วันเสาร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2553

กูกลิเอลโม มาร์โคนี : Guglielmo Marconi


กูกลิเอลโม มาร์โคนี : Guglielmo Marconi


เกิด วันที่ 25 เมษายน ค.ศ.1874 ที่เมืองโบโลญญา (Bologna) ประเทศอิตาลี (Italy)

เสียชีวิต วันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ.1937 ที่กรุงโรม (Rome) ประเทศอิตาลี (Italy)

ผลงาน
- ประดิษฐ์เครื่องรับส่งวิทยุโทรเลข
- ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ในปี ค.ศ.1907 จากผลงานการค้นคว้าวิทยุ

วิทยุโทรเลขเป็นเครื่องมือสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดชนิดหนึ่ง อีกทั้งเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลา เนื่องจากวิทยุโทรเลขไม่จำเป็นต้องใช้สายโทรเลขในการเชื่อมโยงเครื่องโทรเลขจากเครื่องหนึ่งถึงเครื่องหนึ่ง และที่มีประโยชน์อย่างมากก็คือใช้ในกิจการเดินเรือ ที่สามารถส่งข่าวสารต่าง ๆ จากเรือมาสู่บนฝั่งได้ วิทยุสื่อสารชิ้นนี้ยังมีประโยชน์และบทบาทอย่างมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 จากการที่กองทัพได้ไปใช้ในการส่งข่าวสารจากที่ที่ห่างไกลกันมากได้อย่างรวดเร็ว และสะดวกสบาย

มาร์โคนีเกิดเมื่อวันที่ 25 เมษายน ค.ศ.1874 ที่เมืองโบโลญญา ประเทศอิตาลี ในตระกูลที่ร่ำรวย บิดาของเขาชื่อว่า กีเซป มาร์โคนี ส่วนมารดาของเขาชื่อว่า แอนนี เจมส์สัน มาร์โคนีมีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องไฟฟ้ามาตั้งแต่เด็ก ซึ่งบิดาของเขาก็ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี และได้จ้างครูมาสอนวิชาไฟฟ้าให้กับมาร์โคนีอีกด้วย เขาได้รับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนประจำเมืองฟลอเรนซ์ (Florence) ต่อจากนั้นเขาได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเทคนิคเล็กฮอร์น นอกจากการศึกษาภายในโรงเรียนแล้ว เขายังได้ศึกษาตำราไฟฟ้าของนักฟิสิกส์ชาวสก๊อต เจมส์ คลาร์ก แมกเวล (James Clark Maxwell) ผลงานของแมกเวลมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้มาร์โคนีมีความสนใจในวิชาฟิสิกส์ อีกทั้งเขาได้ขอร้องบิดาให้จ้างครูมาสอนวิชาฟิสิกส์
ให้กับเขาที่บ้านอีกด้วย ซึ่งบิดาก็ได้ปฏิบัติตามคำขอร้องของเขา นอกจากนี้เขายังมีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องอีเทอร์ที่เป็นตัวกลางให้คลื่นแห่ง เหล็กไฟฟ้าเดินทมงจากตำแหน่งหนึ่งไปยังอีกตำแหน่งหนึ่งได้


ในปี ค.ศ.1894 มาร์โคนีได้มีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวที่เทือกเขาแอลป์ในประเทศอิตาลีนั่นเอง เขาได้มีโอกาสได้อ่านวารสารทางวิทยาศาสตร์ฉบับหนึ่ง หนังสือเล่มนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับการค้นพบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ในปี ค.ศ.1886 ของไฮน์ริช รูดอล์ฟ เฮิรตซ์ (Hirich Rudolph Hertz) นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน ประกอบกับการมีความรู้เกี่ยวกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นอย่างดี จากอาจารย์สอนพิเศษของเขาหลายท่าน ทำให้มาร์โคนีเกิดความคิดว่าคลื่อนแม่เหล็กไฟฟ้าน่าจะมีประโยชน์ในการส่งสัญญาณโทรเลข โดยไม่ต้องอาศัยสายโทรเลขในการส่งสัญญาณ

ต่อมาในปี ค.ศ.1895 เมื่อมาร์โคนีเดินทางกลับจากการท่องเที่ยว เขาได้เริ่มต้นการค้นคว้าทดลองเรื่องนี้อย่างจริงจังโดยสิ่งประดิษฐ์ทางไฟฟ้าชิ้นแรกของมาร์โคนี คือ กริ่งไฟฟ้าไร้สาย โดยเขาได้ติดตั้งกริ่งไว้ที่ชั้นล่าง ส่วนสวิตช์ไว้ชั้นบนของบ้าน เมื่อกดสวิตช์ที่อยู่นั้นบนกริ่งที่อยู่ชั้นล่างกลับดังขึ้น ทั้งที่ไม่มีสายไฟเชื่อมต่อระหว่างสวิตช์และกริ่ง จากนั้นมาร์โคนีได้นำกระดิ่งออกไปไว้กลางครามและกดสวิตช์ ภายในบ้านกริ่งก็ดังขึ้นอีก สิ่งประดิษฐ์ของเขาชิ้นนี้อาศัยหลักการของเอดูร์ บรองลี นักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศส ซึ่งประดิษฐ์เครื่องรับสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า โดยเครื่องรับสัญญาณประกอบไปด้วยหลอดแก้ว ซึ่งภายในบรรจุผงโลหะสำหรับเป็นตัวนำไฟฟ้า ส่วนเครื่องส่งมาร์โคนีอาศัยหลักการจากเครื่องส่งของเฮิรตซ์ บิดาของมาร์โคนี ชอบสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้มาก และได้มอบเงินให้กับมาร์โคนีถึง 250 ปอนด์

จากความสำเร็จในการสร้างกริ่งไฟฟ้าไร้สาย มาร์โคนีจึงทำการประดิษฐ์เครื่องส่งวิทยุโทรเลขขึ้นในปี ค.ศ.1897 และทำการทดลองส่งวิทยุโทรเลขไร้สาย จากความช่วยเหลือของพี่ชายของเขา แอลฟอนโซ มาร์โคนี ให้พี่ชายคอยรับฟังสัญญาณอยู่ที่บ้าน จากนั้นมาร์โคนีได้เดินห่างจากบ้านไปประมาณ 1 ไมล์ แล้วส่งสัญญาณโทรเลขเข้ามา เขาได้ตกลงกับพี่ชายว่าถ้าได้รับสัญญาณให้ยกธงขึ้น เมื่อทดสอบระยะทาง 1 ไมล์ เป็นผลสำเร็จ มาร์โคนีได้ปรับปรุงวิทยุโทรเลขให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำการทดสอบอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งสามารถส่งได้ระยะไกลกว่าเดิม และได้ทดสอบส่งสัญญาณผ่านภูเขาปรากฏว่าสัญญาณจากวิทยุสามารถส่งผ่านภูเขามาได้

ในเวลาต่อมามาร์โคนีได้นำผลงานของเขาชิ้นนี้เสนอต่อรัฐบาลอิตาลี แต่ทางรัฐบาลไม่สนใจและเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นในปี ค.ศ.1896 เขาและมารดาจึงได้เดินทางไปยังประเทศอังกฤษ เพื่อนำผลงานชิ้นนี้เสนอต่อรัฐบาลอังกฤษ เมื่อมาถึงประเทศอังกฤษมาร์โคนีต้องได้รับความลำบากเมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ตรวจค้นกระเป๋าของเขาอย่างละเอียด อีกทั้งเมื่อเจ้าหน้าที่พบวิทยุโทรเลข เกิดเข้าใจผิดว่าเป็นอาวุธสงคราม ทำให้วิทยุโทรเลขได้รับความเสียหาย มาร์โคนีได้นำผลงานชิ้นนี้เสนอต่อซอร์ วิลเลี่ยม พรีซ (Sir William Preze) นายช่างเอกแห่งกรมไปรษณีย์โทรเลขแห่งอังกฤษ และท่านผู้นี้เองที่ให้การสนับสนุน
มาร์โคนีในเรื่องของห้องทดลอง เป็นผู้ช่วยสำปรับปรุงวิทยุโทรเลข อีกทั้งได้มอบโอกาสให้กับเขาในการสาธิตวิทยุโทรเลขให้กับรัฐบาลอังกฤษได้ชม โดยการทดลองส่งสัญญาณจากโต๊ะหนึ่ง เพื่อให้กริ่งอีกโต๊ะหนึ่งดัง เมื่อทุกคนได้ยินกริ่งดังต่างก็ตื่นเต้น ในผลงานชิ้นนี้ และรับผลงานของมาร์ดคนีไว้ในการสนับสนุน ต่อมามาร์โคนีได้ทำการส่งสัญญาณวิทยุโทรเลขจากอาคารไปรษณีย์โทรเลข ไปยังอาคารของธนาคารออมสิน ซึ่งห่างประมาณ 2 ไมล์ ผลการทดลองประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แม้ว่าการส่งสัญญาณวิทยุโทรเลขในช่วงแรกของมาร์โคนีส่งได้เพียงรหัสมอร์สเท่านั้น แต่ก็ถือได้ว่าวิทยุโทรเลขเป็นเครื่องมือสื่อสาร
ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด จากนั้นเขาได้พัฒนาวิทยุโทรเลขของเขาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในปี ค.ศ.1897 วิทยุโทรเลขของมาร์โคนีสามารถส่งสัญญาณผ่านช่องแคบอังกฤษได้เป็นผลสำเร็จ จากผลงานชิ้นนี้ทำให้เขามีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากขึ้น อีกทั้งรัฐบาลประเทศอิตารลีที่เคยปฏิเสธเขามาก่อนก็หันมาให้ความสนใจและเห็นคุณค่าในความสามารถของมาร์โคนี อีกทั้งทางรัฐบาลอิตาลีได้เชิญให้มาร์โคนีกลับไปยังประเทศอิตาลี มาร์โคนีปฏิบัติตามคำเชิญของทางรัฐบาล เมื่อเขาเดินทางถึงประเทศอิตาลีเขาได้แสดงการส่งสัญญาณจากบนฝั่งไปยังเรือที่อยู่ห่างจากชายฝั่งถึง 12 ไมล์ หลังจากนั้นมาร์โคนีได้เดินทางกลับไปยังประเทศอังกฤษอีกครั้งหนึ่งเพื่อเปิดบริษัทวิทยุโทรเลข โดยใช้ชื่อว่า
บริษัทวิทยุโทรเลขมาร์โคนี (Marcony's Wireless Telegraph Company Limit) กิจการส่งวิทยุโทรเลขของเขามีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้นตามลำดับ เพราะทั้งกิจการเดินเรือทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นเรือรบ เรือเดินสมุทรและหอประภาคารซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการเดินเรือ ต่างก็ติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณวิทยุโทรเลขทั้งสิ้น เนื่องจากเป็นเครื่องมือสื่อสารที่สะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ในปี ค.ศ.1901 มาร์โคนีได้เดินทางไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อตั้งสถานีรับส่งสัญญาณโทรเลข จากนั้นในวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ.1901 ได้ทำการส่งสัญญาณจากสถานีที่ประเทศอังกฤษมายังประเทศสหรัฐอเมริกา รวมระยะทางถึง 3,000 ไมล์ แม้ว่าการสื่อสารด้วยวิทยุโทรเลขจะเป็นการสื่อสารที่มีความทันสมัยที่สุดในสมัยนั้น แต่ก็ส่งสัญญาได้เพียงรหัสมอร์สเท่านั้น ต่อมาในปี ค.ศ.1906 นักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน เรจินาลย์ เฟสเซนเดน สามารถพบวิธีแปลงสัญญาณวิทยุโทรเลขให้เปลี่ยนเป็นเสียงได้สำเร็จ และมีการทดลองส่งสัญญาณเสียงครั้งแรกของโลกในวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ.1906 แม้ว่ามาร์โคนีจะไม่ใช่ผู้ค้นพบ แต่เขาก็มีส่วนสำคัญในการพัฒนากิจการวิทยุกระจายเสียงให้มีความเจริญก้าวหน้า และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในปี ค.ศ.1909 มาร์โคนีได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ร่วมกับคาร์ล เฟอร์ดินานด์ บราวน์ นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน โดยมาร์โคนีได้รับจากผลงานการประดิษฐ์วิทยุโทรเลข ส่วนบราวน์ได้รับจากการปรับปรุงเทคโนโลยีการกระจายเสียง และในปีเดียวกันนี้มาร์โคนีได้รับการแต่งตั้งให้เป็นวุฒิสมาชิก มาร์โคนีเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและได้รับเกียรติจากรัฐบาลอิตาลีอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากในปี ค.ศ.1912 มาร์โคนีได้เป็นตัวแทนรัฐบาลอิตาลีในการเซ็นสัญญาสันติภาพที่กรุงปารีส และในปี ค.ศ.1929 เขาได้รับบรรดาศักดิ์เป็นมาร์ควิส จากพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอล และยศท่านเซอร์จากพระเจ้ายอร์ชที่ 5 ของอังกฤษ (King
George V of England) เนื่องจากในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 เขาได้ติดตั้งสัญญาณวิทยุโทรเลขให้กับกองทัพเรือของอังกฤษ

มาร์โคนีได้พยายามพัฒนากิจการวิทยุให้มีความเจริญมากขั้น ในปี ค.ศ.1917 ได้ออกเดินทางโดยเรือยอร์ชส่วนตัวที่เขาตั้งชื่อว่า อิเลคตรา (Electra) และได้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่กลางทะเล ต่อมาอีก 2 ปี มาร์โคนีได้สร้างสถานีวิทยุกระจายเสียงขึ้นที่เชล์มฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ซึ่งถือว่าเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรกของโลกที่ทำการกระจายเสียงอย่างเป็นรูปแบบกิจการวิทยุโทรเลขและการกระจายเสียงมีความเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก และสามารถส่งสัญญาณไปยังที่ต่าง ๆ ได้ทั่วโลก มาร์โคนีเสียชีวิตในวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ.1937 ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี เพื่อเป็นเกียรติแก่เขาสถานีวิทยุกระจายเสียงได้หยุดการกระจายเสียงเป็นเวลา 2 นาที ในช่วงบั้นปลายชีวิตของมาร์โคนีเขาได้ค้นพบคลื่นวิทยุสั้น ๆ ที่สามารถส่งสัญญาณไปได้ไกลเป็นผลสำเร็จคลื่นวิทยุชนิดนี้รู้จักกันดีในชื่อว่า วิทยุคลื่นสั้น


ในปัจจุบัน กิจการส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงได้พัฒนารูปแบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นสื่อที่มีความจำเป็นอย่างมากต่อการติดต่อสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ เช่น วิทยุกระจายเสียงที่ใช้เป็นสื่อทางด้านความบันเทิง และการส่งข่าวสารต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ การสื่อสารของยานพาหนะชนิดต่าง ๆ เช่น เรือโดยสาร เรือเดินทะเล เครื่องบิน ยานอวกาศ เป็นต้น หรือแม้กระทั่ง การติดต่อสื่อสารระหว่างคน 2 คน ก็ล้วนแต่มีความสำคัญและได้รับประโยชน์จากเครื่องมือสื่อสารชนิดนี้ทั้งสิ้น



ที่มา
http://siweb.dss.go.th/Scientist/Scientist/Guglielmo%20Marcony.html

ฮิปโปเครตีส : Hippocrates



ฮิปโปเครตีส : Hippocrates

เกิด 460 ก่อนคริสต์ศักราช ที่เกาะโคส (Cose) ประเทศกรีซ (Greece)

เสียชีวิต 347 ก่อนคริสต์ศักราช ที่เกาะโคส (Cose) ประเทศกรีซ (Greece)

ผลงาน

- บุกเบิกวิชาแพทย์แผนปัจจุบัน และได้รับการยกย่องให้เป็น บิดาแห่งวิชาการแพทย์ (Father of the Medicine)

การรักษาโรคด้วยวิธีการที่ทันสมัย ได้มีการพัฒนาอย่างจริงจังเมื่อประมาณ 200 กว่าปี มานี้เอง แต่การเริ่มต้นของวิชาการด้านนี้มีมานานกว่า 2,000 ปี มาแล้ว จากความคิดริเริ่มของนายแพทย์ชาวกรีกผู้หนึ่งที่มีนามว่า ฮิปโปเครตีส ผู้ซึ่งเป็นบิดาแห่งวิชาการแพทย์แผนปัจจุบัน

ฮิปโปเครตีสเป็นนายแพทย์คนแรกของโลกที่ทำการรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีการสมัยใหม่ คือ วินิจฉัยถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคก่อน แล้วจึงทำการรักษา ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กันมาจนทุกวันนี้ ก่อนหน้าที่ฮิปโปเครตีสจะบุกเบิกวิธีการรักษาเช่นนี้ ผู้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า เทพเจ้าดลบันดาลให้เกิดความเจ็บป่วย เพราะฉะนั้นวิธีการรักษาอาการป่วยก็คือ การบวงสรวง อ้อนวอน ขอร้องเทพเจ้าให้หายจากอาการ เจ็บป่วยเหล่านี้ ซึ่งผู้ที่ทำการรักษาผู้ป่วยในสมัยนั้นส่วนใหญ่จึงไม่ใช่แพทย์ แต่เป็นนักบวชที่ทำพิธีกรรมบวงสรวงเทพเจ้า

ฮิปโปเครตีสเกิดเมื่อประมาณ 460 ก่อนคริสต์ศักราช ที่เกาะโคส ประเทศกรีซ เขาได้รับการศึกษาจากครูผู้หนึ่งเกี่ยวกับวิชาปรัชญา คณิตศาสตร์ และการแพทย์ ฮิปโปเครตีสต้องการที่จะเปลี่ยนแนวความคิดของคนในสมัยนั้นที่เชื่อว่า อาการเจ็บป่วยเกิดจากการดลบันดาลของเทพเจ้า โดยเขาอธิบายว่าอันที่จริงแล้วอาการเจ็บป่วยอาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เป็นต้นว่า ความผิดปกติ หรือความบกพร่องของร่างกาย อาหาร อากาศ และเชื้อโรค เป็นต้น เพราะฉะนั้นวิธีการรักษาโรคก็ควรจะต้องวินิจฉัยสาเหตุของโรคว่าเกิดจากสาเหตุใด แล้วจึงหาวิธีการรักษาต่อไป ฮิปโปเครตีสใช้เวลาในการศึกษาวิธีการรักษาผู้ป่วยตลอดชีวิตของเขาจากผู้ป่วยนั่นเอง เพราะผู้ป่วยแต่ละคนก็แตกต่างกันไปทั้งอาการของโรคและวิธีการรักษา เขาจะดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และจดบันทึกเกี่ยวกับผู้ป่วยอย่างละเอียด ทั้งประวัติส่วนตัว อาการ สาเหตุของโรค รวมถึงวิธีการรักษาด้วย วิธีการรักษาผู้ป่วยของฮิปโปเครตีสจะเป็นไปอย่างละเอียดทุกขั้นตอน แม้แต่ยาที่รักาผู้ป่วยก็เป็นยาที่ไม่รุนแรงและใช้เฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพราะเขาเชื่อว่าธรรมชาติของคนนั้นสามารถรักษาตัวเองได้ โดยผู้ป่วยทุก ๆ คนต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ ทั้งเรื่องอากาศ ผู้ป่วยควรอยู่ในที่ ที่มี
อากาศบริสุทธิ์ อาหารก็ควรได้รับประทานที่เหมาะสม คืออาหารอ่อนที่รับประทานง่าย เช่น ข้าวต้ม ซุป เป็นต้น เพราะร่างกายของผู้ป่วยอยู่ในภาวะที่อ่อนแอ แม้แต่เรื่องความสะอาดก็เป็นสิ่งสำคัญ ทั้งความสะอาดของร่างกาย และของใช้ทั้งของผู้ป่วยเอง เช่น เสื้อผ้า เครื่องนอน เป็นต้น และอุปกรณ์การแพทย์ยิ่งต้องรักษาความสะอาดมากเป็นพิเศษ ไม่เพียงแต่ผู้ป่วยที่เป็นโรคเท่านั้น ฮิปโปเครตีสยังรักษาผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุจนกระดูกหัก หรือเป็นแผลฉกรรจ์ เขาก็สามารถรักษาได้ เขาเรียนรู้วิธีการรักษาบาดแผลให้สะอาด โดยการใช้น้ำมันดินมาทาที่แผลซึ่งสามารถป้องกันบาดแผลไม่ให้ลุกลามได้เป็นอย่างดี

การรักษาโรคเป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้คนพ้นจากความทุกข์ทรมาน แต่วิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคเป็นสิ่งที่ดีกว่า และฮิปโปเครตีสก็ให้ความสนใจเรื่องการรักษาสุขภาพนี้ด้วยเช่นกัน เขาคิดว่าคนที่มีสุขภาพแข็งแรงก็จะไม่ล่มป่วยได้ง่าย ๆ และวิธีการรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอก็คือการออกกำลังกาย การพักผ่อนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และการทำจิตใจให้ผ่องใสก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน

ฮิปโปเครตีสได้ตั้งโรงเรียนสอนวิชาแพทย์ขึ้นที่เกาะโคส และเขียนตำราแพทย์ไว้มากมายที่เกี่ยวกับการรักษาโรคด้วยวิธีการต่าง ๆ วิธีการใช้ยา วิธีการรักษาบาดแผล กระดูกหัก และวิธีการผ่าตัด แม้แต่วิธีการรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเขาก็ได้เขียนขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่เขาบันทึกจากผู้ป่วยที่เขาทำการรักษา ดังนั้นตำราแพทย์ของเขาจึงเป็นตำราที่น่าเชื่อถือ เพราะเขียนขึ้นจากความจริงทั้งสิ้น

ฮิปโปเครตีสถือว่าเป็นผู้ให้กำเนิดวิชาการแพทย์แผนปัจจุบัน วิธีการรักษาของเขามีระเบียบแบบแผนเป็นที่น่าเชื่อถือ ซึ่งในปัจจุบันผู้ที่จบวิชาแพทย์ก็ยังต้องกล่าวคำปฏิญาณ (Hippocratic Oath) ตามที่ฮิปโปเครตีสเคยกล่าวไว้ต่อหน้าเทพเจ้าแอสเคลปิอุส (Asclepius) ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งการแพทย์ของกรีก และส่วนหนึ่งในคำปฏิญาณนี้ ได้ถูกนำมาเป็นข้อบังคับ หรือ จรรยาบรรณของแพทย์ด้วย ดังจะยกตัวอย่างมาส่วนหนึ่ง "จรรยาและข้อกำหนดที่ข้าพเจ้ายึดถือและประกาศไว้นี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของผู้ป่วยในความดูแล ซึ่งข้าพเจ้าจะใช้พละกำลังของข้าพเจ้าช่วยเหลือผู้ป่วยจนสุดความสามารถ ข้าพเจ้าจะไม่ใช้ความรู้ของข้าพเจ้าให้เป็นอันตรายต่อผู้อื่น หรือรักษาผู้อื่นด้วยวิธีการที่ผิด ข้าพเจ้าจะไม่สั่งจ่ายยาที่ทำให้ต้องเสียชีวิตเป็นอันขาด ข้าพเจ้าจะไปเยี่ยมบ้านเรือน เพื่อประโยชน์สุขของผู้ป่วยเท่านั้น โดยงดเว้นจากการคดโกง และประสงค์ร้าย"



ที่มา
http://siweb.dss.go.th/Scientist/Scientist/Hippocrates.html

รูดอล์ฟ ดีเซล : Rudolph Diesel



รูดอล์ฟ ดีเซล : Rudolph Diesel

เกิด วันที่ 18 มีนาคม ค.ศ.1858 ที่กรุงปารีส (Paris) ประเทศฝรั่งเศส (France)

เสียชีวิต ค.ศ.1913 ที่ลอนดอน (London) ประเทศอังกฤษ (England)

ผลงาน

- ประดิษฐ์เครื่องยนต์แบบดีเซล

ปัจจุบันเครื่องยนต์ประเภทอัดอากาศ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อว่าเครื่องยนต์ดีเซล เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล เพราะทั้งประหยัดและมีประสิทธิภาพในการใช้งานดีมากชนิดหนึ่ง และผลงานชิ้นนี้ก็ได้เกิดจากความทุ่มเทของนักวิศวกรผู้หนึ่งที่ชื่อว่า รูดอล์ฟ ดีเซล

ดีเซลเกิดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ.1858 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แต่อันที่จริงแล้ว เขาเป็นชาวเยอรมัน แต่บิดามารดา ได้อพยพมาอยู่ที่ฝรั่งเศส ดีเซลเกิดมาในตระกูลที่มีฐานะดีพอสมควร ทำให้เขาได้รับการศึกษาทีดีมาก อีกทั้งเขาเป็นคนที่มีความเฉลียวฉลาด สำหรับการศึกษาขึ้นต้นดีเซลได้เดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ หลังจากนั้นเขาได้เดินทางไปศึกษาที่โรงเรียนอาชีวศึกษาที่อ็อกซเบิร์ก ประเทศเยอรมนี ดีเซลสามารถเรียนได้ดีมาก โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และเครื่องกลต่าง ๆ หลังจากจบการศึกษาจากโรงเรียนอาชีวศึกษาด้วยผลการเรียนทีดีเยี่ยม ทำให้เขาได้รับทุนสำหรับศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี กรุงมิวนิค ประเทศเยอรมนี และในระหว่างนี้เองที่ทำให้เขารู้จักเครื่องยนต์ชนิดต่าง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะเครื่องจักรไอน้ำ ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ที่ทันสมัยที่สุดในเวลานั้น แต่ก็ไม่มีประสิทธิภาพในการใช้งานเท่าที่ควร โดยเครื่องจักรไอน้ำนี้ประกอบไปด้วยเตาเผาหม้อน้ำ และปล่องไฟ ซึ่งเมื่อนำมาประกอบกันแล้วดูรุ่มร่ามและใช้การได้ยาก อีกทั้งยังต้องใช้พลังงานจำนวนมากสำหรับให้เครื่องทำงาน

จากนั้นดีเซลก็ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องเครื่องจักรไอน้ำเป็นอย่างมาก อีกทั้งเขายังต้องการที่จะพัฒนาปรับปรุงให้เครื่องกลชนิดนี้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดีเซลเริ่มต้นการศึกษาเครื่องจักรไอน้ำอย่างละเอียดตั้งแต่ประวัติความเป็นมา วิธีการ จุดเด่น และข้อด้อยของเครื่องจักรไอน้ำ ดีเซลได้รับคำแนะนำความรู้เหล่านี้จาก ศาสตราจารย์คาร์ฟอน ลินเด อาจารย์ของเขานั่นเอง ซึ่งท่านได้ศึกษาเรื่องนี้มาเป็นเวลานานแล้ว หลังจากที่ได้ทำการศึกษามาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ทำให้เขารู้ความจริงเกี่ยวกับสิ่งนี้ในข้อที่ว่า เมื่อลดความร้อนลงมาเรื่อย ๆ จะทำให้เกิดพลังงานขึ้นมาได้ ซึ่งเป็นผลจากความร้อนนั่นเอง ทำให้ดีเซลเกิดความคิดที่จะนำพลังงานดังกล่าวมาใช้ในการเดินเครื่องจักรไอน้ำ และนี้คือแนวทางสำคัญในการพัฒนาเครื่องยนต์ของเขาในเวลาต่อมา

หลังจากจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี กรุงมิวนิค ประเทศเยอรมนี ดีเซลได้เดินทางกลับบ้านเกิดที่กรุงปารีสและได้เข้าทำงานในโรงงานประกอบเครื่องทำน้ำแข็งของลินเดในหลายตำแหน่งหน้าที่ ได้แก่ ตัวแทนซื้อขาย คนคุมงาน ประดิษฐ์ซ่อมเครื่องกล ผู้อำนวยการและที่ปรึกษา แม้ว่าเขาต้องทำงานอย่างหนัก และรับหน้าที่ในหลายตำแหน่ง แต่เขาก็ทำงานด้วยความตั้งใจ และแน่วแน่ว่าจะต้องทำงานเหล่านี้ให้ดีในทุกหน้าที่ที่เขารับผิดชอบ ทั้งด้วยเหตุผลหลายประการ ประการแรกลินเดซึ่งเป็นทั้งอาจารย์และนายจ้างของเขา ได้ชี้แจงแก่เขาว่าการทำงานภายในโรงงานแห่งนี้ ถือว่าเหมือนได้เข้าศึกษาในระดับปริญญาเอกทางวิศวกรรมศาสตร์เลยก็ว่าได้เพราะไม่ได้ฝึกทักษะทางด้านวิชาการเท่านั้น ยังได้ประสบการณ์ชีวิตจากด้านอื่นอีกด้วย อีกประการหนึ่งเขาต้องการสร้างเนื้อ สร้างตัวให้ได้เร็วที่สุด เพราะเขาได้แต่งงานกับหญิงชาวเยอรมันผู้หนึ่ง แต่ต้องแยกกันอยู่เพราะดีเซลไม่มีเงิน เพียงพอที่จะเลี้ยงดู ต่อมาเมื่อลินเดเปิดโรงงานประกอบเครื่องทำน้ำแข็งขึ้นในเมืองมิวนิค ดีเซลได้ขอลินเดให้เขาได้ย้ายไปทำงานที่นั่นทันที แต่ลินเดมีข้อแม้ว่า ห้ามไม่ให้ดีเซลยุ่งเกี่ยวกับเครื่องประกอบน้ำแข็งของลินเดอย่างเด็ดขาด แม้ว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่
ดีเซลต้องการแต่เขาก้รับปากลินเด และไม่ยุ่งเกี่ยวกับเครื่องประกอบน้ำแข็งเลยแม้แต่น้อย

แม้ว่าดีเซลจะไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับเครื่องทำน้ำแข็งของลินเดเลย แต่เขาก็มีความคิดที่จะสร้างเครื่องกลชนิดอื่น ๆ และในระหว่างนี้เขาได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับเครื่องจักร ดีเซลสามารถประดิษฐ์เครื่องยนต์ที่ใช้ก๊าซแอมโมเนียแทนการใช้พลังงานไอน้ำได้ และเครื่องยนต์ที่อาศัยหลักการสันดาป ซึ่งเครื่องยนต์ของดีเซลก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก แต่ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับดีเซลมากที่สุดก็คือ เครื่องยนต์แบบใช้อากาศอัด โดยดีเซลเกิดความคิดมาจากขณะที่เขากำลังนั่งสังเกตการณ์เครื่องเปลี่ยนความร้อนเป็นพลังงานซึ่งใช้ในการเดินเครื่องยนต์ผลิตน้ำแข็ง เขาได้นำหลักการเดียวกันนี้มาปรับปรุง และใช้ในเครื่องยนต์ชนิดใหม่ที่เขาเป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นตามลำดับ ต่อมาเขาได้นำเครื่องยนต์แบบอัดอากาศนี้ไปทำการทดลอง แต่ในครั้งแรกนั้นยังไม่ประสบความสำเร็จ อีกทั้งยังเกิดระเบิดขึ้นอีกด้วยซึ่งเกือบทำให้เขาเสียชีวิต แม้ว่าการทดลองในครั้งแรกจะล้มเหลว แต่สิ่งที่เขาได้จากการทดลองในครั้งนี้ก็คือ ทฤษฎีเกี่ยวกับแรงดันอากาศที่ว่า "ความร้อนสามารถทำให้อากาศมีแรงดันเพียงพอสำหรับการจุดไฟให้ติดได้" ดีเซลยังคงพยายามประดิษฐ์เครื่องยนต์ของเขาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการค้นหาสาเหตุระเบิดและหาทางแก้ไขปัญหานั้นได้และในที่สุดเครื่องยนต์เขาสามารถใช้ประโยชน์ได้

แต่เครื่องยนต์ชนิดใหม่ที่ดีเซลได้ประดิษฐ์ขึ้น ก็ยังมีข้อเสียอยู่ที่ผนังกระบอกสูบไม่แข็งแรงพอที่จะต่อความดันอากาศสูง ๆ ได้ ดังนั้นดีเซลจึงหันมาปรับปรุงการประดิษฐ์กระบอกสูบ โดยดีเซลได้ทดลองนำกระบอกสูบขนาดต่าง ๆ กันมาทำการทดลองเพื่อทดสอบแรงดัน และปริมาณที่ว่างระหว่างหัวสูบกับปลายกระบอกสูบ เครื่องยนต์ของดีเซลประสบความสำเร็จในปี ค.ศ.1897 โดยเขาได้ใช้เวลาในการค้นคว้านานถึง 5 ปี ดีเซลได้ตั้งชื่อเครื่องยนต์ตามชื่อของเขาว่า ดีเซล ตามคำแนะนำของภรรยา

เครื่องยนต์ที่ดีเซลเป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นมานั้นได้ใช้หลักการส่งเชื้อเพบิงจำนวนเพียงเล็กน้อยส่งเข้าไปในกระบอกสูบ จนกระทั่งน้ำมันที่ฉีดเข้าไปในกระบอกสูบ ระเหยเป็นไอออกมาจากรูกระบอก เพื่อใช้เป็นพลังงานในการขับเคลื่อนเครื่องยนต์ ซึ่งลักษณะของเครื่องยนต์ดีเซลนี้เป็นการเปลี่ยนพลังงานความร้อนให้เป็นพลังงานกล และด้วยวิธีการเช่นนี้ทำให้สิ้นเปลืองพลังงานน้อยลงถ้าเปรียบเทียบกับเครื่องยนต์ชนิดอื่น

ต่อมาในเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้นเอง ดีเซลได้ตั้งบริษัทขึ้นเพื่อผลิตเครื่องยนต์ดีเซลออกจำหน่าย โดยตั้งชื่อบริษัทแห่งนี้ว่า ไรซิงเกอร์ไมเยอร์ และดีเซล บริษัทของเขาได้ดำเนินกิจการไปได้ด้วยดี นอกจากนี้เขายังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง แต่ในไม่ช้าดีเซลก็ต้องพบกับความเดือดร้อนแสนสาหัส เนื่องจากในขณะนั้นกฎหมายเรื่องสิทธิบัตรยังมีความละหลวมอยู่มาก ทำให้ดีเซลต้องเสียเงินทองเป็นจำนวนมากสำหรับการฟ้องร้องเพื่อเรียกร้องในสิทธิบัตรของเขาอีกทั้งสุขภาพของเขายังเสื่อมโทรมลงเรื่อย ๆ เพราะความเหน็ดเหนื่อยทั้งทางกายและทางใจจากการต่อสู้ในเรื่องของสิทธิบัตร
เครื่องยนต์ของเขาและต่อมาบริษัทของเขาก็ต้องประสบกับภาวะการขาดทุนอย่างรุนแรง

ในช่วงบั้นปลายชีวิตของดีเซล เขาต้องท้อแท้ใจอย่างมากเพราะสิ่งที่เขาทุ่มเทอย่างหนักมาตลอดระยะเวลาต้องล้มเหลวลงอย่างไม่เป็นท่าดังนั้นในปี ค.ศ.1913 เขาได้เดินทางไปยังประเทศอังกฤษ และไม่ได้เดินทางกลับมาอีกเลย ซึ่งภายหลังมีข่าวว่าเขาได้หายไปในช่องแคบอังกฤษ แม้ว่าดีเซลจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่สิ่งที่เขาได้ทิ้งไว้สร้างคุณประโยชน์ให้กับนักประดิษฐ์รุ่นหลังเป็นอย่างมากก็คือ เครื่องยนต์ดีเซลที่มีประสิทธิภาพในการใช้งาน



ที่มา
http://siweb.dss.go.th/Scientist/Scientist/Rudof%20diesel.html

เฮนรี่ คาเวนดิช : Henry Cavendish


เฮนรี่ คาเวนดิช : Henry Cavendish

เกิด วันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1731 ที่เมืองนีซ (Nice) ประเทศอิตาลี (Italy)

เสียชีวิต วันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1810 ที่กรุงลอนดอน (London) ประเทศอังกฤษ (England)

ผลงาน
- ค้นพบสารประกอบน้ำซึ่งมีสูตรทางเคมีว่า H2O หมายถึง ไฮโดรเจน 2 ส่วน ออกซิเจน 1 ส่วน (โดยปริมาตร)
- ค้นพบกฎพื้นฐานทางไฟฟ้า
- ค้นพบก๊าซไฮโดรเจน
- ค้นพบกรดไนตริก หรือกรดดินประสิว

แม้ว่าน้ำจะเป็นสารประกอบธรรมดา ทำให้ไม่มีนักวิทยาศาสตร์ผู้ใดให้ความสนใจ แต่การค้นพบสารประกอบน้ำ และการค้นพบสมบัติของธาตุ นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก สำหรับการค้นคว้างานด้านวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะด้านเคมี และนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบผลงานดังกล่าวก็คือ เฮนรี่ คาเวนดิช

คาเวนดิชเกิดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1731 ที่เมืองนีซ ประเทศอิตาลี ครอบครัวของคาเวนดิชถือว่าร่ำรวยและมีชื่อเสียงมากทีเดียว บิดาของเขาเป็นท่านลอร์ด ชื่อว่า ชาร์ล คาเวนดิช (Lord Charles Cavendish) ส่วนปู่ของเขาก็เป็นดยุคแห่งดีวอนไชร์ที่ 2 (Duke of Devonshire II) จากฐานะที่ร่ำรวย ทำให้คาเวนดิชได้รับการศึกษาที่ดี และมีเงินทุนสำหรับการทดลองวิทยาศาสตร์ คาเวนดิชเริ่มต้นการศึกษาขั้นแรกเมื่ออายุได้ 11 ปีที่โรงเรียนเฮคเนย์ (Hackney) ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษหลังจากจบการศึกษาที่โรงเรียนเฮคเนย์ คาเวนดิชได้เข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยปีเตอร์ (Peter College) ในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University) เมื่อจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์แล้ว คาเวนดิชได้เดินทางกลับบ้านเพื่อทำการทดลองวิทยาศาสตร์ และศึกษางานด้านวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง โดยเขาได้สร้างห้องทดลองขึ้นที่บ้านของเขาเอง ซึ่งเป็นห้องทดลองที่ทันสมัยที่สุดในสมัยนั้นก็ว่าได้

คาเวนดิชทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ให้กับการทดลอง ในปี ค.ศ. 1765 เขาได้ทำการทดลองเกี่ยวกับความร้อน และค้นพบ "กฎพื้นฐานทางไฟฟ้า" ว่าถ้าหากนำประจุไฟฟ้า 2 ขั้ว มาเชื่อมต่อกัน จะมีกระแสไฟฟ้าไหลจากขั้วหนึ่งไปอีกขั้วหนึ่ง จนเกิดสมดุลกระแสไฟฟ้า ไฟฟ้าจึงหยุดไหล จากหลักการอันนี้คาเวนดิชได้ประดิษฐ์หม้อเก็บกระแสไฟฟ้าขึ้น และนำมาใช้ในการทดลองของเขาด้วย จากนั้นเขาได้ทำการทดลองต่อไป จนค้นพบก๊าซไฮโดรเจน (Hydrogen) แต่เขาเรียกก๊าซไฮโดรเจนว่า "Inflammable air" แปลว่า ก๊าซที่สามารถติดไฟได้ ซึ่งเป็นการตั้งชื่อตามสมบัติที่สามารถติดไฟได้ของก๊าซชนิดนี้

ต่อมาคาเวนดิชได้ทำการทดลองตามสมมติฐานของ คาร์ล วิลเฮล์ม เชย์เลอร์ (Karl Wilhem Scheele) ที่ว่า ออกซิเจน 1 ส่วน กับไฮโดรเจน 2 ส่วน (โดยปริมาตร) เผารวมกันแล้วจะเกิดการระเบิดและสลายตัวไป คาเวนดิชได้ทำการทดลองโดยการบรรจุก๊าซไฮโดรเจน และออกซิเจน ไว้ในขวดแก้วอย่างหนาจากนั้นก็ปล่อยกระแสไฟฟ้าลงไปในขวด ปรากฏว่าเกิดการระเบิดขึ้นภายในขวด แต่ขวดไม่เป็นอะไร จากนั้นคาเวนดิชสังเกตเห็นว่าภายในขวดมีละอองน้ำเขาเริ่มสงสัยว่าน้ำมาจากไหน และทำการทดลองซ้ำอีกหลายครั้ง เพื่อค้นหาที่มาของน้ำ ในที่สุดเขาก็พบสมบัติของน้ำว่าไม่ใช่ธาตุ แต่เป็นสารประกอบโดยมีส่วนประกอบ
ของไฮโดรเจน (Hydrogen) และออกซิเจน (Oxygen) โดยเขียนเป็นสัญลักษณ์ทางเคมีได้ดังนี้ H2O ซึ่งหมายถึง ไฮโดรเจน 2 ส่วน ออกซิเจน 1 ส่วน (โดยปริมาตร)

สิ่งที่เขาค้นพบอีกอย่างหนึ่งจากการทดลองครั้งนี้คือ กรดไนตริก (Nitric acid) หรือกรดดินประสิว ว่าประกอบไปด้วยไนโตรเจน และก๊าซอีก 2 ชนิด คือ ออกซิเจน และไฮโดรเจน การพบกรดไนตริกนี้เกิดจากที่คาเวนดิชสังเกตว่าน้ำที่ได้จากการทดลองไม่ได้เป็นน้ำบริสุทธิ์ทุกครั้งไป แต่บางครั้งน้ำมีฤทธิ์เป็นกรด

ในปี ค.ศ. 1803 คาเวนดิชได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของราชสมาคมแห่งกรุงลอนดอน (Royal Society of London) และในปีเดียวกัน เขาก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของราชสมาคมแห่งฝรั่งเศส (Royal Society of Franc) ซึ่งมีชาวต่างประเทศเป็นสมาชิกอยู่เพียง 8 คน เท่านั้น

คาเวนดิชเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1810 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จากผลงานและความสามารถของเขาในปี ค.ศ. 1874 ทางรัฐบาลอังกฤษได้สร้างห้องทดลองที่มีอุปกรณ์อันทันสมัยขึ้นมาในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เพื่อเป็นอนุสรณ์ในความสามารถของเฮนรี่ คาเวนดิชนักฟิสิกส์และเคมีผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ และได้ตั้งชื่อห้องทดลองนั้นว่า ห้องทดลองทางฟิสิกส์ คาเวนดิช (Cavendish Physical Laboratory)


ที่มา
http://siweb.dss.go.th/Scientist/Scientist/Henry%20Cavendish.html

หลุยส์ อักกะซี่ : Louis Johann Rudolph Agassiz


หลุยส์ อักกะซี่ : Louis Johann Rudolph Agassiz

เกิด วันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1809 ที่เมืองมอติเออร์ (Mortier) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (Switzerland)

เสียชีวิต วันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 1873 ที่เมืองมอติเออร์ (Morrtier) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (Switzwrland)

ผลงาน

- การค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ธรรมชาติ

หลุยส์ อักกะซี่ หรือที่มีชื่อเต็มๆ ว่า หลุยส์ จอห์น รูดอล์ฟ อักกะซี่ (Louis Johann Rudolph Agassiz) เป็นนักธรรมชาติวิทยา ผู้ยิ่งใหญ่อีกท่านหนึ่ง ผลงานของเขาส่วนใหญ่เป็นการศึกษาเกี่ยวกับซากสัตว์ดึกดำบรรพ์ อักกะซี่ได้เทุ่มเทเวลาในการศึกษาเรื่องนี้มากที่สุด ซึ่งเป็นการยากที่นักธรรมชาติวิทยาในยุคเดียวกันนั้นจะสามารถทำได้ และทำให้เขาได้รับการยกย่องให้เป็น บิดาแห่งซากหินดึกดำบรรพ์ อักกะซี่เป็นนักธรรมชาติวิทยาที่อยู่ในยุคเดียวกับชาร์ลส์ โรเบิร์ต ดาร์วินนักธรรมชาติวิทยาอันดับหนึ่งของโลก นอกจากนี้อักกะซี่ยังเป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุนทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน

อักกะซี่เกิดเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1809 ที่เมืองมอติเออร์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์บิดาของเขาเป็นพระสอนศาสนาชาวฝรั่งเศส แต่ลี้ภัยทางศาสนาเข้ามาอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หลังจากที่อักกะซี่จบการศึกษาขั้นต้นแล้ว เขาได้เข้าศึกษาต่อในวิชาแพทย์ การที่เขาศึกษาวิชานี้ก็เนื่องมาจากคุณตาของเขาเป็นศัลย์แพทย์ผู้มีชื่อเสียงมากผู้หนึ่ง อีกทั้งบิดามารดาของเขาก็ยังคาดหวังให้เขาเป็นศัลยแพทย์เช่นเดียวกับตาของเขา การศึกษาวิชาแพทย์เป็นโอการที่ดีทำให้เขามีความรู้เกี่ยวกับกายวิภาคดีมากผู้หนึ่ง นอกจากนี้เขายังได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการศึกษาและผ่าตัดสัตว์ที่เสียชีวิตแล้ว เพื่อศึกษาเกี่ยวกับอวัยวะภายในของสัตว์เหล่านั้น อักกะซี่ได้รวบรวมพันธุ์สัตว์ต่าง ๆ ไว้มากมายกว่า 40 ชนิด

ต่อมาในปี ค.ศ. 1926 ได้เดินทางไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยไฮเดนเบิร์ก ณ มหาวิทยาลัยแห่งนี้เขามีโอกาสได้ศึกษาภาษากรีก และโรมัน ทำให้เขามีโอกาสได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ที่มีประโยชน์มากมายหลายเล่ม อีกสิ่งหนึ่งที่เขาได้รับจากการเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็คือ เขาได้รู้จักกับนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงหลายท่าน พร้อมกันนั้นเขายังร่วมก่อตั้งสมาคมวิทยาศาสตร์โดยร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงหลายท่าน สมาคมแห่งนี้มีชื่อว่า The Little Academy

แม้ว่าอักกะซี่จะมีความรู้ทางการแพทย์ดีมากผู้หนึ่ง แต่สิ่งที่เขาสนใจกลับเป็นเรื่องของชีววิทยามากกว่า อักกะซี่ได้ทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้กับการค้นคว้าทางด้านธรรมชาติ ซึ่งต่อมาเขาได้เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งโดยใช้ชื่อว่า ประวัติของธรรมชาติวิทยา ซึ่งเขาเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาจากคำชักชวนของศาสตราจารย์คาร์ล ฟอน มาร์ติอุส (Karl van Matius) ซึ่งเป็นอาจารย์ของเขา ผลงานชิ้นนี้ถือได้ว่าได้สร้างชื่อเสียงให้กับอักกะซี่เป็นอย่างมาก นอกจากนี้เขายังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางปรัชญาศาสตร์อีกด้วย อักกะซั่งได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติวิทยาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งเพราะนี้คือสิ่งที่เขารักมากที่สุด

ต่อมาอักกะซี่ได้หยุดการศึกษาด้านนี้ไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง เขาได้กลับไปค้นคว้าเกี่ยวกับวิชาแพทย์ตามที่เขาได้เล่าเรียนมา เขาได้เขียนหนังสือทางการแพทย์ขึ้นมาหลายเล่มได้แก่โรควิทยาคลอดบุตร หนังสือของเขาประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากซึ่งทำ ให้เขามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วทั้งทวีปยุโรปและอเมริกา และจากผลงานชิ้นนี้เขาได้รับรางวัลดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ในทางการแพทย์ ผลงานชิ้นนี้อักกะซี่สามารถทำให้บิดามารดาของเขารู้สึกภูมิใจในตัวเขาเป็นอย่างมาก

จากชื่อเสียงความรู้ ความสามารถ และความช่วยเหลือของอเล็กซานเดอร์ ฟอน อัมโบลต์ ซึ่งในขณะนั้นได้เป็นผู้ให้การสนับสนุน และให้คำแนะนำต่าง ๆ แก่อักกะซี่ ได้ช่วยเหลือให้เขาได้เข้าเป็นศาสตราจารย์สอนวิชาธรรมชาติวิทยาประจำมหาวิทยาลัยนอยซาเติลประเทศสวิตเซอร์แลนด์ การเรียนการสอนของอักกะซี่ภายในมหาวิทยาลัยเป็นไปได้ด้วยดี แต่สิ่งที่เขาไม่ชอบก็คือการเรียนการสอนที่อยู่ภายในห้องเรียน เขามีคามสุขกับการสอนอย่างมากถ้าได้ออกไปสอนนอกสถานที่ ตามป่าเขาลำเนาไพร ซึ่งทำให้นักเรียนได้เห็นของจริง ดังนั้นเขาจึงเริ่มทำการสอนแบบใหม่ โดยการจัดสวนตามแบบของนักปรัชญาชาวกรีก ในสวนแห่งนี้เขาไม่เป็นเพียงแต่ผู้สอนเท่านั้น เขายังได้มีโอกาสศึกษาเกี่ยวกับปรัชญากรีกโบราณอีกด้วย

สิ่งต่อมาที่อักกะซี่ทำการศึกษาก็คือ ซากพืชซากสัตว์ดึกดำบรรพ์ เขาทำการศึกษาจนมีความชำนาญด้านนี้มากผู้หนึ่งซึ่งทำให้ นักธรรมชาติวิทยาที่มีชื่อเสียงหลายท่านในยุโรป โดยเฉพาะในอังกฤษได้เชิญเขาไปสำรวจตัวอย่างฟอสซิลของสัตว์ต่าง ๆ เท่าที่มีการรวบรวมเอาไว้และจากผลงานการค้นคว้าด้านนี้เขาได้รับรางวัล Wollaston Prize จากประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นโอกาสดีอันหนึ่งของอักกะซี่ เพราะเขากำลังต้องการเงินทุนในการศึกษางานด้านนี้ต่อไป

และเมื่อมีเงินทุน อักกะซี่ได้เดินทางไปยังแม่น้ำโรนเพื่อศึกษาเรื่องธารน้ำแข็ง แม้ว่าเขาจะได้รับคำทัดทานจากเพื่อนฝูงของเขาหลายคน เพราะบริเวณธารน้ำแข็งเป็นสถานที่ที่อันตรายอย่างมาก และเป็นการเสี่ยงชีวิตอย่างมากที่จะลงไปตรงใจกลางธารน้ำแข็ง แต่อักกะซี่ก็ไม่ได้ฟังคำทัดทานของเพื่อเลยแม้แต่น้อย เขายังคงลงไปตรงใจกลางน้ำแข็งที่มีอัตราการเคลื่อนไหลของน้ำแข็งถึงวันละ 40 ฟุต อักกะซี่ได้ลงไปในบ่อและลึกลงไปเรื่อย ๆ เขาพบว่าบริเวณปากบ่อของธารน้ำแข็งเป็นสีฟ้าอ่อนแกมเขียว เมื่อไต่ลึกลงไปอีก
เขาพบว่าสีของผนังบ่อเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ และเปลี่ยนเป็นสีฟ้าในตอนเที่ยงคืน และเมื่อลึกลงไปถึง 120 ฟุต อักกะซี่ต้องพบกับอากาศที่เย็นจัดของธารน้ำแข็ง ทำให้เขาต้องรีบกระตุกเชือกให้คนที่คอยอยู่ด้านบนรีบดึงเขาขึ้นไปในทันที แต่ไม่ถึงคนด้านบนจึงไม่ได้ยินสัญญาณของเขา อักกะซี่จึงต้องร้องตะโกน โชคดีที่คนด้านบนได้ยินจึงรีบดึงเขาขึ้นไป แต่ถึงอย่างนั้นก็เกือบทำให้เขาเสียชีวิต

หลังจากการสำรวจธารน้ำแข็งจบลงอักกะซี่ได้เขียนหนังสือขึ้นมาหลายเล่มโดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับยุคน้ำแข็งที่ชื่อว่า Le Systeme Glaaciaiae หนังสือเล่มนี้ก็ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับหนังสือเล่มที่ผ่าน ๆ มาของเขาหนังสือที่ได้รับการยกย่องอย่างมากอีกเล่มหนึ่งเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับการสำรวจทางธรณีวิทยา และจากผลงานชิ้นนี้คณะกรรมการแห่ง Lowell Institute ได้เชิญเขาไปแสดงปาฐกถาที่บอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งอักกะซี่ก็ตอบรับคำเชิญโดยทันที เขาได้ออกเดินทางไปบอสตันในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1846 นอกจากแสดงปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเขายังมีโอกาสได้รู้จักกับนักธรรมชาติวิทยาผู้มีชื่อเสียงและมีความสามารถหลายท่าน ทำให้อักกะซี่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้กับนักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ ทำให้เขารู้สึกประทับใจจนไม่ต้องการกลับไปที่สวิตแลนด์อีกและเมื่อภรรยาของเขาเสียชีวิต เขาได้แต่งงานใหม่กับหญิงสาวชาวอเมริกัน แต่เขาก็ยังคงส่งเงินสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายแก่บุตรชายทั้งสองของเขา

อักกะซี่ได้มีโอกาสเดินทางไปยังมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เพื่อเก็บรวบรวมตัวอย่างเกี่ยวกับธรรมชาติวิทยา แต่ทำอยู่ได้ไม่นาน เขาก็ต้องเดินทางกลับไปยังมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเพื่อเข้าทำงานในโรงเรียนการแพทย์ที่ชาณ์ลส์ตัน แต่ในระหว่างนี้เขาก็ยังคงเก็บ สะสมซากสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย เพื่อจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ในเวลาต่อมา ซึ่งโชคก็เข้าข้างเขาให้ทำงาน นี้ได้สำเร็จโดยมีเพื่อของเขาผู้หนึ่งได้ทำพินัยกรรมมอบเงินจำนวน 50,000 เหรียญ เพื่อให้เขาได้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์ตามได้ตั้งใจไว้อักกะซี่ได้ใช้พื้นที่บริเวณมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเพื่อจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ซึ่งทางสภาการเมืองแห่งรัฐแมสซาชูเซสได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์ได้ แม้ว่าในครั้งแรกจะมีสมาชิกบางคนไม่เห็นด้วยก็ตาม อักกะซี่ได้ตั้งชื่อพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ว่า Museum of Comparative Zoology

หลังจากที่อักกะซี่ประสบความสำเร็จทั้งชื่อเสียงและเงินทองทำให้เขามีโอกาสได้เดินทางไปศึกษาหาความรู้ด้านธรรมชาติวิทยาตามสถานที่ต่าง ๆ มากขึ้นโดยสถานที่แรกที่เขาได้เดินทางไปสำรวจ คือ ประเทศบราซิล เพื่อรวบรวมพันธุ์ปลาน้ำจืดจากแม่น้ำในอเมริกาใต้ อักกะซี่ได้นำวามรู้จากประสบการณ์การเดินทางไปบรรยายที่ Cooper Union ในนิวยอร์ค ส่วนตัวอย่างที่เขาเก็บมาได้ ได้นำไปไว้ในพิพิธภัณฑ์ของเขานั่นเอง ต่อมาอักกะซี่ได้เดินทางไปสำรวจน่านน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิก และเมื่อเดินทางกลับเขาก็ได้ทำเหมือนกับทุก ๆ ครั้งที่ผ่านมาคือ นำประสบการณ์และความรู้ต่าง ๆมาบรรยายให้กับสาธารณชนได้รับรู้ส่วนสิ่งที่เขาเก็บมาได้ก็ยังคงนำไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์

จากผลงานชิ้นต่าง ๆ ของเขามากมาย ได้มีเศรษฐีผู้หนึ่งที่นิยมชมชอบในผลงานของเขาได้มอบที่ดินที่ Buzzard's Bay พร้อมกับเงินจำนวนหนึ่งสำหรับสร้างโรงเรียนธรรมชาติวิทยาในฤดูร้อนซึ่งอักกะซี่ก็ยอมรับด้วยดี ดังนั้นในวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1873 อักกะซี่ได้เดินทางโดยเรือไปยัง Buzzard's Bay หลังจากนั้นการก่อสร้างโรงเรียนก็เป็นอันสำเร็จ แต่เป็นที่น่าเสียดาย เพราะในปลายปีเดียวกันนั้น อักกะซี่ก็ต้องล้มป่วยเพราะอากาศที่หนาวเย็นจนเขาไม่สามารถทนได้ และเสียชีวิตในวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 1873 แม้ว่าอักกะซี่จะเสียชีวิตไปแล้ว แต่สิ่งที่เขาทิ้งไว้ให้กับคนรุ่นหลังก็คือ พิพิธภัณฑ์ทางธรรมชาติวิทยาที่อักกะซี่ได้เก็บรวบรวมซากพืชซากสัตว์จากที่ต่าง ๆ ที่มีความน่าสนใจไว้เป็นจำนวนมาก



ที่มา
http://siweb.dss.go.th/Scientist/Scientist/Louis%20Johann%20Rudolph%20Agassiz.html

มาดาม มารี คูรี่ : Madam Marie Curie


มาดาม มารี คูรี่ : Madam Marie Curie

เกิด วันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ.1867 ที่เมืองวอร์ซอร์ (Warsaw) ประเทศโปแลนด์ (Poland)

เสียชีวิต วันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1934 ที่กรุงปารีส (Paris) ประเทศฝรั่งเศษ (France)

ผลงาน
- ค้นพบธาตุเรเดียม
- ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ในปี ค.ศ.1903 จากผลงานการพบธาตุเรเดียม
- ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์อีกครั้งหนึ่ง ในปี ค.ศ.1911 จากผลงานการค้นคว้าหาประโยชน์จากธาตุเรเดียม

โรคมะเร็งเป็นโรคที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ของโรคทั้งหมด ทั้งที่โรคมะเร็งไม่ใช่โรคติดต่อ หรือโรคระบาดร้ายแรงอะไรเลย แต่นั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญ สาเหตุที่ทำให้คนต้องเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ก็เพราะว่า โรคมะเร็งเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ หากปล่อยให้ลุกลามไปถึงระยะสุดท้ายแล้ว แต่ถ้าเป็นระยะแรกก็อาจจะรักษาได้ด้วยการแายรังสีเรเดียม และนักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบธาตุชนิดนี้ก็คือ มารี คูรี่ ไม่เฉพาะโรคมะเร็งเท่านั้นที่เรเดียมรักษาได้ เรเดียมยังสามารถรักษาโรคผิวหนังบางชนิดได้ และเนื้องอกได้อีกด้วย

มารีเกิดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ.1867 ที่กรุงวอร์ซอร์ ประเทศโปแลนด์ ก่อนที่เธอจะสมรสกับปิแอร์ คูรี่เธอชื่อว่ามารียา สโคลดอฟสกา (Marja Sklodowska) บิดาของเธอชื่อว่า วลาดิสลาฟ สโคลดอฟสกา เป็นครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์อยู่ที่โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในกรุงวอร์ซอร์ บิดาของเธอมักพาเธอไปห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนด้วยเสมอ ทำให้เธอมีความสนใจวิชาวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก ต่อมารัสเซียได้เข้ามายึดโปแลนด์ไว้เป็นเมืองขึ้น อีกทั้งกดขี่ข่มเหงชาวโปแลนด์ และมีคำสั่งให้ใช้ภาษารัสเซียเป็นภาษาราชการเพียงภาษาเดียวเท่านั้นเพื่อป้องกันการก่อกบฏ ทำให้ครอบครัวของ
มารีและชาวโปแลนด์ต้องได้รับความลำบากมากทีเดียว

หลังจากจบการศึกษาขั้นต้นแล้ว มารีได้เข้าทำงานเป็นครูสอนหนังสือในโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่ง และรับสอนพิเศษให้กับเด็ก ๆ แถวบ้าน มารีและพี่สาวของเธอบรอนยา ซึ่งเป็นครูในโรงเรียนอนุบาลเช่นเดียวกัน ทั้งสองมีความตั้งใจว่าถ้าเก็บเงินได้มากพอเมื่อใดจะไปเรียนต่อที่ประเทศฝรั่งเศส แต่รายได้เพียงน้อยนิด ทำให้ทั้งสองต้องเก็บเงินอยู่เป็นเวลานานก็ยังไม่พอ ดังนั้นทั้งสองจึงตกลงกันว่าจะนำเงินเก็บมารวมกัน โดยให้บรอนยาไปเรียนต่อแพทย์ก่อน เมื่อบรอนยาเรียนจบ แล้วหางานทำจึงส่งมารีไปเรียนต่อวิทยาศาสตร์บ้าง ดังนั้นบรอนยาจึงเดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศสเพื่อเข้าศึกษาต่อในวิชาแพทย์ ที่มหาวิทยาลัยปารีส
(Paris University) หลังจากเรียนจบบรอนยาได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับมารี ในปี ค.ศ.1891 มารีได้เดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศส เพื่อศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยปารีส มารีต้องใช้ความอดทนและพยายามอย่างมากในการอยู่ที่ปารีสเพราะเงินที่บรอนยาส่งมาให้ใช้จ่ายน้อยมาก เพียงพอต่อค่าห้องพักและค่าอาหารเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนเสื้อผ้ามารีไม่มีเงินเหลือพอที่หาซื้อมาใส่ให้ร่างกายอบอุ่นได้ ทำให้เธอเจ็บป่วยอยู่บ่อยครั้ง แต่ถึงอย่างนั้นมารีก็ยังใช้เวลาส่วนใหญ่กับการอ่านหนังสือ และด้วยเหตุนี้ทำให้เธอได้มีโอกาสได้พบกับปิแอร์ คูรี่ ซึ่งเป็นผู้ควบคุมห้องทดลองและอาจารย์สอนอยู่ในมหาวิทยาลัยปารีสด้วยความที่ทั้งสองมีชีวิตที่คล้าย ๆ กัน และมีความรักในวิชาวิทยาศาสตร์เช่นเดียวกัน ปิแอร์และมารีตกลงใจแต่งงานกันในปี ค.ศ.1895 และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข จนกระทั่งปิแอร์เสียชีวิตในวันที่ 19 เมษายน ค.ศ.1906 จากอุบัติเหตุรถชน

ในระหว่างนั้นมีนักวิทยาศาสตร์หลายท่านทำการทดลองและค้นพบรังสีหลายชนิด เช่น ในปี ค.ศ.1879 วิเลี่ยม ครุกส์ (William Crooks) พบรังสีคาโทด (Cathode Ray) ในปี ค.ศ.1895 วิลเฮล์ม คอนราด เรินต์เกน (Wilheim Konrad Roentgen) ค้นพบรังสีเอกซ์ (X- ray) และอังตวน อังรี เบคเคอเรล (Anton Henri Becquere) ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของปิแอร์ และมาได้ค้นพบกัมมันตภาพรังสีจากแร่ยูเรเนียม จากการค้นพบของนักวิทยาศาสตร์หลายท่านทำให้มารีมีความคิดที่จะทดลองหากัมมันตภาพรังสีจากแร่ชนิดอื่นบ้าง การทดสอบหารังสียูเรเนียมทำได้โดยการนำธาตุมาบดให้ละเอียด แล้วนำมาโรยใส่แผ่นฟิล์มถ่ายรูป แต่ต้องทำให้ห้องมืด เพื่อไม่ให้แสงโดนฟิล์ม จากนั้นจึงนำไปล้างถ้าปรากฏจุดสีดำบนแผ่นฟิล์มแสดงว่าธาตุชนิดนั้นสามารถแผ่รังสีได้ นอกจากนี้ยังสามารถทดสอบได้จากเครื่องแสดงกำลังประจุไฟฟ้า (Electroscope)
มารีได้ร่วมมือกับสามีของเธอคือ ปิแอร์ คูรี่ ทำการค้นหารังสียูเรเนียมจากธาตุชนิดอื่น มารีได้นำธาตุเกือบทุกชนิดมาทำการทดสอบหารังสียูเรเนียม ทั้งธาตุที่มีสารประกอบยูเรเนียมผสมอยู่ และธาตุที่ไม่มียูเรเนียมผสมอยู่ จากการทดสอบทั้งสองพบว่าธาตุที่เป็นสารประกอบยูเรเนียมสามารถแผ่รังสียูเรเนียมได้ แต่ก็ให้กำลังน้อยมากอีกทั้งการสกัดยูเรเนียมออกมาก็ทำได้ยาก แต่มารีก็ยังไม่ละความพยายามเธอยังค้นหาและแยกธาตุชนิดต่าง ๆ อีกมากมาย มารีใช้เวลานานหลายปีในการทดสอบแร่ และในที่สุดเธอก็พบว่าในแร่พิทซ์เบลนด์ (Pitchblende) ซึ่งเป็นออกไซด์ชนิดหนึ่งของแร่ยูเรเนียม และสามารถแผ่รังสีได้มากกว่ายูเรเนียมหลายเท่า แต่การที่แร่พิทซ์เบลนด์สามารถแผ่รังสีได้ น่าจะมีธาตุชนิดอื่นผสมอยู่ มารีตั้งชื่อธาตุชนิดนี้ว่า เรเดียม (Radium)

มารีได้นำผลงานการค้นพบธาตุเรเดียมมาทำวิทยานิพนธ์สำหรับรับปริญญาเอก เมื่อคณะกรรมการพิจารณารายงานของเธอ พร้อมกับซักถามเกี่ยวกับรายงานอย่างละเอียด คณะกรรมการได้ลงมติให้รายงานของเธอผ่านการพิจารณา ทำให้เธอได้รับปริญญาเอกจากผลงานชิ้นนี้เองปิแอร์ และมารีได้ทำการค้นคว้าเกี่ยวกับเรเดียมต่อไปเพื่อแยกธาตุเรเดียมออกจากแร่พิทซ์เบลนด์ให้ได้แต่ทั้งสองก็ต้องพบกับอุปสรรคมากมาย ตั้งแต่ห้องทดลองที่คับแคบ อีกทั้งเครื่องมือในการทดลองก็เก่า และล้าสมัย รวมถึงในขณะนั้น มารีได้ให้กำเนิดบุตรสาวคนแรก ทำให้ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด และเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายอีกด้วย แต่ทั้งสองก็ยังคงพยายามแยกเรเดียมให้บริสุทธิ์ ซึ่งก็ยังมีโชคดีอยู่บ้างที่ทางมหาวิทยาลัยปารีสได้อนุญาตให้ทั้งสองใช้ห้องหนึ่งที่อยู่ใกล้ ๆ กับห้องทดลองเป็นสถานที่แยกเรเดียมได้

ดังนั้นในปี ค.ศ.1898 ทั้งสองจึงเริ่มทำการค้นคว้าหาวิธีแยกเรเดียมอย่างจริงจัง โดยมารีได้สั่งซื้อเรเดียมจากออสเตรีย จำนวน 1 ตัน เพื่อใช้สำหรับการทดลอง ทั้งสองพยายามแรกแร่เรเดียมด้วยวิธีการต่าง ๆ หลายวิธี เช่น ใช้สารเคมี บดให้ละเอียดแล้วนำไปละลายน้ำ แยกด้วยไฟฟ้าและใช้เครื่องแสดงกำลังประจุไฟฟ้าบางชนิด เป็นต้น ในที่สุดทั้งสองก็พบวิธีการแยกเรเดียมบริสุทธิ์ ได้สำเร็จในปี ค.ศ.1902 และเรียกเรเดียมบริสุทธิ์นี้ว่า "เรเดียมคลอไรด์ (Radium chloride)" เรเดียมบริสุทธิ์นี้ สามารถแผ่รังสีได้มากกว่ายูเรเนียมถึง 2,000,000 กว่าเท่า ในขณะที่แร่ พิทช์เบลนด์แผ่รังสีได้มากกว่ายูเรเดียมเพียง 4 เท่าเท่านั้น อีกทั้งเรเดียมบริสุทธิ์ยังมีสมบัติสำคัญอีกหลายประการ ได้แก่ สามารถให้แสงสว่าง และความร้อนได้ นอกจากนี้เมื่อเรเดียมแผ่รังสีไปถูกวัตถุอื่น วัตถุนั้นจะเปลี่ยนสภาพเป็นธาตุกัมมันตภาพรังสี และสามารถแผ่รังสีได้เช่นเดียวกันกับเรเดียม

ต่อมาในระหว่างที่ปิแอร์ทำการทดลองเกี่ยวกับธาตุเรเดียมอยู่นี้ บังเอิญรังสีโดนผิวหนังของปิแอร์ ทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนบนผิวหนังบริเวณนั้นอีกทั้งยังมีรอยแดงเกิดขึ้น แม้ปิแอร์จะตกใจเมื่อเห็นเช่นนั้นแต่ด้วยความอยากรู้ เขาจึงทำการค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับเรเดียมที่มีผลกระทบต่อผิวหนัง จากการค้นคว้าทดลองปิแอร์สรุปได้ว่าเรเดียมสามารถรักษาโรคผิวหนังและโรคมะเร็งได้ ทั้งสองได้นำผลงานชิ้นนี้ออกเผยแพร่ให้กับสาธารณชนได้รับรู้ และจากผลงานชิ้นนี้ทั้งสองได้รับมอบรางวัลจากสมาคมวิทยาศาสตร์หลายแห่ง ได้แก่ เหรียญทองเดวี่ จากราชสมาคมแห่งกรุงลอนดอน และ ค.ศ.1903 ทั้งสองได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ รวมกับเบคเคอเรลผู้ค้นพบรังสีจากธาตุยูเรเนียม นอกจากนี้ทั้งสองยังได้รับเงินสนับสนุนจากสภาวิทยาศาสตร์แห่งฝรั่งเศส ในการจัดซื้อแร่พิทช์เบลนด์ ซึ่งทั้งสองเหมาะสมที่จะได้รับรางวัลเหล่านี้เป็นที่สุด เพราะแม้ว่าการแยกแร่เรเดียมออกจากธาตุพิทช์เบลนด์จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก และใช้เวลาในการค้นหานานถึง 4 ปี ก็ตาม แต่ทั้งสองก็ไม่ได้นำผลงานชิ้นนี้ไปจดทะเบียนสิทธิบัตร อีกทั้งยังเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับรู้อย่างละเอียดทุกขั้นตอน ในปี ค.ศ.1906 ปิแอร์ได้ประสบอุบัติเหตุรถชนทำให้เสียชีวิตทันที นำความเศร้าโศกเสียใจมาสู่มารีเป็นอันมาก แต่เธอก็ไม่ได้ละทิ้งการทดลองวิทยาศาสตร์

ต่อมามหาวิทยาลัยปารีสได้อนุมัติเงินก้อนหนึ่งให้กับมารี ในการจัดสร้างสถาบันเรเดียม พร้อมกับอุปกรณ์อันทันสมัย เพื่อทำการทดลองค้นคว้าและแยกธาตุเรเดียม สำหรับประโยชน์ทางการแพทย์ต่อไป จากการค้นคว้าเกี่ยวกับธาตุเรเดียมอย่างจริงจังในปี ค.ศ.1911 มารีได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์อีกครั้งหนึ่งจากผลงานการค้นคว้าหาประโยชน์จากเรเดียมเพิ่มเติม มารีได้ออกแบบสถาบันแห่งนี้ด้วยตัวของเธอเอง สถาบันแห่งนี้สร้างเสร็จในปี ค.ศ.1914 ถึงแม้ว่าจะมีห้องทดลองและอุปกรณ์ที่ทันสมัยแล้ว แต่ก็มีเหตุที่ทำให้การทำงานต้องหยุดชะงัก เพราะได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น ทำให้ผู้ช่วยและคนงานที่ทำงานในสถาบัน
เรเดียม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายต้องถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร เมื่อเป็นเช่นนั้นมารีจึงสมัครเข้าร่วมกับอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือทหารที่บาดเจ็บ อีกทั้งยังนำความรู้ไปใช้ในงานครั้งนี้ด้วย เธอจัดตั้งแผนกเอกซเรย์เคลื่อนที่ขึ้น เพื่อตระเวนรักษาทหารที่บาดเจ็บตามหน่วยต่าง ๆ มารีได้รักษาทหารที่บาดเจ็บด้วยรังสีเอกซ์มากกว่า 100,000 คน

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สงบลง มารีได้กลับมาทำงานอีกครั้งหนึ่ง และผลจากการทดลองค้นคว้าเรเดียมทำให้เธอ ได้รับผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสีของเรเดียม ทำให้ไขกระดูกเธอถูกทำลาย และเสียชีวิตในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1934




ที่มา
http://siweb.dss.go.th/Scientist/Scientist/Madam%20Marie%20Curie.html