลโอนาร์โดได้ศึกษาโครงสร้างของมนุษย์จากศพมากกว่า 30 ศพ เขาได้ผ่าศพเหล่านี้เพื่อศึกษาระบบการทำงานของร่างกาย กล้ามเนื้อ รวมถึงการไหลเวียนของโลหิตด้วย จากการศึกษาอย่างละเอียด เขาสามารถอธิบายถึงวิธีการทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้เขาเข้าใจถึงโครงสร้างต่าง ๆ ของมนุษย์ได้อย่างละเอียด อีกทั้งเขาได้วาดภาพ
ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไว้อย่างละเอียด งานของเลโอนาร์โดชิ้นนี้ถือได้ว่าเป็นรากฐานของวิชากายวิภาคศาสตร์ และสรีรวิทยาเลยก็ว่าได้ ในส่วนของเรื่องพืช เขาได้ทำการทดลองปลูกพืชน้ำและพบว่าวงแหวนที่เป็นชั้น ๆ ในลำต้นพืช เป็นตัวบ่งบอกถึงอายุของพืช หรือที่เรียกว่า วงปี

ในปี ค.ศ. 1482 เลโอนาร์โดได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งถึงลูโดวิโก อิล โมโร (Ludovico il Moro) ดยุคแห่งมิลาน (Duke of Milan) โดยความช่วยเหลือของลอเรนโซ เดอ เมดิซี เลโอนาร์โด ภายในจดหมายฉบับนี้มีรายละเอียดเกี่ยวกับความสามารถ และอาวุธสงครามที่เขาออกแบบขึ้น ได้แก่
1. ร่มชูชีพ โดยใช้ผ้าผืนสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 13 หลา ใช้เชือกผูกมุมทั้ง 4 ไว้ ส่วนทางปลายเชือกอีกข้างหนึ่งใช้จับเวลากระโดดลงมาจากที่สูง
2. เครื่องร่อน เลโอนาร์โด สังเกตจากลักษณะของนก แล้วนำมาปรับปรุงเป็นเครื่องร่อน
3. เฮลิคอปเตอร์ โดยใช้ใบพัดขนาดใหญ่หมุนด้วยความเร็วสูง ซึ่งเขาไม่ได้สร้างเพียงแต่ออกแบบไว้เท่านั้น 4. เรือกล ซึ่งใช้ล้อหมุนพาย แทนคนพาย ซึ่งมีความเร็วถึง 50 ไมล์ต่อชั่วโมง
5. หน้าไม้ยักษ์ อยู่บนรถเข็น 6 ล้อ
6. ปืนกล มีลำกล้องเรียงเป็น 3 แถว ๆ ละ 11 กระบอก รวมทั้งหมด 33 กระบอก โดยใช้ยิงทีละแถว เมื่อแถวแรกหมดก็นำแถวที่ 2 และ 3 ออกมาใช้ การที่ต้องทำเช่นนี้เพราะปืนในสมัยนั้นบรรจุลูกได้เพียงกระบอกละ 1 นัด เท่านั้น
7. เรือขุด ใช้หลักการเหมือนกับระหัดเกลียวของอาร์คิมีดีส
8. รถถัง มีลักษณะเป็นรถหุ้มด้วยทรงกรวยคว่ำ ด้านล่างติดปืนไว้โดยรอบ
9. เฮลิคอปเตอร์ ซึ่งเป็นต้นแบบของเฮลิคอปเตอร์ในปัจจุบัน แต่ในสมัยนั้นยังไม่มีเครื่องยนต์ ดังนั้นเลโอนาร์โดจึงออกแบบให้ใช้แรงคนในการหมุนใบพัดขนาดใหญ่
10. ปั้นจั่น เป็นเครื่องผ่อนแรงใช้สำหรับยกของหนัก
11. เรือดำน้ำ เขาได้ศึกษาเรื่องนี้มาจากปลา
12. รถถัง มีลักษณะคล้ายกับหัวลูกปืน และรอบ ๆ รถมีปืนกลซ่อนอยู่โดยรอบด้วย

อาวุธที่เลโอนาร์โดออกแบบถือว่าเป็นอาวุธที่มีความทันสมัยมาก อีกทั้งเป็นต้นแบบของอาวุธในปัจจุบันด้วย เช่น เฮลิคอปเตอร์ และรถถัง เป็นต้น แม้ว่าอาวุธบางชิ้นที่เลโอนาร์โดออกแบบจะไม่ได้สร้างขึ้นในสมัยนั้น แต่ก็ถือได้ว่าผลงานด้านวิทยาศาสตร์ ของเขาเป็นงานที่สร้างสรรค์อย่างมาก

นอกจากนี้ยังมีแผนการในการทำสงครามอีกด้วย เมื่อดยุคแห่งมิลานได้อ่านจดหมายฉบับนี้จึงเชิญเลโอนาร์โดมายังเมืองมิลานโดยจัดการต้อนรับเป็นอย่างดี แต่มิใช่ในฐานะของจิตรกรหรือนักวิทยาศาสตร์ กลับเป็นเพียงนักดนตรี และผู้จัดงานนันทนาการทั้งหลาย ซึ่งเขาได้ริเริ่มการแสดงละครสวมหน้ากาก และละครโรงขึ้น และเลโอนาร์โดต้องการให้ท่านดยุคยอมรับเขาในฐานะอื่นมากกว่า ซึ่งเขาได้ใช้ความพยายามและความสามารถที่มีอยู่เสนอผลงานต่าง ๆ อยู่เสมอ ต่อมาเมืองมิลานได้เกิดโรคระบาดขึ้นและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากถึง 1 ใน 3 ของประชาชนในเมือง ดังนั้นเลโอนาร์โดจึงได้เสนอให้ท่านดยุคปรับปรุงระบบผังเมืองใหม่เพื่อป้องกันโรคระบาดแพร่กระจาย เขาได้กระจายบ้านเรือนของประชาชนออกไป ขุดคลองเชื่อมต่อกันเพื่อประโยชน์ในการสุขาภิบาลอีกทั้งยังออกแบบถนน 2 ชั้น ซึ่งท่านดยุคเห็นชอบในข้อเสนอนี้ และสั่งให้เลโอนาร์โดเป็นผู้รับผิดชอบในการออกแบบผังเมืองใหม่นี้ด้วย

ต่อมาท่านดยุคมีโครงการจะสร้างอนุสาวรีย์ของบรรพบุรุษของท่าน คือ ดยุคฟรานเชสโก สฟอร์ซา (Francesco Sforza) ในลักษณะขี่ม้าขนาดสูงถึง 29 ฟุต และต้องใช้ทองสำริดหนักถึง 90 ตัน ท่านดยุคได้มอบงานนี้ให้เลโอนาร์โดเป็นผู้รับผิดชอบ แต่เนื่องจากในปี ค.ศ. 1499 อิตาลีได้ทำสงครามกับฝรั่งเศส และทองสำริดที่จะใช้ในการหล่ออนุสาวรีย์ต้องนำไปใช้หล่อปืนใหญ่แทน ดังนั้นเลโอนาร์โดจึงนำรูปปั้นดินเหนียวของท่านดยุคฟรานเชสโก ไปประดิษฐานไว้บริเวณหน้าประตูพระราชวังแทน แต่เมื่อทหาร
ฝรั่งเศสได้ยกกองทัพเข้ามาภายในเมืองมิลานได้ทำลายอนุสาวรีย์นี้จนหมดสิ้น

หลังจากเมืองมิลานได้ถูกฝรั่งเศสยึดครองไว้ เลโอนาร์โดได้เดินทางหลบหนีไปอยู่ที่เมืองเวนิช (Vanice) และเข้าทำงานในโครงการป้องกันภัยทางทะเลให้กับชาวเมืองเวนิช ซึ่งในขณะนั้นกำลังถูกโจมตีจากพวกเติร์ก หรือชาวตุรกี และในการทำงานครั้งนี้เขาได้ออกแบบชุดมนุษย์กบโดยมีเครื่องครอบศีรษะ และรองเท้าที่ช่วยในการว่ายน้ำให้เร็วขึ้น หรือที่เรียกว่า ตีนกบ ซึ่งใช้กันมาจนทุกวันนี้

นอกจากนี้เขายังทำการค้นคว้าและทดลองเกี่ยวกับการบิน โดยเลโอนาร์โดได้ศึกษาเรื่องนี้จากนกและได้สร้างปีกนกขนาดใหญ่ขึ้น โดยเลียนแบบจากปีกที่ทำหน้าที่ในการบินของนก โครงของปีกทำด้วยไม้และบุด้วยผ้าบาง ๆ และขนสัตว์ เมื่อสร้างสำเร็จเขาได้นำไปทดลองขึ้นบินแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเมื่อขึ้นบินโดยลูกศิษย์ของเขา โซโรอาสเต เดอ เปเรโตโล ปรากฏว่าไม่สามารถบินได้ และตกลง ทำให้เปเรโตโลได้รับบาดเจ็บขาหัก เลโอนาร์โดอยู่ที่เมืองเวนิชได้ไม่นานก็เดินทางไปเมืองฟลอเรนซ์ ในระหว่างนี้เขาได้รับ ความลำบากในเรื่องเงินทองอย่างมาก ซึ่งทำให้เขาต้องรับจ้างวาดภาพเพื่อหาเงินเลี้ยงชีพไปวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น

เขาได้สร้างผลงานทางด้านศิลปะอันทรงคุณค่าของเขาทั้ง 2 ชิ้น ได้แก่ ภาพอาหารมื้อสุดท้าย (The Last Supper) ในระหว่างปี ค.ศ. 1495 - 1497 บนฝาผนังยาว 30 ฟุต สูง 14 ฟุต ของโบสถ์ซานตา มาเรีย เดลลา เกรซี (Santa Maria Della Grazie) ด้วยสีฝุ่นผสมน้ำมันลงไปขณะที่ปูนยังเปียกอยู่ ซึ่งเขาเพิ่งทดลองเขียนเป็นครั้งแรก ภาพนี้เป็นภาพเกี่ยวกับพระเยซูพร้อมกับสาวก 12 คน ขณะรับประทานอาหารมื้อสุดท้ายอยู่ ต่อมากษัตริย์ฝรั่งเศสได้ทรงทอดพระเนตรภาพนี้และรู้สึกประทับใจมากและมีคำสั่งให้นำภาพนี้กลับฝรั่งเศสด้วย ปัจจุบันภาพนี้แสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ (Louvre) กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส อีกภาพหนึ่งเขาวาดในปี ค.ศ. 1500 ชื่อว่า โมนา ลิซ่า (Mona Lisa) หรือลาโจคอนดา ซึ่งเป็นชื่อของหญิงสาวคนหนึ่งที่เป็นแบบในการวาดรูป ภาพนี้เป็นภาพเขียนสีน้ำมัน เป็นภาพของผู้หญิงคนหนึ่งที่มีรอยยิ้มอันน่าประทับใจ

นอกจากงานทั้งหมดที่ได้กล่าวไปแล้ว เลโอนาร์โดได้สร้างผลงานทางวิทยาศาสตร์ขึ้นอีกหลายชิ้น ได้แก่ ผลงานทางด้านดาราศาสตร์ เขาถือได้ว่าเป็นนักดาราศาสตร์คนหนึ่งที่เชื่อถือในทฤษฎีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาลซึ่งคนในยุคนั้น ยังเชื่อถือในทฤษฎีของอาริสโตเติลที่ว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล

เลโอนาร์โดได้ประดิษฐ์เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ขึ้นมาชิ้นหนึ่ง เรียกว่า ไฮโกรมิเตอร์ (Hygrometer) ใช้สำหรับวัดความชื้นในอากาศ และตาชั่งอีกทั้งยังเป็นผู้ค้นพบ พลังงานไอน้ำ เขาได้ทำการทดลองโดยการนำภาชนะใส่น้ำแล้วผิดสนิทและนำไปต้ม ผลปรากฏว่าภาชนะนั้นระเบิดออกมาด้วยแรงดันของไอน้ำ

ในปี ค.ศ. 1506 เลโอนาร์โดได้รับเชิญจากพระราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 12 (King Louis XII) แห่งฝรั่งเศส ให้ดำรงตำแหน่งวิศวกร และจิตรกรประจำราชสำนัก ในช่วงบั้นปลายชีวิตของเลโอนาร์โดได้พำนักในคฤหาสน์แห่งหนึ่งในเมืองอัมบัวส์ของกษัตริย์ฝรั่งเศสองค์ใหม่ พระเจ้าฟรังซัวส์ที่ 1 (King France I) ในปี ค.ศ. 1518 เขาได้ล้มป่วยด้วยโรคอัมพาตที่แขนขวาและเสียชีวิตในวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1519 ที่เมืองอัมบัวส์ ประเทศฝรั่งเศส

ที่มา
http://siweb.dss.go.th/Scientist/Scientist/Leonardo%20da%20Vinci.html