โจฮันเนส เคพเลอร์ : Johannes Kepler
เกิด
วันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1571 ที่เมืองวีล (Weil) ประเทศเยอรมนี (Germany)
เสียชีวิต
วันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1630 ที่เมืองแรทอิสบอน (Ratisbon) ประเทศเยอรมนี (Germany)
ผลงาน
- ค้นพบการโคจรของดวงดาว (Planetary Motion)
เคพเลอร์เป็นนักดาราศาสตร์ที่มีผลงานดีเด่นท่านหนึ่ง เขาเป็นนักดาราศาสตร์ที่พบว่าการโคจรของดาวเคราะห์รอบดวง
อาทิตย์ไม่ได้เป็นวงกลม ตามที่นิโคลัส โคเปอร์นิคัส เข้าใจ แต่เขาพบว่าการโคจรของดาวเคราะห์รอบดวงอาทิตย์เป็นไปในลักษณะวงรี ซึ่งเป็นผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขามากที่สุด และสร้างประโยชน์อย่างมหาศาลให้กับวงการดาราศาสตร์ในยุคนั้น และส่งผลต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้
เคพเลอร์เกิดเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1571 ที่เมืองวีล ประเทศเยอรมนี ครอบครัวของเคพเลอร์ค่อนข้างยากจน บิดาของเขาเป็นทหารและมีนิสัยชอบดื่มสุรา ทำให้เกิดทะเลาะวิวาทกับมารดาของเขาเสมอ และไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่เคพเลอร์ ทำให้เขาล้มป่วยด้วยไข้ทรพิษ แม้ว่าเขาจะรอดชีวิตมาได้แต่ต้องพิการแขนข้างหนึ่ง และสายตาก็ไม่ค่อยดีเท่าไร ถึงแม้ว่าฐานะของครอบครัวจะยากจน แต่ด้วยความที่เคพเลอร์เป็นคนขวนขวายที่จะศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ เขาได้สมัครเข้าทำงานเป็นเด็กรับใช้ของนักบวชเพื่อแลกกับการเข้าเรียนในโรงเรียนภายในโบสถ์แห่งนั้น เคพเลอร์เป็นเด็กที่มีความขยันขันแข็ง เขาใช้เวลาส่วนใหญ่กับการอ่านหนังสือ และหาความรู้เพิ่มเติมทำให้เขาสามารถสอบไล่ได้ที่ 1 เป็นประจำทุกปี อีกทั้งเขายังได้รับทุนการศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยทูบินเกน (Tubingen University) เคพเลอร์ได้เข้าศึกษาในวิชาดาราศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ตามคำแนะนำของศาสตราจารย์มิคาเอล มัสท์ลิน (Michael Mastlin) นักดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์ ซึ่งเคพเลอร์ก็สามารถเรียนได้เป็นอย่างดี เคพเลอร์จบการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยทูบินเกนในปี ค.ศ. 1593
หลังจากจบการศึกษาเขาได้เข้าทำงานในตำแหน่งศาสตราจารย์ สอนวิชาคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ ประจำมหาวิทยาลัยกราซ (Graz University) ที่ประเทศออสเตรีย (Austria) ในระหว่างนี้เขาได้ทำการทดลองเกี่ยวกับดาราศาสตร์หลายเรื่อง ได้แก่ ลักษณะการโคจรของดาวเคราะห์รอบดวงอาทิตย์ สาเหตุของการโคจร ระยะเวลาการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์แต่ละดวงว่าทำไมถึงแตกต่างกัน และทำไมถึงมีดาวเคราะห์ 6 ดวง อีกทั้งสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการโคจรของดาวเคราะห์รอบดวงอาทิตย์ ซึ่งในขณะนั้น ยังไม่มีนักดาราศาสตร์ผู้ใดสรุปเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ได้เลย เพราะพวกเขาก็ไม่พบคำตอบ เคพเลอร์ทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยกราซได้เพียง 7 ปี เท่านั้น เขาก็ลาออก
เนื่องจากได้รับการติดต่อจากทิโค บราห์ (Tycho Brahe) นักดาราศาสตร์ชาวเดนมาร์ก ได้เชิญเคพเลอร์ไปสนทนา
เกี่ยวกับเรื่องดาราศาสตร์ ซึ่งเคพเลอร์เห็นว่าเป็นโอกาสที่ดี อีกทั้งหอดูดาวเบนาทคี (Benatky) มีอุปกรณ์ที่ทันสมัยมากเหมาะ สำหรับการค้นคว้าทางดาราศาสตร์ แต่เมื่อเคพเลอร์เดินทางไปถึงกรุงปราค เขาได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้ารูดอล์ฟที่ 2 (King Rudolph II) ให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยของทิโค บราห์ นักดาราศาสตร์ชาวเดนมาร์ก (ค.ศ. 1546 - 1601) ที่หอดูดาวเบนาทคีที่กรุงปราค หลังจากนั้นอีก 1 ปี บราห์ก็เสียชีวิต พระเจ้ารูดอล์ฟที่ 2 ให้ เคพเลอร์ ดำรงตำแหน่งและปฏิบัติงานต่อจากที่บาร์ห์ทำไว้ งานชิ้นสำคัญที่บารห์ทิ้งไว้ และยังไม่สำเร็จ คือ รูดอล์ฟที่ 2 ผู้ให้การสนับสนุน บารห์ได้ทำบันทึกบอกตำแหน่งของดวงดาวต่าง ๆ ที่ไม่เคลื่อนที่ไว้ถึง 777 ดวง ต่อมาเคพเลอร์ได้ติดตาม และเฝ้าดูดวงดาวเหล่านี้ และได้พบดวงดาวเพิ่มอีก 228 ดวง รวมเป็น 1,005 ดวง บัญชีตารางดาวรูดอล์ฟเฟียนเป็นบัญชีตารางดาวที่สมบูรณ์แบบและถูกต้องมากที่สุด ซึ่งเคพเลอร์ใช้เวลาในการในการค้นคว้านานถึง 27 ปี บัญชีตารางดาวรูดอล์ฟเฟียนมีประโยชน์อย่างมากสำหรับนักเดินเรือ เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีอุปกรณ์ ที่ช่วยในการเดินเรือที่ทันสมัยอย่างเช่นในปัจจุบัน ดังนั้นจึงต้องสังเกตการณ์จากดวงดาวบนท้องฟ้าเป็นสำคัญ
แต่ในระหว่างที่เคพเลอร์ทำบันทึกตารางดาวอยู่นี้ เขาได้ศึกษาทฤษฎีดาราศาสตร์หลายเรื่อง ได้แก่ การโคจรของดาวเคราะห์ ซึ่งตามทฤษฎีของนิโคลัส โคเปอร์นิคัส กล่าวว่า "เทหวัตถุบนฟากฟ้าใด ๆ โคจรในลักษณะวงกลมเสมอ" จากการเฝ้าติดตามดูดวงดาว บนฟากฟ้าเป็นเวลานานประกอบกับอุปกรณ์อันทันสมัย เคพเลอร์พบว่าดาวเคราะห์ไม่ได้โคจรเป็นวงกลมแต่โคจรเป็นวงรี อีกทั้งระยะเวลาในการหมุนรอบตัวเองของดาวเคราะห์ยังมีความเร็วต่างกันอีกด้วย คือ ในขณะที่ดาวเคราะห์โคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์จะหมุนรอบตัวเองช้าลง ทำให้การเคลื่อนที่ช้าลงตามไปด้วย แต่ถ้ายิ่งอยู่ห่างดวงอาทิตย์มากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งหมุนเร็วมากขึ้น ปรากฏการณ์เช่นนี้สามารถสังเกตได้จากฤดูกาลบนโลก คือ ในฤดูหนาวมีระยะเวลากลางวันสั้นกว่าในฤดูร้อนจากผลงานการค้นพบครั้งนี้ในปี ค.ศ. 1609 เคพเลอร์ได้ตีพิมพ์ผลงานออกมาเล่มหนึ่งชื่อว่า Astronomia Nova หรือการค้นพบครั้งใหม่ทางดาราศาสตร์ ภายในหนังสือเล่มนี้เคพเลอร์ได้อธิบายเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์คือ การโคจรเป็นวงรีของ ดาวเคราะห์รอบดวงอาทิตย์ (Law of Elliptic Orbits)
ในปี ค.ศ. 1619 เคพเลอร์ได้ตีพิมพ์หนังสือออกมาเล่มหนึ่งชื่อว่า Harmonices Mundi (Harmonics of the World)หรือ ความกลมกลืนของจักรวาล ภายในหนังสือเล่มนี้มีรายละเอียดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างระยะทางและระยะเวลาในการ หมุนรอบตัวเองของดาวเคราะห์ เคพเลอร์ได้นำมาตั้งเป็นกฎชื่อว่า Law of Planetary Motion
เคพเลอร์ทำงานอยู่ที่หอดูดาวเบนาทคีจนกระทั่งพระเจ้ารูดอล์ฟที่ 2 สิ้นพระชนม์ ในปี ค.ศ. 1612 เคพเลอร์จึงลาออก แต่ก็ยังศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับดาราศาสตร์จนกระทั่งเสียชีวิตในวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1630
ที่มา
http://siweb.dss.go.th/Scientist/scientist/Johannes%20Kepler.html